เป็นเวลากว่า 6 เดือน ที่สถานการณ์โควิดได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาค และต่อธุรกิจในระดับจุลภาค
โดยยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงในเร็ววัน จนกว่าจะมีการพัฒนาวัคซีนที่สามารถระงับการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้
หลายธุรกิจที่อดทนกัดฟันรอว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จากการที่สามารถควบคุมการระบาดในประเทศได้ แต่ในหลายประเทศ พบว่า มีการระบาดรอบใหม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเหตุทำให้การเดินทางระหว่างประเทศ ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ มาตรการกักกัน จึงยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยกลุ่มที่กระทบมากสุด ได้แก่ ธุรกิจการบินและการท่องเที่ยว รวมไปถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โรงแรม ที่พัก นำเที่ยว รถเช่า ของฝาก เป็นต้น
ในเมื่อจุดที่สถานการณ์สิ้นสุดไม่สามารถคาดการณ์ได้ ธุรกิจจำเป็นต้องมีการปรับองคาพยพ เพื่อความอยู่รอด และรักษาธุรกิจให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ โดยสิ่งที่ธุรกิจพึงพิจารณาดำเนินการ ประกอบด้วย
การลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ในช่วงต้นสถานการณ์ ธุรกิจยังมีเงินสดหรือสภาพคล่องในกิจการที่พอจะรับมือได้ ครั้นเวลาผ่านไป ธุรกิจมีการดึงเงินออมหรือเงินเก็บมาใช้ประคับประคองตัว แต่เมื่อรายรับไม่เข้าเพียงพอกับรายจ่ายที่ออก ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง ระดับของมาตรการอย่างอ่อน เช่น การลดค่าใช้จ่ายเดินทาง งบประมาณเลี้ยงรับรอง ค่าทำงานล่วงเวลา ฯลฯ ไปจนถึงอย่างเข้ม เช่น การลดพนักงาน การปิดสาขาบางแห่ง ฯลฯ
การปรับแพลตฟอร์มธุรกิจให้ตอบสนองต่อพฤติกรรมของลูกค้าหรือผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
สถานการณ์โควิดได้สร้างแบบแผนการใช้ชีวิต หรือกิจวัตรประจำวันในรูปแบบใหม่ ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม (Physical Distancing) การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง (Work from Home) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment) พฤติกรรมดังกล่าว เป็นตัวเร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติอย่างขนานใหญ่ ทั้งการทำธุรกรรมออนไลน์ การจัดส่งพัสดุจากหน้าประตูถึงหน้าประตู เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางและการสัมผัส ธุรกิจจำต้องปรับแพลตฟอร์มเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและทรัพยากรภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าใหม่บนฐานดิจิทัล เพราะมีแนวโน้มว่า พฤติกรรมดังกล่าว จะยังคงดำเนินสืบเนื่องต่อไปจนกลายเป็นภาวะปกติใหม่ (New Normal)
การเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้มีความยืดหยุ่นและมีความยั่งยืนในระยะยาว ธุรกิจในหลายสาขาได้ประสบกับภาวะความชะงักงันในสายอุปทาน ทั้งวัตถุดิบที่ขาดแคลน แผนการส่งมอบที่ถูกเลื่อน/ยกเลิก ช่องทางการจัดส่ง/จำหน่ายถูกปิดในช่วงที่เกิดสถานการณ์ เป็นบทเรียนให้ธุรกิจ จำต้องพิจารณาดำเนินการป้องกัน/กระจายความเสี่ยง หรือเสริมสร้างกลไกที่ลดการพึ่งพิงผู้ส่งมอบหลักที่อยู่ในประเทศอื่น (Offshore) มีการย้ายฐานการผลิตกลับมาอยู่ในอาณาเขต หรือใช้ผู้ส่งมอบที่อยู่ใกล้แหล่งดำเนินงานแทน รวมไปถึงการดูแลปกป้องสุขภาพของบุคลากรในองค์กรและในห่วงโซ่ธุรกิจ มิให้ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่ (Pandemic) เช่นในครั้งนี้ ทำให้เรื่องวัฒนธรรมสุขภาพ จะกลายเป็นประเด็นสาระสำคัญเพื่อการพัฒนาสู่ความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาว
ข้อพิจารณาในการ “ลด-ปรับ-เปลี่ยน” ข้างต้น จะช่วยให้ธุรกิจเห็นแนวทางการดำเนินงาน โดยไม่ต้องรอด้วยความหวังในภาวการณ์ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสถานการณ์จะสิ้นสุดลงเมื่อใด