ฟองสบู่เสี่ยงแตกปีหน้า? ‘บัฟเฟตต์’ ขาย Apple กว่า 70% ถือเงินสดสูงสุดเป็นประวัติการณ์

ฟองสบู่เสี่ยงแตกปีหน้า? ‘บัฟเฟตต์’ ขาย Apple กว่า 70% ถือเงินสดสูงสุดเป็นประวัติการณ์

‘วอร์เรน บัฟเฟตต์’ ขายหุ้น Apple ไปกว่า 70% และถือเงินสดสูงสุดเป็นประวัติการณ์แทน ขณะเดียวกันก็หันไปกอดหุ้นน้ำมัน สวนกระแสโลกที่ให้ความสำคัญพลังงานสะอาด อะไรคือเบื้องหลังการปรับพอร์ตครั้งใหญ่นี้ และนี่ถือเป็นสัญญาณเตือนฟองสบู่ตลาดหุ้นหรือไม่

KEY

POINTS

  • นับตั้งแต่สิ้นปี 2566 Berkshire ได้ขายหุ้น Apple ไปแล้ว 605 ล้านหุ้น ซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% ของการถือครองทั้งหมด
  • “Buffett Indicator” ส่งสัญญาณเตือนถึง “ภาวะฟองสบู่ตลาดหุ้น” ขึ้นแล้ว โดยได้ขึ้นแตะ 208% ซึ่งทะลุระดับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงฟองสบู่ดอทคอมและวิกฤติการเงินโลก
  • สำหรับหุ้น “Occidental Petroleum” บัฟเฟตต์ได้ซื้อติดพอร์ตในปีนี้ และเข้าซื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่องแม้ราคาหุ้นจะปรับตัวลงไม่หยุด จนแตะจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี

ปี 2567 ไม่ใช่เพียงเวลาที่ผ่านไปเท่านั้น แต่ยังเป็นปีแห่ง “ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่” ของพอร์ตหุ้น “วอร์เรน บัฟเฟตต์” (Warren Buffett) นักลงทุนระดับตำนานด้วย เนื่องจากเป็นปีที่ปู่ตัดสินใจขายหุ้น “Apple” ที่ถือมากที่สุดในพอร์ตออกกว่า 70% อีกทั้งยังเป็นปีที่ปู่ถือ “เงินสด” สูงสุดในประวัติศาสตร์ด้วย มากถึง 352,200 ล้านดอลลาร์ ทั้งที่ดอกเบี้ยนโยบายและเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในช่วงขาลง

ไม่เพียงเท่านั้น ในกระแสคลื่นรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่กลืนส่วนแบ่งรถยนต์สันดาปสูงขึ้นเรื่อย ๆ ปู่กลับเลือกซื้อหุ้น “Occidental Petroleum” ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้งที่หลายคนมองว่า “น้ำมัน” เป็นอุตสาหกรรมพระอาทิตย์ตกดินแล้ว

ใน 1 ปีที่ผ่านมา ปู่บัฟเฟตต์กำลังคิดอะไรอยู่ เบื้องหลังการตัดสินใจขาย-ซื้อหุ้นเหล่านี้คืออะไร และภาวะฟองสบู่แตกกำลังใกล้เข้ามาแล้วหรือไม่

ขายหุ้นเทพ Apple ออกกว่า 70%

สำหรับ “แอปเปิ้ล” (Apple) ถือเป็นหุ้นเทพระดับตำนานของนักลงทุนทั่วโลก โดยมีมูลค่าบริษัทสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลกที่ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์ และให้ผลตอบแทนแก่บัฟเฟตต์สูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ในปีนี้ ปู่กลับทยอยขายหุ้นที่ถือมากที่สุดนี้ออก โดยในไตรมาสแรกของปี 2567 บัฟเฟตต์ขายหุ้น Apple ไป 115 ล้านหุ้น ซึ่งคิดเป็นประมาณ 13% ของการถือครองหุ้นทั้งหมด

ฟองสบู่เสี่ยงแตกปีหน้า? ‘บัฟเฟตต์’ ขาย Apple กว่า 70% ถือเงินสดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ - วอร์เรน บัฟเฟตต์ (เครดิต: AFP) -

ในไตรมาสที่สอง บัฟเฟตต์ได้ขายหุ้นเพิ่มอีก 390 ล้านหุ้น การขายหุ้นดังกล่าวส่งผลให้เงินสดสำรองของปู่ เพิ่มขึ้นที่ 277,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงขึ้น 47% จากไตรมาสแรก

ไม่หยุดอยู่เท่านั้น ในไตรมาสที่สาม บัฟเฟตต์ตัดสินใจขาย Apple เพิ่มอีก 100 ล้านหุ้น ทำให้ Berkshire Hathaway บริษัทโฮลดิ้งด้านการลงทุนที่ปู่บริหาร เหลือหุ้น Apple ในมูลค่าราว 70,000 ล้านดอลลาร์ และทำให้สัดส่วนการถือหุ้น Apple ของปู่ลดลงเหลือ 300 ล้านหุ้น

นับตั้งแต่สิ้นปี 2566 Berkshire ได้ขายหุ้น Apple ไปแล้ว 605 ล้านหุ้น ซึ่งคิดเป็นประมาณ 70% ของการถือครองทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น บัฟเฟตต์ยังขายหุ้นธนาคาร “Bank of America” ไปแล้วกว่า 9,600 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่สาม และอีก 140 ล้านดอลลาร์ในสองวันแรกของเดือนตุลาคม การทยอยขายหุ้นเหล่านี้ทำให้บัฟเฟตต์มีเงินสดในมือสูงทะลุ 3 แสนล้านดอลลาร์

สำหรับเหตุผลที่บัฟเฟตต์ตัดสินขายหุ้นเหล่านี้ และเลือกเก็บในรูปเงินสดมหาศาลแทน มีเหตุผลที่เป็นไปได้ “สามประการ” ดังนี้

1. มูลค่าหุ้นสูงกว่าที่ควรจะเป็น 

ตลอดช่วงชีวิตของบัฟเฟตต์ที่ผ่านมา ปู่เน้นย้ำถึงการซื้อหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่เป็นจริง และขายออกเมื่อหุ้นมีมูลค่าสูงกว่าที่ควรจะเป็น โดยแม้ Apple เป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยี แต่ด้วยคู่แข่งสมาร์ทโฟนจากค่ายจีนอย่าง Huawei ที่ขึ้นมาท้าทาย ด้วยลูกเล่นที่ล้ำสมัย แต่ราคากลับเข้าถึงง่ายกว่า

อีกทั้ง “จีน” ตลาดใหญ่ของ Apple ก็เผชิญผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ จึงอาจทำให้หุ้น Apple ดูแพงและเสี่ยงขึ้นหรือไม่ในสายตาบัฟเฟตต์ เมื่อเทียบกับการเติบโตในอนาคต

กองทุนด้านการลงทุน Vltava เผยมุมมองต่อเรื่องนี้ว่า “คุณคงไม่พลาดข่าวที่ว่าบัฟเฟตต์ ได้ขายหุ้น Apple ไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่ง มีการคาดเดามากมายเกี่ยวกับมุมมองของบัฟเฟตต์ที่มีต่อตลาดหุ้น เราคิดว่าสาเหตุของการขายนั้นง่ายกว่ามาก บัฟเฟตต์อาจมองว่าหุ้น Apple มีราคาแพงเกินไป เมื่อเราไปที่เมืองโอมาฮา (รัฐเนแบรสกา สหรัฐ) เพื่อเข้าร่วมการประชุมใหญ่ในเดือนพฤษภาคม บัฟเฟตต์บอกว่าเขายังคงขายอยู่ และเราคาดว่า เขาจะยังคงทำเช่นนั้นต่อไปในไตรมาสที่สาม เราต้องบอกในฐานะผู้ถือหุ้นของ Berkshire ว่า รู้สึกยินดีกับการขายหุ้น Apple เราคิดว่าทีมบริหารของ Berkshire จะสามารถนำเงินนี้ไปใช้ประโยชน์ได้ดีกว่าที่เคยเป็นมาเสมอ และเป็นไปได้สูงว่า พวกเขามีแผนการที่ชัดเจนอยู่แล้ว และในระหว่างนี้ ความเสี่ยงในการถือครองหุ้น Berkshire เองก็ลดลงอย่างมาก”

2. รัฐบาลมีแนวโน้มขึ้นภาษีขายหุ้น

ภาษีจากกำไรขายหุ้น หรือ “Capital Gain Tax” ของสหรัฐอยู่ที่ราว 20% ในปัจจุบัน โดยบัฟเฟตต์คาดการณ์ว่าภาษีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น และปู่อาจต้องการรับรู้ “กำไรจริง” ซึ่งไม่ใช่กำไรทิพย์ ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์นั้น

สาเหตุที่ภาษีขายหุ้นมีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น บัฟเฟตต์มองว่า รัฐบาลสหรัฐจะแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นโดยการ “ขึ้นภาษี” มากกว่าการลดค่าใช้จ่าย

“ผมคิดว่าภาษีขายหุ้นมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น” เขาให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่การประชุมผู้ถือหุ้นประจำปีของ Berkshire Hathaway ในเมืองโอมาฮา ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ส

“รัฐบาลอาจตัดสินใจสักวันหนึ่งว่า ไม่ต้องการให้การขาดดุลงบประมาณมีขนาดใหญ่เช่นนี้ เนื่องจากมีผลกระทบที่สำคัญ ดังนั้นพวกเขาอาจไม่ต้องการลดการใช้จ่าย และอาจตัดสินใจว่า จะเก็บภาษีจากสิ่งที่เรามีในสัดส่วนที่มากขึ้น และเราจะต้องจ่าย” บัฟเฟตต์กล่าว

3. ตลาดหุ้นฟองสบู่ที่เสี่ยงแตกทุกเมื่อ?

ท่ามกลางดัชนีหุ้น S&P 500 ของสหรัฐทำจุดสูงสุดใหม่หลายครั้ง และราคาบิตคอยน์ก็ทำสถิติสูงสุดใหม่ในประวัติศาสตร์เช่นกัน ตัว “Buffett Indicator” ที่ได้มาจากการนำมูลค่าบริษัทหุ้นทุกตัวของประเทศหารด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่งสัญญาณเตือนถึง “ภาวะฟองสบู่ตลาดหุ้น” ขึ้นแล้ว เพราะดัชนีบัฟเฟตต์ในปัจจุบันนี้ขึ้นแตะ 208% ซึ่งทะลุระดับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงฟองสบู่ดอทคอมและวิกฤติการเงินโลก 

นี่จึงอาจไม่ใช่จังหวะลงทุนของปู่ และอาจเป็นช่วงที่เหล่านักลงทุนแนวเน้นคุณค่าเลือกเก็บเงินสดเป็นหลักแทน จนกว่าจะเกิดวิกฤติครั้งใหญ่ขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีสัญญาณเตือนจาก Buffett Indicator แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีอีกฝั่งที่มองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นในปีหน้า โดยธนาคาร Bank of America ได้คาดการณ์ว่า ดัชนี S&P 500 จะเติบโตขึ้นอีก 10% ภายในสิ้นปี 2568 และแตะระดับ 6,666 จุด (ปัจจุบันอยู่ที่ราว 6,000 จุด) โดยการคาดการณ์ดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากปัจจัยหลายประการ อาทิ ความเชื่อมั่นในประสิทธิผลการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่แข็งแกร่ง และกลยุทธ์การปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจที่คาดว่าจะส่งผลดีต่อตลาด

ยังคงซื้อหุ้นน้ำมัน แม้ทำจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี

สำหรับหุ้น “Occidental Petroleum” บัฟเฟตต์ได้ซื้อติดพอร์ตในปีนี้ และเข้าซื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่องแม้ราคาหุ้นจะปรับตัวลงไม่หยุด จนแตะจุดต่ำสุดในรอบ 3 ปี สร้างความฉงนสงสัยให้กับผู้ติดตาม เพราะพลังงานฟอสซิลอย่างน้ำมันต่างถูกมองว่า “ขาลง” สวนทางรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี) และพลังงานสะอาดที่เป็นขาขึ้น ดังเห็นจากบริษัทปตท.ที่หันไปลุยธุรกิจค้าปลีกและอีวีเป็นรายได้เสริม เพื่อความอยู่รอด

ในเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอินเตอร์มีเดียต (WTI) ได้ลดลงหลังจากที่เริ่มต้นปีอย่างแข็งแกร่ง โดยราคาน้ำมันพุ่งขึ้นจากกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นปีไปแตะระดับใกล้ 90 ดอลลาร์ในช่วงกลางเดือนเมษายน แต่ราคาได้ลดลงอย่างมากในเวลาต่อมา และล่าสุดอยู่ “ต่ำกว่า” 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมันนี้มีแนวโน้มลงไปได้อีก เพราะฝ่ายบริหารของทรัมป์ต้องการให้บริษัทน้ำมันผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งเพิ่มอุปทาน ซึ่งอุปทานที่สูงขึ้นนี้มีแนวโน้มทำให้ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งอาจช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อได้ ในขณะเดียวกันก็เป็นปัจจัยกดดันรายได้ของ Occidental Petroleum ที่พึ่งพาน้ำมันด้วย จนราคาหุ้นร่วงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ปู่บัฟเฟตต์ไม่หวั่นราคาร่วง เข้าซื้อหุ้นบริษัทน้ำมันนี้เพิ่มอีก 8.9 ล้านหุ้น รวมมูลค่า 405 ล้านดอลลาร์ ขณะนี้บัฟเฟตต์ ถือครองหุ้นของบริษัท Occidental Petroleum มากกว่า 264 ล้านหุ้น มูลค่าเกือบ 12,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นมากกว่า 28% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทน้ำมันแห่งนี้

อะไรทำให้ปู่เข้าซื้อหุ้นน้ำมัน ซึ่งถ้าดูธุรกิจของ Occidental Petroleum ก็จะพบว่าไม่ใช่มีแต่น้ำมันอย่างเดียว แต่ยังมีธุรกิจด้าน “เทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไดออกไซด์” จากชั้นบรรยากาศ เพื่อกักเก็บไว้ใต้ดินด้วย ซึ่งเป็นธุรกิจดาวรุ่งแห่งอนาคต โดยสถาบันวิจัย Fortune Business Insights คาดการณ์ว่า ตลาดเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนนี้จะเติบโตจาก 3,540 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 เป็น 14,510 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2575 โดยมีอัตราเติบโตแบบทบต้นโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ 19.29% ในช่วงการคาดการณ์

นอกจากนี้ การที่ Occidental Petroleum เข้าซื้อกิจการ “CrownRock” ซึ่งทำธุรกิจน้ำมันเช่นกัน ได้ช่วยเสริมสร้างการดำเนินงานของบริษัทใน Permian Basin ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำมันสำคัญในรัฐเท็กซัสและนิวเม็กซิโก

Occidental ประมาณการว่า ข้อตกลงนี้จะเพิ่มกระแสเงินสดอิสระประจำปีได้ 1 พันล้านดอลลาร์ หากราคาน้ำมันดิบ WTI เฉลี่ยอยู่ที่ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันลดลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล การเข้าซื้อกิจการคาดว่ายังคงเพิ่มมูลค่าให้กับผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัท

อีกประการสำคัญคือ หากความขัดแย้งที่มีอยู่ ไม่ว่าจากสมรภูมิอิสราเอล-ฮามาส รัสเซีย-ยูเครน หรือแม้กระทั่งเกาะไต้หวัน ลุกลามบานปลายเป็น “สงครามใหญ่” ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้มากขึ้น ก็จะเป็นผลบวกต่อหุ้นกลุ่มพลังงานฟอสซิลด้วย เพราะเครื่องบินรบ เรือรบ รถถัง รวมไปถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในสนามรบจำเป็นต้องใช้ “น้ำมัน” ในการขับเคลื่อน และโดยธรรมชาติการถือหุ้นของบัฟเฟตต์ ไม่ใช่การถือเพียงปีสองปี แต่เป็นการถือในระยะยาวเป็น 5-10 ปีขึ้นไป 

ปิดท้ายปี ลงทุนโดมิโน่ พิซซ่า-สระว่ายน้ำ

ช่วงปลายปี บัฟเฟตต์สร้างความฮือฮาในวงการลงทุนอีกครั้ง เมื่อ Berkshire Hathaway ลดสัดส่วนหุ้น Apple ลง แต่หันมาสนใจธุรกิจฟาสต์ฟู้ดและสระว่ายน้ำ ผ่านการลงทุนในโดมิโน่ พิซซ่า (Domino's Pizza) และพูล คอร์ป (Pool Corp.) แทน โดย Berkshire เข้าซื้อหุ้นโดมิโน่ พิซซ่าจำนวน 1.28 ล้านหุ้น มูลค่า 550 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นไตรมาสที่สาม และซื้อหุ้นของพูล คอร์ปอีกกว่า 400,000 หุ้น ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์และวัสดุสระว่ายน้ำรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐ

บัฟเฟตต์ยกย่อง “คุณค่าของแบรนด์” มาโดยตลอดว่าเป็น “คูเมืองทางเศรษฐกิจ” (Economic Moat) ซึ่งหมายความว่า แบรนด์ที่แกร่งจะช่วยปกป้องบริษัทจากคู่แข่ง ซึ่งโดมิโน่ พิซซ่าและพูลคอร์ปถือเป็นตัวอย่างของสิ่งนี้

สำหรับ “โดมิโน่ พิซซ่า” ได้สร้างอาณาจักรจากโมเดลการจัดส่งที่มีประสิทธิภาพ และการสร้างแบรนด์อันเป็นที่จดจำ จนเป็นร้านพิซซ่าที่ “ใหญ่ที่สุด” ในสหรัฐ (ขณะอันดับ 2 คือ พิซซ่าฮัท) แม้ว่ารายได้ไตรมาสที่สามจะต่ำกว่าที่คาด แต่บริษัทก็ทำกำไรได้เกินกว่าที่วอลล์สตรีทคาดการณ์ไว้ โดยนักวิเคราะห์จาก Loop Capital บริษัทด้านบริการทางการเงิน เพิ่งปรับอันดับเครดิตของหุ้นขึ้น เพราะเห็นสัญญาณของยอดขายสาขาเดิมที่เพิ่มขึ้น

ส่วน “พูล คอร์ป” นั้น ได้รับประโยชน์จากส่วนแบ่งตลาดที่โดดเด่นใน “อุตสาหกรรมเฉพาะทาง” แม้ว่าการใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนในการก่อสร้างสระว่ายน้ำจะลดลง แต่บริษัทยังคงเห็นความต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงรักษาที่สูง ซึ่งผลักดันรายได้ที่สม่ำเสมอของบริษัท โดยวาณิชธนกิจ Oppenheimer ได้ปรับราคาเป้าหมายของพูล คอร์ปขึ้น หลังจากที่รายได้ไตรมาสที่สามเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้

ฟองสบู่เสี่ยงแตกปีหน้า? ‘บัฟเฟตต์’ ขาย Apple กว่า 70% ถือเงินสดสูงสุดเป็นประวัติการณ์

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากดูสัดส่วนหุ้น 2 ตัวที่บัฟเฟตต์เลือกลงทุนในปีนี้ หลังขายหุ้น Apple ออกไปจำนวนมาก จะพบว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยโดมิโน่ พิซซ่าคิดเป็น 0.2% ของพอร์ต Berkshire Hathaway ส่วนพูล คอร์ป ไม่ถึง 0.1% ของพอร์ตปู่

ขณะที่ Occidental Petroleum ปู่ถือที่ 4.2% ของพอร์ต จนครอง 28% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัทน้ำมันแห่งนี้ ซึ่งมีนัยสำคัญขึ้นมา สะท้อนให้เห็นว่าบัฟเฟตต์ยังคงให้ความสำคัญกับการ “ถือครองเงินสด” เป็นหลักในขณะนี้ และเลือกถือ “หุ้นน้ำมัน” ที่ทนทานต่อวิกฤติการเมืองโลกได้ ในภาวะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาตร์พร้อมปะทุอยู่ทุกขณะ อีกทั้ง Buffett Indicator ก็ส่งสัญญาณเตือนถึงภาวะฟองสบู่ตลาดหุ้น

อ้างอิง: yahoocnbcforbesreutersfinanceeconomistfoxwarrenfornewกรุงเทพธุรกิจbuffett