คำถามถึง 'บอร์ดประกันสังคม' ยุคโควิด?
ถามดังๆ "บอร์ดประกันสังคม" ยุคโควิด ปมไม่คืนเงิน 75% ของเงินเดือน ผู้ประกันตนว่างงาน?
หลังจากสื่อหลายสำนัก รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้มี การประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ที่ไม่เอาด้วย ทั้งเรื่องปรับเพิ่มวงเงินให้ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจาก 62% ของเงินเดือน และ 75%
เกิดคำถามด้วยว่า คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) มีใครบ้าง ซึ่ง "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" ตรวจสอบ (9 พ.ค.) ในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th มีรายชื่อ ดังนี้
ประธานกรรมการประกันสังคม
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน
ผู้แทนฝ่ายรัฐบาล
นายสมหมาย ลักขณานุรักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
นางภัทรพร วรทรัพย์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง
นายณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
กรรมการ
นายสมพงศ์ นครศรี
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์
นายสุวิทย์ ศรีเพียร
นายทวี ดียิ่ง
นายธีระวิทย์ วงศ์เพชร
นางสาวอรุณี ศรีโต
กรรมการและเลขานุการ
นายทศพล กฤติวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม
น่าสนใจว่า หลังการประชุมมีความเห็นจาก "กรรมการ" จากฝั่งแรงงานอุตสาหกรรมเอกชน มองว่า ที่ประชุมได้ยืนยันมติบอร์ดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม ในการพิจารณาสิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเรื่องจากโควิด-19 ที่จะให้สิทธิประโยชน์ทดแทน 50 % ระยะเวลา 60 วัน สำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบ แต่ในเรื่องนี้ กลับมีมติคณะรัฐมนตรี ให้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 62% จึงเป็นเรื่องที่ไม่เห็นด้วย และไม่ต้องพูดถึงการที่จะเพิ่มเป็น 75% เนื่องจากจะเกิดผลกระทบต่อกองทุนประกันการว่างงาน
นอกจากนี้ มติในครั้งนั้นยังเสนอให้มีการลดการเก็บเงินสมทบทั้งนายจ้างลูกจ้าง เพียง 1 % โดยจะต้องจ่ายเงินสมทบ 4% และเรื่องนี้ก็มีการดำเนินการที่แตกต่างจากมติของบอร์ด
"กรรมการ" ฝ่ายลูกจ้าง อีกรายหนึ่ง อธิบายว่าที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ที่ไม่เอาด้วย ทั้งเรื่องปรับเพิ่มวงเงินให้ผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจาก 62% ของเงินเดือน และ 75% เพราะเงินกองทุนประกันการว่างงานกว่า 1 แสนล้านบาท เป็นเงินที่มีเจ้าของ หากใช้จนเงินหมดแล้ว ผู้ประกันตนที่ตกงานรุ่นต่อๆ ไปจะทำอย่างไร รัฐบาลจะจ่ายให้หรือไม่ โดยอ้างในที่ประชุมผู้แทนส่วนราชการ เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ ต่างเห็นด้วย
"ถ้ารัฐมนตรียังดึงดันใช้อำนาจ เชื่อว่าเหล่าผู้นำแรงงานเขาไม่ยอมแน่และต้องมีการออกมาเคลื่อนไหว ส่วนการพยายามผลักดันให้ผู้ประกันตนได้รับความช่วยเหลือ 75% จากมาตรการของรัฐบาลนั้น แท้จริงแล้วกลับยิ่งทำให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือน้อยกว่าที่ควร เพราะเพดานของเงินเดือนที่จ่ายให้กับประกันสังคมอยู่แค่ 15,000 บาท ไม่ว่าลูกจ้างคนนั้นจะมีเงินเดือนกี่หมื่นหรือกี่แสนบาทก็ตาม แต่หากใช้มาตรการของกฎหมายคุ้มครองแรงงานในมาตรา 75 ที่ระบุให้นายจ้างจ่ายเงินให้ 75% ของเงินเดือนในช่วงที่ปิดงานชั่วคราว ก็คิดจากอัตราเงินเดือนที่แท้จริง "
ทว่า เกิดคำถามว่า "ผู้ประกันตนว่างงาน" จากเหตุสุดวิสัยกรณีโควิด-19 ที่ทราบกันดีว่ามีความเดือดร้อน และเงินที่ขอคืนถือเป็นเงินที่หักจากรายได้ แต่เวลาจะขอคืนยิ่งยากและล่าช้ากว่า มาตรการเงินเยียวยา 5,000 บาท "เราไม่ทิ้งกัน"
ก่อนหน้านี้ ผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม นางพิศมัย นิธิไพบูลย์ ผู้ตรวจราชการกรม สำนักงานประกันสังคม ในฐานะโฆษกสำนักงานประกันสังคม ชี้แจง ต่อความกังวลของผู้ประกันตนและสื่อมวลชนในประเด็นเงินกองทุนประกันสังคมทั้งหมดกว่า 2 ล้านล้านบาท หายไปไหนกองทุนมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายสิทธิประโยชน์กรณี "ว่างงาน" และกรณีอื่นๆ หรือไม่นั้น ขอเรียนว่า กองทุนว่างงาน ปัจจุบันมีเงินกองทุนว่างงานอยู่จำนวนกว่า 160,000 ล้านบาท ซึ่งมีเพียงพอต่อการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้แก่ผู้ประกันตน
สำนักงานประกันสังคมได้ประมาณการเบื้องต้น พบว่า จากจำนวนผู้มาขอรับสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน 1.2 ล้านคน คาดว่าจะคิดเป็นเงินทั้งหมดจำนวน 20,000 - 30,000 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานฯ มีเงินกองทุนเพียงพอ ที่จะนำไปจ่ายสิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด พร้อมทั้งได้เตรียมสำรองสภาพคล่องไว้รอการจ่ายเงินแล้ว ขอให้ผู้ประกันตนวางใจว่ากองทุนมีเงินกองทุนเพียงพอ นอกจากนี้ เงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ยังอยู่ครบถ้วน มิได้หายไปไหน
"เงินลงทุนกองทุนประกันสังคม" ณ 31 มีนาคม 2563 จำนวน 2,032,841 ล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน หุ้นกู้บริษัทเอกชนที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ และหน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศ จำนวน 1,671,176 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 82 ของเงินกองทุน
และลงทุนในหลักทรัพย์ อาทิ หุ้นสามัญ หน่วยลงทุนในหุ้นต่างประเทศ หน่วยลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ จำนวน 361,665 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของเงินกองทุน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมที่กำหนดให้ต้องมีสัดส่วนหลักทรัพย์มั่นคงอย่างน้อย ร้อยละ 60 ซึ่งการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลจะมีปริมาณที่สูงกว่าหลักทรัพย์ประเภทอื่น
สรุปจาก "โฆษก สปส." พูดก็คือ เมื่อ "เงินกองทุนว่างงาน" มีอยู่ 160,000 ล้านบาท กรณีว่างงาน 1.2 ล้านคน จ่ายคืนคนละ 62 % คาดว่าจะคิดเป็นเงินจำนวน 20,000 - 30,000 ล้านบาท ยังเหลือมากกว่าแสนล้าน
รวมถึงหาก "บอร์ด สปส." บริหารการลงทุน ของเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม ที่มี 2,032,841 ล้านบาท ให้มีประสิทธิภาพ คงงอกเงยมากกว่านี้มิใช่หรือ
อย่าลืมว่า ข้อสังเกตจาก "จิรายุ ห่วงทรัพย์" ประธานคณะกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจองค์การมหาชนและกองทุน ของสภาผู้แทนราษฎร มีการนำเงินไปลงทุนในรูปแบบต่างๆจำนวนมากอาทิเอาเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลมากถึง 1.5 ล้านล้านบาท มีลักษณะคล้ายอัฐยายซื้อขนมยาย ถึงร้อยละ 68 ที่เหลือนำไปซื้อหุ้นกู้เอกชนประมาณ 1 แสนล้านบาท นำไปลงทุนในตราสารในประเทศกว่า 2 แสนล้านบาท ไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และตลาดทองคำประมาณ 8 หมื่นล้านบาท
ส่วนที่เหลือสำนักงานประกันสังคมนำไปฝากธนาคารและลงทุนในตราสารทั้งในและต่างประเทศรวมทั้งพันธบัตรของรัฐวิสาหกิจที่มีความเสี่ยงสูง ประมาณแสนกว่าล้านบาท
"ผู้ประกันตนว่างงานมีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งหากให้ความช่วยเหลือเพียงคนละ 7,000 บาท ก็จะใช้เงินเพียง 8,000 กว่าล้านบาท รัฐบาลจ่าย 3 เดือนก็ใช้เงินประมาณ 24,000 ล้านบาท แค่ 2% ของเงินกองทุนทั้งหมด.."
ขณะที่ ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อยากเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจาก 62% เป็น 75% พร้อมทั้งลดการเก็บเงินสมทบจากนายจ้างจาก 4% เหลือ 1%
นี่เพื่อเป็นการช่วย "เพื่อนแรงงาน" ที่กำลังเดือดร้อนยากลำบาก ซึ่ง "บอร์ด สปส." นั่งอยู่บนหอคอยงาช้างเคยพิจพิจารณาหรือไม่
เสียงสะท้อนของ "ผู้ประกันตนทั้งที่ทำงานและว่างงาน" คือการทำงานของ "บอร์ด สปส." ว่ากำกับดูแล "กองทุน" ได้ดีแค่ไหน ช่วยผู้ประกันตนอย่างไรในยุควิกฤติโควิด ซึ่งอย่าปล่อยเกิดเหตุการณ์สลดจนกลายเป็นตราบาปเสียก่อน!!