ทำไมต้องใช้ข้อมูล ESG ในการลงทุน
ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนทั่วโลก ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลให้แก่ผู้ลงทุน
ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนทั่วโลก ได้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ให้แก่ผู้ลงทุน สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุน
หนึ่งในรูปแบบการเปิดเผยข้อมูล ESG ซึ่งเป็นที่นิยม ได้แก่ การจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืน (Sustainability Report) ซี่งเป็นการให้ข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน เพื่อสนองความต้องการในปัจจุบันที่ลำพังรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียวไม่สามารถสะท้อนข้อมูลผลประกอบการโดยรวมให้แก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียอื่นได้อย่างครบถ้วน
เหตุที่ข้อมูล ESG มีความสำคัญต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในเวลานี้ ทั้งที่ในอดีตก็ไม่เคยมีคำนี้อยู่ในแวดวงการลงทุนมาก่อน
คำตอบข้อแรกอยู่ที่ ขนาดของสินทรัพย์ที่มีตัวตน (Tangible Asset) และสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน (Intangible Asset) ซึ่งรวมกันเข้าเป็นมูลค่าของกิจการและสะท้อนออกมาเป็นราคาตลาดยุติธรรม (Fair Market Value) นั้น มีสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบัน ขนาดของสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน อันได้แก่ ชื่อเสียง ทรัพย์สินทางปัญญา ธรรมาภิบาล ฯลฯ ได้กลายมาเป็นสินทรัพย์ประเภทหลักที่เป็นตัวกำหนดราคาตลาดยุติธรรมของกิจการ
จากการศึกษาราคาตลาดของหลักทรัพย์ที่เป็นองค์ประกอบของดัชนี S&P 500 ชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีตัวตน เช่น อสังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรอุปกรณ์ ในปี ค.ศ.1975 มีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 83 ส่วนสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน มีสัดส่วนอยู่เพียงร้อยละ 17
ขณะที่ ในปี ค.ศ.2015 สัดส่วนของสินทรัพย์ที่มีตัวตน มีตัวเลขเหลืออยู่ที่ร้อยละ 16 ส่วนสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน มีสัดส่วนพุ่งสูงถึงร้อยละ 84 หรือคิดเป็น 5 เท่าของสินทรัพย์ที่มีตัวตน
จึงเป็นเหตุผลว่า ลำพังการวิเคราะห์บริษัท โดยอ้างอิงสินทรัพย์ที่มีตัวตน ซึ่งมีการบันทึกมูลค่าอยู่ในรายงานทางการเงิน ไม่เพียงพอต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนอีกต่อไป หากไม่นำข้อมูลที่มิใช่ตัวเลขทางการเงิน ที่อ้างอิงสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน ซึ่งก็คือ ข้อมูล ESG ที่ปรากฏในรายงานแห่งความยั่งยืน มาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน
คำตอบข้อที่สอง ของการใช้ข้อมูล ESG ในการตัดสินใจลงทุน คือ การขยายบทบาทการดำเนินงานของกิจการ จากเดิมที่ตอบสนองต่อผู้ถือหุ้น (Shareholder) ในรูปของผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเป็นหลัก มาสู่การคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) อย่างรอบด้าน ทำให้บริษัทต้องมีการวางกลยุทธ์การดำเนินงาน การวัดและการรายงานผลการดำเนินงานต่อผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งก็คือ การเพิ่มเติมการดำเนินงานในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม (E) และสังคม (S) นอกเหนือจากประเด็นด้านธรรมาภิบาล (G) ที่คำนึงถึงเฉพาะผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
สำหรับนักวิเคราะห์ที่ยังมิได้เข้าใจเรื่อง ESG อาจเหมารวมว่า ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ต้องวิเคราะห์นี้ อยู่ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจและการวิเคราะห์อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานแบบเดิมอยู่แล้ว ก็ต้องชี้แจงว่า การวิเคราะห์เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอันเดิม เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบภายนอกที่มีต่อตัวบริษัท (Outside-in) ขณะที่การวิเคราะห์ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมในเรื่อง ESG เป็นการวิเคราะห์การดำเนินงานของบริษัทที่มีผลกระทบสู่ภายนอก (Inside-out) ซึ่งจัดอยู่ในการวิเคราะห์บริษัท เพิ่มเติมจากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณในแบบเดิม
จะเห็นว่า นอกจากรายงานประจำปี ที่ผู้ลงทุนใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน บทบาทของรายงานแห่งความยั่งยืน จะกลายเป็นเอกสารสำคัญที่เป็นแหล่งข้อมูล ESG สำหรับผู้ลงทุน ซึ่งนับวันจะทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในเดือนหน้า (12-13 พ.ย.) สถาบันไทยพัฒน์ จะจัดอบรมการพัฒนากระบวนการจัดทำรายงานแห่งความยั่งยืนตามมาตรฐาน GRI สำหรับบริษัทจดทะเบียน ในหลักสูตร GRI Standards Certified Training Course องค์กรที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.thaipat.org