‘เจเน็ต เยลเลน’ว่าที่ รมว. คลังสหรัฐในยุคไบเดน
บทความนี้ ขอพามารู้จัก เจเน็ต เยลเลน อดีตธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด สตรีคนแรกที่กำลังขึ้นสู่ตำแหน่ง รมว.คลังสหรัฐ ในยุคไบเดน
สำหรับ เจเน็ต เยลเลน อดีตธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ต้องขอบอกว่าเส้นทางบนถนนที่กำลังขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐของเธอ ในรัฐบาลของ โจ ไบเดน เหมือนจะมาจากฟ้าลิขิตอยู่ส่วนหนึ่ง โดยในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ เขาเลือก เจย์ พาวเวล มาแทนเธอก่อนที่จะเข้าสู่วาระที่สองในตำแหน่งประธานเฟดของเธอ แล้วอีกกว่าสองปีต่อมา เธอก็กำลังจะมาเป็น รมว. คลังสหรัฐในยุคไบเดน
โดยส่วนตัว ผมเชียร์ เลอัล แบรนนาร์ด สมาชิกเฟดให้มารับตำแหน่งนี้มากกว่า เนื่องจากผมชอบในความกล้าที่จะพาเฟดไปในจุดใหม่ๆ อย่างสกุลเงินดิจิตัลหรือเศรษฐกิจสีเขียวมากกว่า แต่เยลเลนก็ถือว่ามีดีเกินพอที่จะรับงานนี้ได้แบบสบายๆ
บทความนี้ ขอพามารู้จักเธอให้มากขึ้นกว่านี้กันสักหน่อย
ขอเริ่มจากด้านภูมิหลังก่อน เธอเติบโตจากครอบครัวชนชั้นกลางชาวยิวในย่าน บรูคลิน นิวยอร์ค คุณพ่อเป็นหมอที่เปิดคลีนิกเองในบ้าน ส่วนคุณแม่เป็นคุณครูโรงเรียนประถมศึกษา ที่ได้ลาออกมาเลี้ยงดูเธอและพี่ชาย เธอเป็นเด็กที่มีผลการเรียนดีทุกวิชา ได้เข้าเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยบราวน์ และ ระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเยล ร่วมกับคนดังอีก 2 ท่าน ได้แก่ เจมส์ โทบิน และ โจเซฟ สติกลิทซ์ ทั้งคู่เป็นนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โดยโทบินได้กล่าวชมเยลเลนว่าเข้าใจอำนาจและข้อจำกัดของกลไกตลาดเป็นอย่างดี
ต่อมาเธอได้มาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และทำงานเป็นนักเศรษฐศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัย ทว่าก็มีอันต้องย้ายไปทำงานที่ซาน ฟรานซิสโก หลังจากได้พบรักและแต่งงานกับศาสตราจารย์ที่มาทำงานวิจัยในมหาวิทยาลัยของเธอนามว่า จอร์จ แอคเคลอฟ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล งานวิจัยที่ออกมาอย่างมากมายในช่วงทศวรรษที่ 80 มาจากการทำงานภายใต้สโลแกน ‘แอคเคลอฟคิด เยลเลนทำ’ จนกระทั่งตอนที่เธออายุ 48 ปี ได้รับโทรศัพท์จากทำเนียบขาวให้ไปรับตำแหน่งผู้บริหารในธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจากนั้นเธอก็ทำงานในสายนี้เรื่อยมาจนดำรงตำแหน่งประธานเฟดในที่สุด เมื่อเกือบ 6 ปีก่อน
แม้เธอจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รอบรู้และเข้าใจกลไกการทำงานของเศรษฐกิจเป็นอย่างดี ทว่าคำถามที่หลายคนเคยตั้งข้อสงสัยกับตัวของเยลเลนเมื่อ 6 ปีก่อน คือ เธอจะเข้มแข็งพอสำหรับตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเปล่า เนื่องมาจากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิดของเธอ กล่าวว่าเธอเหมือนจะมีความอบอุ่นและอ่อนโยนให้กับคนที่อยู่ใกล้ชิดเธออยู่เสมอ รวมถึง ตอนที่เธอทำงานในตำแหน่งประธานที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจให้กับอดีตประธานาธิบดี บิล คลินตัน ก็เป็นช่วงที่ไม่ง่ายนักสำหรับตัวเธอเอง ทว่าในเวลาต่อมา เธอก็สามารถพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่า สำหรับตำแหน่งประธานเฟด เธอทำได้ค่อนข้างดีในระดับน้องๆ เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานเฟดอีกท่าน เลยทีเดียว
คราวนี้ หันมาดูความคิดทางด้านเศรษฐกิจของเธอบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยที่มีการลดขนาดการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE Tapering นั้น เธอมีตัวเลขเศรษฐกิจที่ไว้พิจารณาอยู่ 4 ชุด แต่ก่อนไปถึงตรงจุดนั้น เธอกล่าวว่าเวลาที่พิจารณาว่าจะลดขนาด QE หรือไม่นั้น เธอจะดู หนึ่ง ข้อมูลในลักษณะเชิงคุณภาพด้วย มิใช่เชิงปริมาณเท่านั้น สอง ภาพในอนาคตของตลาดแรงงาน มิใช่มองเพียงว่าตัวเลขในปัจจุบันดีขึ้นกว่าในอดีตมากน้อยเท่าไร และ สาม พิจารณาว่าการซื้อหรือขายสินทรัพย์ของเฟดจะก่อให้เกิดประโยชน์ หรือมีค่าใช้จ่ายจากปฏิบัติการดังกล่าว แล้วถ่วงน้ำหนักดูว่าข้างไหนมากกว่ากัน มิใช่พิจารณาเพียงว่าข้อมูลตัวเลขการว่างงานเพียงเท่านั้น คราวนี้หันมาดูข้อมูลเศรษฐกิจทั้ง 4 ตัวที่เยลเลนจะนำมาพิจารณาเป็นพิเศษในการลดหรือเพิ่มขนาดการผ่อนคลายเชิงปริมาณ
ข้อมูลชุดแรก ที่บ่งบอกถึงภาพในอนาคตของตลาดแรงงานเป็นอย่างดี ได้แก่ อัตราการว่างงาน ดังจะเห็นได้จากแนวโน้มของอัตราการว่างงานตั้งแต่ปี 1978 หากอัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.5 หรือมากกว่านั้น เป็นเวลา 2 ไตรมาสติดต่อกัน โอกาสที่ 2 ไตรมาสต่อมาที่อัตราการว่างงานจะลดลงอีก มีโอกาสสูงถึงร้อยละ 75 อย่างไรก็ดี ในช่วง 1-2 ปีล่าสุด แนวโน้มดังกล่าวมักจะไม่เป็นเช่นนั้น อาทิ ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2011 และไตรมาสแรกของปี 2012 อัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.75 ทว่าอัตราการว่างงานก็หยุดลดลงหลังจากนั้นเป็นต้นมา สาเหตุหนึ่ง ก็คืออัตราการว่างงานลดลงเนื่องจากแรงงานได้ออกจากตลาดแรงงาน มิใช่อุปสงค์ของแรงงานได้รับการตอบสนองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อันเป็นที่มาของตัวเลขที่สอง ซึ่งเยลเลนพิจารณาเป็นพิเศษ
ข้อมูลชุดที่สอง ข้อมูลการจ้างงานภายในระบบเศรษฐกิจ เพื่อจะพิจารณาว่ามีการจ้างงานจริงหรือไม่ ทว่าก็มีข้อเสียที่มีการทบทวนตัวเลขของข้อมูลดังกล่าวในเวลาต่อมาอยู่บ่อยๆ จึงมีการให้ความสนใจกับตัวเลขเชิงพลวัตในข้อมูลชุดที่สามและสี่
ชุดที่สามและสี่ ได้แก่ ปริมาณการจ้างงานในเดือนนั้นๆ และ ตัวเลขที่ผู้ใช้แรงงานตัดสินใจลาออกจากที่ทำงานของตนเอง โดยหากตัวเลขการจ้างงานในเดือนหนึ่งๆกระเตื้องขึ้นก็นับเป็นสัญญาณที่ดี ในทางกลับกัน หากตัวเลขที่ผู้ใช้แรงงานตัดสินใจลาออกสูงขึ้น นั่นก็แสดงว่า แรงงานเชื่อมั่นว่าจะสามารถกลับมาสู่ในตลาดแรงงานอีกครั้งได้ไม่ยาก
โดยสรุป คือ เยลเลน ที่กำลังจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐในยุคไบเดน ซึ่งเธอกำลังถือเป็นคนแรกที่เคยดำรงตำแหน่งทั้งประธานเฟดและรมว.คลังสหรัฐ รวมถึงเป็นผู้หญิงท่านแรกที่เป็นประธานเฟด และ กำลังจะเป็นผู้หญิงท่านแรกที่เป็นรมว. คลังสหรัฐ โดยเธอกำลังจะเป็นรมว.คลังแนวที่เน้นตัวเลขการจ้างงานที่หลากหลายค่อนข้างมากท่านหนึ่งที่ผมเคยเห็นมา โดยให้ความสำคัญต่อตัวเลขการจ้างงานมากกว่าสตีเฟน มนูชิน รมว.คลังสหรัฐท่านปัจจุบันแบบที่ทิ้งกันแบบขาดลอยเลยครับ