‘ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา’ โดย ‘การทูตนำการพัฒนา’ | World Wide View

‘ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา’ โดย ‘การทูตนำการพัฒนา’ | World Wide View

การเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติของไทย ตอกย้ำถึงความสำคัญของไทยในการส่งเสริม “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา“ โดยใช้ ”การทูตนำการพัฒนา" ซึ่งกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทูตนำการพัฒนาเช่นกัน

ล่าสุด ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council – HRC) วาระปี ค.ศ. 2025 - 2027 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่นานาประเทศมีต่อไทย นอกจากนี้ ยังตอกย้ำถึงความสำคัญของบทบาท “bridge builder” ของไทยในการส่งเสริม “ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา“ (Development Cooperation) โดยใช้ "การทูตนำการพัฒนา" ไปสู่ประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ร่วมมือกับไทย โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม และปิดช่องว่างด้านการพัฒนา (Development Gaps)

วันนี้ผู้เขียนจึงขออนุญาตหยิบยกโครงการสำคัญๆ ของกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (TICA) กระทรวงการต่างประเทศ โดยเฉพาะสาขาสาธารณสุขที่ผู้เขียนเคยรับผิดชอบงานในช่วงที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ TICA ซึ่งมุ่งส่งเสริมโอกาสในการเข้าถึงการรักษาและยาที่มีประสิทธิภาพหรับประชาชนทุกคน โดยไม่มีการแบ่งแยกชนชาติ 

‘ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา’ โดย ‘การทูตนำการพัฒนา’ | World Wide View

เป็นที่ตระหนักดีว่าโรคติดต่อต่างๆ อาทิ โควิด-19 ไข้หวัดนก TB เป็นต้น สามารถเดินทางข้ามพรมแดน โดยไม่ต้องใช้ Passport หรือ Visa ใดๆ เหมือนมนุษย์อย่างเรา อีกทั้ง ความท้าทายด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาโดยลำพังได้ TICA จึงร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านสาธารณสุขในหลายประเทศทั่วโลก 

โดยมีตัวอย่างโครงการที่สำคัญ อาทิ โครงการสาธารณสุขชายแดน ไทย - กัมพูชา - สปป.ลาว - เมียนมา สาขาสาธารณสุข เพื่อเตรียมรับมือกับโรคติดต่อและโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นตามแนวชายแดนไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยเน้นการวางระบบส่งต่อผู้ป่วยระหว่างชายแดน การพัฒนาระบบโรงพยาบาลคู่มิตร การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ การสนับสนุนอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงการก่อสร้างและต่อเติมโรงพยาบาล โดยเฉพาะแผนกฉุกเฉิน โดยมีพัฒนาการที่สำคัญ อาทิ (1) การต่อเติมและปรับปรุงห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน ของ รพ. ปอยเปต จ. บันเตียเมียนเจย กัมพูชา พร้อมทั้งส่งมอบรถพยาบาล (2) การพัฒนาแผนกฉุกเฉินโรงพยาบาลเกาะกง กัมพูชา (3) โครงการพัฒนาโรงพยาบาล แขวงบ่อแก้ว (4) โรงพยาบาลเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก ใน สปป.ลาว เป็นต้น 

‘ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา’ โดย ‘การทูตนำการพัฒนา’ | World Wide View

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินโครงการสาธารณสุขในประเทศอื่นๆ อาทิ โครงการพัฒนาศูนย์หู จมูก และคอ (Ear Nose Throat - ENT Center) ที่ภูฏาน และโครงการส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Uiversal Health Coverage - UHC) ให้แก่บุคลากรชาวเคนยา รวมถึงโครงการพัฒนาศูนย์ผลิตขาเทียมในเซเนกัลและบุรุนดีอีกด้วย 

การดำเนินข้างต้นถือเป็นการใช้การทูตเพื่อการพัฒนาในการดำเนินงานเชิงรุกเพื่อป้องกันภัยคุกคามสุขภาพโลกเพื่อให้ประชาชนในภูมิภาคสามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียมกัน ลดช่องว่างของการพัฒนาด้านการแพทย์ และส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้ การดำเนินความร่วมมือข้างต้น โดยเฉพาะสาธารณสุขชายแดนยังเป็นการส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพสำหรับไทยอีกด้วย ซึ่งเปรียบเสมือน “ช่วยเขา ช่วยเรา” นั้นเอง 

ผู้เขียนเชื่อว่า ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างยิ่งในศรวรรษที่ 21 ในการลดช่องว่างการพัฒนา รวมถึงเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษา สาธารณสุข โอกาสทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมบทบาทไทยในมิติการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนผ่านการผลักดันการทูตเพื่อการพัฒนาที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการดำเนินงานเพื่อพัฒนาชีวิตประชาชนภายในประเทศเท่านั้น แต่ขยายโอกาสเหล่านี้ไปยังประเทศอื่นๆ อีกด้วย