'อายิโนะโมะโต๊ะไทย' ชู 5 เรื่อง ปี 2567 ขับเคลื่อนความยั่งยืนสำเร็จ

'อายิโนะโมะโต๊ะไทย' ชู 5 เรื่อง ปี 2567 ขับเคลื่อนความยั่งยืนสำเร็จ

อายิโนะโมะโต๊ะ ชู 5 เรื่อง ปี 2567 ขับเคลื่อนความยั่งยืนสำเร็จ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก - ลดขยะพลาสติก - ลดการสูญเสียอาหาร และขยะอาหารจากกระบวนการผลิต ตั้งเป้าปี 2573 ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ 50% พร้อมสร้างการเติบโตควบคู่ชุมชนและเกษตรกรไทย ผ่านแนวคิด "วัฏจักรชีวภาพ" หรือ "Ajinomoto Bio-cycle"

กรดอะมิโน (Amino Acid) เป็นส่วนประกอบสำคัญในการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต ตั้งแต่จุลินทรีย์จนถึงมนุษย์ โดยร่างกายมีกรดอะมิโนมากถึง 20% ถือเป็นสารประกอบที่มีอยู่ในร่างกายมากที่สุดรองจากน้ำ ซึ่งกรดอะมิโนเป็นส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของโปรตีน จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยฟื้นฟูเซลล์ต่างๆ และรักษาระบบการทำงานภายในร่างกาย

จากการที่ "กลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ" เป็นองค์กรเชี่ยวชาญองค์ความรู้ด้าน "AminoScience" จึงประยุกต์ใช้ประโยชน์จากกรดอะมิโนมาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านอาหาร ส่งเสริมสุขภาพและโภชนาการที่ดี เพื่อสนับสนุนสังคมไทยให้ "กินดี มีสุข" อย่างยั่งยืน โดยมุ่งมั่นเป้าหมาย 2 เรื่องที่เป็นหัวใจหลัก คือ

  1. ต้องการยืดอายุการมีสุขภาพที่ดีของคน 1,000 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งการมีอายุที่ยืนยาวและมีสุขภาพดี ย่อมดีกว่าการมีอายุยืนยาวแต่ไม่แข็งแรง
  2. การดำเนินธุรกิจ โดยมีเป้าหมายลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ 50% ภายในปี 2573 ผ่านการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม 5 แนวทาง ซึ่งเป็นเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนในทุกขั้นตอนการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 1.) ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% ในปี 2573, 2.) ลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573, 3.) ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิตให้ได้ 50% ภายในปี 2568, 4.) ดูแลรักษาแหล่งน้ำด้วยการลดการใช้น้ำ 80% ในปี 2573 และ 5.) จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน 100% ในปี 2568 

5 ความสำเร็จในปีงบประมาณ 2567

ภายในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business ระหว่างวันที่ 3 - 4 ธันวาคม 2567 จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ดร. ทองดี ปาโส กรรมการผู้จัดการ บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในหัวข้อ Milestones toward SDGs ว่า ความสำเร็จของการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของ กลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ จากที่เริ่มแผนดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2561 มี 5 เรื่องที่สำคัญ

  1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง ด้วยการเสาะหาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงการใช้พลังงานทางเลือก และพลังงานหมุนเวียน
  2. ลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ โดยปรับเป็นแพ็กเกจที่สามารถรีไซเคิลได้เพิ่มขึ้นในทุกปี นอกจากนี้ยังมีการปรับแพ็กเกจสินค้าอื่นๆ เช่น รสดี กาแฟเบอร์ดี้ ให้รีไซเคิลได้ พร้อมทั้งลดปริมาณการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์ให้น้อยลง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยปีที่ผ่านมาได้เปิดตัวผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะซองกระดาษ ที่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก
  3. ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิตในโรงงาน ตลอดจนสื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคผ่านแคมเปญลดขยะอาหารในชื่อ "Too Good To Waste"
  4. ดูแลรักษาแหล่งน้ำ ด้วยการลดการใช้น้ำในการผลิต รวมไปถึงการทำโครงการจัดการบำบัดน้ำก่อนปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
  5. จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน ทั้งการเลือกใช้กระดาษที่ได้รับ certified FSC น้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์จากปาล์มที่ผ่านการรับรอง RSPO หรือเนื้อหมูที่ได้รับความคุ้มครองเรื่อง Animal welfare และเมล็ดกาแฟ ที่ผ่านรับรอง เพื่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน 

\'อายิโนะโมะโต๊ะไทย\' ชู 5 เรื่อง ปี 2567 ขับเคลื่อนความยั่งยืนสำเร็จ

Ajinomoto Bio-cycle วัฏจักรชีวภาพ 

ที่สำคัญในการเติบโตไปพร้อมกับชุมชนและพี่น้องเกษตรกรไทย อายิโนะโมะโต๊ะ ได้นำแนวคิด "วัฏจักรชีวภาพ" หรือ "Ajinomoto Bio-cycle" มาเป็นกลไกความร่วมมือกับภูมิภาคท้องถิ่นในกระบวนการจัดการที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งภาคการผลิต การเกษตร สู่ผู้บริโภค เพื่อสร้างกระบวนการผลิต และการเกษตรที่ส่งเสริมกันเป็นวัฏจักรอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย ยังเป็นผู้ใช้วัตถุดิบแป้งมันสำปะหลังมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะ จึงสนับสนุนให้ชาวไร่มันสำปะหลังทำการเกษตรอย่างยั่งยืนด้วยการสานต่อโครงการ Thai Farmer Better Life Partner ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ผ่านการเข้าไปส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพและยังช่วยเสริมทักษะเกษตรกรไทยแบบครบวงจร พร้อมต่อยอดสู่ชาวไร่กาแฟ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตกาแฟเบอร์ดี้ให้พร้อมเติบโตไปด้วยกันอย่างมั่นคง

5 โอกาสของธุรกิจ

สำหรับแนวทางที่จะทำให้อายิโนะโมะโต๊ะเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่

  1. จัดทำ Carbon Footprint ปริมาณ GHGs ที่ปล่อยออกมา และดูดกลับจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ใน scope 1, 2 และ 3 ที่เป็นแผนการดำเนินงานระยะกลางคือ ตั้งแต่ปี 2561 สู่ปี 2573 ต่อเนื่องเป็นแผนระยะยาวคือเป้าหมาย Net Zero ในปี 2593
  2. การออกแบบวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตามหลักการ EPR ซึ่งขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตครอบคลุมตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ และเริ่มดำเนินการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์เข้าสู่ระบบรีไซเคิล
  3. การบริหารจัดการ จัดซื้อจัดจ้าง ตลอดห่วงโซ่คุณค่า และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พัฒนาศักยภาพของคู่ค้า ควบคู่กับการหาโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ
  4. การเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานเป็นดิจิทัล นำระบบ Digital Transformation มาใช้ในการทำงานในองค์กร
  5. ความยืดหยุ่นขององค์กรในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ เช่น ปรับรูปแบบการทำงาน Hybrid Work, Work From Anywhere และ Flexible time เป็นการสร้างความสุขให้พนักงานมีการทำงานที่ยืดหยุ่นและช่วยลดคาร์บอน ลดมลพิษ และค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง

ปัจจัยภาคธุรกิจสู่ความยั่งยืน

สำหรับปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน ทาง ดร. ทองดี กล่าวเพิ่มเติมว่า อยู่ที่การใช้หลัก ESG ในการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม และสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนของกิจกรรมทางธุรกิจ ซึ่งทางอายิโนะโมะโต๊ะได้ดำเนินการในด้านสิ่งแวดล้อม โดยโรงงานและฐานการผลิตทุกแห่งของอายิโนะโมะโต๊ะมีการบริหารจัดการภายใต้แนวคิดโรงงานสีเขียว และการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ด้วยการนำระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้มาตรฐานระดับสากลมาปฏิบัติ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าผ่านหลัก 3R (Reduce, Reuse, Recycle)

ด้านสังคม บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับความ "กินดี มีสุข" ในทุกภาคส่วน โดยการรับซื้อขายให้ราคาอย่างเป็นธรรม มาจากแหล่งผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ และด้านธรรมาภิบาล ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความซื่อสัตย์โปร่งใส ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ

"ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือกันของทุกๆ ภาคส่วนในการสร้างผลกระทบเชิงบวกไปด้วยกัน อายิโนะโมะโต๊ะ มีความมุ่งมั่นเป็นผู้นำในการสร้างความกินดีมีสุข พร้อมดูแลสังคม สิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืนในอนาคต" ดร. ทองดี กล่าว

\'อายิโนะโมะโต๊ะไทย\' ชู 5 เรื่อง ปี 2567 ขับเคลื่อนความยั่งยืนสำเร็จ