เหตุผลที่เสียงดนตรีในตลาดการเงินจะหยุดลงในปี 2021

เหตุผลที่เสียงดนตรีในตลาดการเงินจะหยุดลงในปี 2021

ช่วงนี้นักลงทุนดูจะมีความสุขกับการเก็งกำไรสินทรัพย์ที่วิ่งแบบติดจรวดมากที่สุด

แม้จะมีคำเตือนเรื่องระดับราคาที่แพง หรือเศรษฐกิจที่ไม่ฟื้นตัวให้เห็นได้แทบทุกสื่อ แต่ลึก ๆ แล้วเมื่อปี 2020 เป็นปีที่การเก็งกำไรให้ผลตอบแทนดีมาก ก็คงไม่มีนักลงทุนท่านไหนอยากที่จะหยุด หรือพอใจกับผลตอบแทนแค่ 10-20% ในปีนี้ ไม่ต่างกับเก้าอี้ดนตรี ถ้าเพลงไม่หยุดก็คงไม่มีใครยอมนั่ง

ในสถานการณ์เช่นนี้ แทนที่จะหาเหตุผลมาสนับสนุนการเก็งกำไร ซึ่งไม่ต่างกับแค่การ “ฟังเพลง” เหตุผลว่าตลาดจะปรับฐานได้อย่างไร ซึ่งเปรียบเสมือนการ “มองที่คนเปิดเพลง” และ “เก้าอี้” ไปพร้อมกัน ควรเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญที่สุด และผมเชื่อว่ามี 3 ประเด็นที่ต้องจับจังหวะให้ดี

เรื่องแรก ถ้าการปรับฐานในปี 2020 ไม่ได้เป็นแค่เหตุการณ์พาไป แต่ลามไปเป็นการหดตัวของวัฏจักรเศรษฐกิจ จะเป็นเหมือนเก้าอี้ถูกหยิบออกเพิ่ม

 มองโลกในแง่ร้ายที่สุด ความเสี่ยงนี้จะเกิดขึ้นในกรณีที่มียาต้านไวรัสแล้ว แต่ประชาชนกลับไม่ยอมรับ หรือรับยา แต่ไม่กลับมาบริโภคในรูปแบบเดิม                                                                              

สิ่งที่ต้องระวังคือระยะเวลาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะต่างกันมาก โดยถ้าเรามองย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงปี 1800s การหดตัวแบบเหตุการณ์พาไป (Event-driven) กดดันตลาดแค่เพียงราว 5เดือน ต่างจากการหดตัวตามวัฏจักรหรือโครงสร้างที่มักอยู่กับตลาดไป 25 เดือนโดยเฉลี่ย 

ประเด็นที่สองคือนโยบายเศรษฐกิจที่มากหรือน้อยเกินไป เทียบได้กับเสียงเพลงที่ดังขึ้น หรือเบาลงจนน่าแปลก

 ความเสี่ยงต่อจากนี้มีด้วยกันสองแบบคือ (1) การกระตุ้นที่มากเกินไป ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทางการเงินปรับตัวสูงจนภาวะฟองสบู่แตก และ (2) การกระตุ้นที่น้อยเกินไปอาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ทัน

 ประเด็นนี้นักลงทุนสามารถใช้บอนด์ยีลด์ของแต่ละประเทศเป็นตัวชี้วัดประกอบกับนโยบายการเมืองได้ เช่นบนการลงทุนทั่วโลก ผมจะใช้ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีเป็นตัวชี้วัด ถ้าปรับตัวสูงเกิน 1.5% ก็ต้องระวังความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับฐานเพราะช็อกจากต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว

 ส่วนถ้ายีลด์ยังต่ำ แค่จับตานโยบายฝั่งการเมืองว่าจะมีมากขึ้นแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้านโยบายที่ระบุกลุ่มเทคโนโลยีที่เป็นผู้นำตลาดในช่วงที่ผ่านมาเข้มงวดก็ไม่ควรฝืนไปต่อ

 สุดท้ายคือ นักลงทุนเปลี่ยนความรู้สึกจาก “มีหวัง” เป็น “กลัว” อย่างเฉียบพลัน เกิดได้ในกรณีที่ทั้งสองเหตุการณ์ข้างต้นมีขึ้นพร้อมกัน

 ถ้าแทนโลกการลงทุนแทนด้วยดัชนี MSCI All World Index และแบ่งการเปลี่ยนแปลงของตลาดด้วย Multiple Expansion และ Earning Growth จะแยกอารมณ์ของตลาดแบ่งเป็นสี่ช่วงคือ “มีหวัง” “กล้า” “กังวล” และ “กลัว” เรียงกัน โดยแต่ละช่วงมีระยะเวลาเฉลี่ยราว 6 11 5 และ 4เดือนตามลำดับ

ตอนที่นักลงทุนมีความหวัง คือ Multiple เพิ่มแต่ Earning ไม่ดี มักจะตามมาด้วยช่วงกล้าที่ Multiple ลดจาก Earning ที่สูงขึ้น

 ดังนั้นต่อให้เศรษฐกิจไม่ฟื้น รายได้ไม่มา แต่ถ้าการหนุนตลาดของเหล่าผู้กำหนดนโยบายยังอยู่ ก็ไม่ต่างกับการบอกว่าจะเปิดเพลงให้สนุกกันไปทั้งวันทั้งคืนแม้นักลงทุนจะเมาหัวราน้ำแล้ว ตลาดจึงแค่ติดอยู่ในช่วงมีหวังนานกว่าปรกติ เพราะนักลงทุนไม่กลัว หรือถ้าพูดง่าย ๆ การจะให้ตลาดกลัว ในความเห็นของผมต้องมีความเข้มงวดของผู้กำหนดนโยบายประกอบด้วย

 ท้ายที่สุด ถ้าเหตุผลที่เสียงดนตรีในตลาดการเงินจะหยุดลงคือเรื่องเหล่านี้ เราควรเตรียมตัวอย่างไรในตอนนี้

 ผมมองว่า สิ่งที่เราทำได้คือ (1) ไม่กลัวเกินไป ตั้งใจฟังเสียงเพลงอย่าหยุดเดิน ตรงไปตรงมาที่สุด คือลงทุนต่อในสินทรัพย์ที่มีจังหวะของตัวเอง เติบโตได้โดยไม่ต้องพึ่งภาครัฐมาก เช่นกลุ่มที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ (2) ถ้าจะเกาะไปกับจังหวะ ก็ต้องเน้นการลงทุนที่เป็นวัฏจักรเช่นยุโรปหรือญี่ปุ่น และ (3) ไม่ล้ำหน้าตลาด หรือเดินไกลเก้าอี้ไปมาก โดยเลือกการลงทุนที่ความผันผวนเหมาะสม หรือถ้ากล้ารับความเสี่ยงมากอาจเริ่มลงทุนในสัดส่วนที่น้อย

 ย้อนกลับไปช่วง Tech Bubble คำเตือนว่าตลาดผิดปรกติมีให้เห็น 2-3ปี ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกและทุกอย่างปรับฐาน จนมีคำกล่าวว่า “market can remain irrational longer than you can remain solvent” ผมจึงอยากให้เราลงทุนต่อเนื่อง และอย่าพยายามจับจังหวะตลาดมากไป แค่รู้ว่าเหตุผลที่จะทำให้ทุกอย่างจบลงคืออะไร และเลือกลงทุนให้เหมาะสม

 เพราะแม้ “ทุกงานเลี้ยงต้องมีวันสิ้นสุด” แต่เมื่อไหร่หรือจุดไหนนั้น ไม่มีใครบอกเราได้แน่นอนครับ

  161046008350

  

ระยะเวลาของอารมณ์ตลาดแบ่งตาม Volatility, P/E Multiple, และ Earning growth ของ MSCI All World Index ตั้งแต่ปี 2005-2019

ที่มา: Bloomberg และ SCB Securities