ประชาธิปไตยทางตรงในกรีกยุคคลาสสิก
ประชาธิปไตยในนครเอเธนส์ยุค 2,500 ปีที่แล้ว เป็นประชาธิปไตยทางตรง พลเมืองทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วมได้ทั้งในทางนิติบัญญัติ การบริหารและตุลาการ
พลเมืองเอเธนส์ระแวงระบบการเลือกตั้งผู้แทนว่า จะทำให้ได้เฉพาะคนจากชนชั้นสูงที่รวย การศึกษาสูง พูดโน้มน้าวใจได้เก่ง จึงจัดระบบที่ให้พลเมือง (เฉพาะเสรีชนชายเชื้อสายชาวเอเธนส์ที่อายุเกิน 20 ปีขึ้นไป ไม่รวมคนต่างท้องถิ่น ผู้หญิง ทาส และไพร่) เข้าไปมีส่วนร่วมโดยตรงหลายรูปแบบ การคัดเลือกคนเข้าไปทำหน้าที่มีทั้งการจับฉลาก การผลัดกันเป็น และการเลือกตั้งสำหรับตำแหน่งที่ต้องชำนาญการบางตำแหน่ง
ด้านนิติบัญญัติ มีสภาพลเมืองที่พิจารณาเรื่องใหญ่ๆ ประชุมเดือนละครั้ง ที่ประชุมกลางแจ้งจุคนได้ 6,000 คน พลเมืองชายชาวเอเธนส์ที่มีอยู่ราว 2-3 หมื่นคน (จากประชากรทั้งหมดราว 2-3 แสนคน) มีสิทธิไปเข้าประชุมครั้งละไม่เกิน 6,000 คน แบบใครไปถึงก่อนก็ได้สิทธิก่อน พลเมืองผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนมีสิทธิยกมือแสดงความคิดเห็นและลงคะแนนเสียง คนที่ยกมือพูดมักเป็นคนมีการศึกษาสูง มีความคิดอ่านดี พูดเก่ง คนที่ไปประชุมแต่ละครั้งจะผลัดกันไป ทำให้พลเมืองได้ฝึกเรียนรู้การเมืองโดยตรง ในยุคหนึ่งมีการจ่ายเบี้ยเลี้ยง ให้ผู้มาประชุมด้วย เพื่อให้คนจนมาเข้าร่วมประชุมสภาพลเมืองได้โดยไม่เสียเวลาในการทำงานหาเงิน
องค์กรที่สำคัญควบคู่กันคือ คณะกรรมาธิการ 500 คน มาจากตัวแทนของ 10 เขต เขตละ 50 คน เป็นการสมัครและจับฉลาก เพื่อให้ได้คนจากหลากหลายชนชั้น กลุ่ม คณะกรรมาธิการกลุ่มนี้ทำงานทั้งเป็นสภาสูงและคณะผู้บริหาร ช่วยกลั่นกรองเรื่องก่อนเข้าประชุมสภาพลเมือง พวกเขาทำงานต่อเนื่องตลอดปี ทั้งเรื่องกฎหมาย และการบริหาร คณะกรรมาธิการกลุ่มนี้ต้องประชุมบ่อย และใช้วิธีผลัดกันทำงานเป็นทีมในช่วงเวลาหนึ่ง แต่รวมแล้วก็มีวาระราว 1 ปี จะมีการสมัครและจับฉลากกันใหม่
คนที่ทำงานฝ่ายบริหารเพื่อช่วยงานคณะกรรมาธิการ ไม่ใช่ข้าราชการประจำ แต่เป็นพลเมืองที่คณะกรรมาธิการคัดเข้ามาราว 1,000 คน ส่วนใหญ่โดยการจับฉลากแบบสุ่ม ยกเว้นตำแหน่ง ที่ต้องใช้คนมีความรู้เฉพาะทาง เช่น นายพล และผู้บริหารเรื่องการคลัง การเงิน ใช้วิธีสมัครและมีการกลั่นกรอง มีการเลือกตั้งโดยสภาพลเมือง การเปิดให้พลเมืองเข้ามีส่วนร่วมในการปกครอง/บริหารประเทศแบบสุ่มจับฉลากนี้ นักวิจารณ์บางคนมองว่าสุ่มเสี่ยงที่จะได้คนไม่ค่อยมีความรู้ ความชำนาญ หรือเป็นคนเห็นแก่ตัวเข้ามาได้บ้าง แต่สังคมเอเธนส์นั้นมีการใช้สติปัญญารวมหมู่ ทำงานเป็นทีมคณะกรรมการ ดังนั้นถึงจะมีคนไม่ค่อยได้ความหลุดเข้ามาได้บ้าง คนๆ นั้นก็ต้องฟังเสียงคณะกรรมการส่วนใหญ่ ตัวเองเป็นเสียงส่วนน้อย นอกจากนั้นก็มีระบบควบคุมตรวจสอบ ที่สามารถถอดถอนลงโทษคนที่ทำงานไม่ซื่อสัตย์หรือไม่รับผิดชอบด้วย เช่น โดนตัดสิทธิที่จะได้จับฉลากครั้งต่อไป หรือโทษที่หนักคือ การโดนเนรเทศต้องหาทางไปอยู่นครรัฐอื่นเอง
อำนาจตุลาการ ใช้ระบบประชาธิปไตยแบบให้พลเมืองที่อายุ 30 ปีขึ้นไปสมัครเป็นลูกขุน และคัดเลือกโดยวิธีจับฉลากเช่นกัน การพิจารณาคดีทั้งระหว่างพลเมืองด้วยกัน และคดีเกี่ยวข้องกับรัฐใช้คณะลูกขุนจำนวนมากถึง 500 คน ถ้าเป็นคดีใหญ่อาจใช้มากกว่านั้น ซึ่งมีข้อดีคือยากที่คู่กรณีจะติดสินบนหรือข่มขู่ลูกขุนได้ ไม่มีระบบอัยการและทนายความ ทั้งผู้กล่าวหาและจำเลยต้องไปแถลงต่อคณะผู้พิพากษาแบบลูกขุนด้วยตนเอง แล้วลูกขุนจะพิจารณาว่าใครถูกหรือผิด
ระบบประชาธิปไตยทางตรงแบบนี้ ในทางปฏิบัติบางครั้งก็มีปัญหาบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ทำงานได้ผลพอสมควร ดังจะเห็นได้ว่าช่วงที่เอเธนส์เจริญรุ่งเรืองในด้านเศรษฐกิจ ศิลปวิทยาการ มากที่สุดก็คือในช่วงที่เอเธนส์ใช้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย 2 ศตวรรษ (ศตวรรษที่ 5-4 ก่อนคริสตกาล) ซึ่งถือกันว่าเป็นยุคทองหรือยุคคลาสสิกของเอเธนส์และประชาคมกรีกทั้งหมด
แม้นักปรัชญาซึ่งมาจากคนชั้นสูง หรืออยู่ได้ด้วยอุปถัมภ์ของคนชั้นสูงอย่างโสกราตีส เพลโต้ อริสโตเติล จะวิจารณ์ระบอบประชาธิปไตยว่ามีข้อด้อย เพราะพลเมืองไม่ค่อยมีความรู้มากพอ และเชื่อว่าระบอบคณาธิปไตยโดยคนมีความรู้จะดีกว่า แต่พวกนักปรัชญาเหล่านี้ก็ใช้ชีวิตอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแบบได้รับการยอมรับ สะท้อนความเป็นประชาธิปไตยของนครเอเธนส์ในยุคนั้น
ระบอบประชาธิปไตยแบบเอเธนส์ทำงานได้ผล เนื่องมาจากวัฒนธรรมแบบชุมชน ที่เน้นเรื่องการเรียนรู้เพื่อเป็นพลเมืองที่มีคุณธรรม จิตสำนึกที่จะทำเพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน ชาวเอเธนส์สนใจเรียนรู้ด้านการถกเถียง อภิปราย ด้วยเหตุผลในเรื่องเชิงปรัชญาและความรู้สาขาต่าง ทั้งเพื่อความอยากรู้ อยากใช้ชีวิตที่ดี มีคุณค่า มีความหมาย และเพื่อใช้ความสามารถการอภิปรายในสภาพลเมืองและในศาลแบบคณะลูกขุน ถึงคนจนจะไม่ได้รับการศึกษามากนัก เพราะไม่สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนให้ครูสำนักต่างๆ เหมือนคนรวยได้ แต่คนจนโดยทั่วไปก็ได้เรียนความรู้ขั้นพื้นฐานแบบอ่านออกเขียนได้ และได้เรียนรู้จากการฟังนิทาน (เช่น นิทานอีสป) ตำนาน มหากาพย์ อีเลียด การไปดูบทละครชั้นยอด ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นงานศิลปะการแสดงที่สวยงาม สร้างความสะเทือนใจเท่านั้น แต่คนดูและอ่านละครยังได้เรียนรู้ ได้ขบคิดเรื่องทางจริยธรรมเกี่ยวกับชีวิตและสังคมด้วย
นักปรัชญาหลายคนรวมทั้งโสกราตีส ยินดีจะไปสนทนาและหรือบรรยายให้การศึกษาพลเมืองที่สนใจทั่วไป โดยไม่คิดค่าสอน ทำให้พลเมืองเอเธนส์เรียนรู้การเป็นพลเมืองที่มีความรู้ได้หลายทาง โดยเฉพาะการที่พลเมืองมีโอกาสผลัดกันเข้าไปทำงานในสภา คณะกรรมาธิการ ลูกขุน ตำแหน่งงานต่างๆ ในช่วงชีวิตหนึ่ง ทำให้พลเมืองส่วนใหญ่มีโอกาสเรียนรู้การเมืองสังคมภาคปฏิบัติ แม้ในทางเศรษฐกิจ เอเธนส์จะมีความแตกต่างระหว่างคนรวย คนจน แต่รัฐบาลก็พยายามเก็บภาษีจากคนรวยมาช่วยให้สวัสดิการคนจน และทำให้ทุกคน (อย่างน้อยพลเมืองชายที่เป็นอิสระชน) มีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองเท่ากัน
ประชาธิปไตยทางตรงของเอเธนส์ได้ผลดี อาจจะเป็นเพราะมีพลเมืองไม่มาก แต่ภายหลังประเทศสวิสเซอร์แลนด์ก็ใช้ประชาธิปไตยทางตรงอย่างได้ผลดีเช่นกัน ที่สำคัญคือการกระจายอำนาจ ความรับผิดชอบ ทรัพยากร ไปที่จังหวัดและเมืองต่างๆ ไทยก็ควรจะเรียนรู้นำประชาธิปไตยทางตรงบางรูปแบบมาประยุกต์ใช้ได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการบริหารจัดการระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล
(อ่านเพิ่มเติม ประชาธิปไตยทางตรงในกรีกยุคคลาสสิกและบทละครเรื่องโพรมีธิอุส โดยวิทยากร เชียงกูล จัดพิมพ์โดยมูลนิธิ “เพื่อนหนังสือ” ชื่อเฟซบุ๊กด้วย โทร/ไลน์ 094 203 7475)