ส่องวิธีแก้ ‘ฝุ่น PM2.5’ ของ ‘อินเดีย’ ประเทศที่อากาศแย่ที่สุดในโลก

ส่องวิธีแก้ ‘ฝุ่น PM2.5’ ของ ‘อินเดีย’ ประเทศที่อากาศแย่ที่สุดในโลก

อินเดียเสนอใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับฝุ่น PM2.5 ได้แก่ การใช้โดรนตรวจสอบคุณภาพอากาศ ทำฝนเทียม และใช้ปืนฉีดหมอกควันเคลื่อนที่

นอกจาก “คริสต์มาส” ที่จะมาคู่กับ “ฤดูหนาว” แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่มาในทุกปลายปีก็คือ “ฝุ่น PM2.5” ซึ่งทำลายสุขภาพของประชาชน ตั้งแต่อาการแสบตา คันคอ ไอเรื้อรัง มีไข้ และหายใจลำบาก เนื่องด้วย PM2.5 มีขนาดเล็กมากจนสามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอดและกระแสเลือด ทำให้เสี่ยงต่อโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือดและหัวใจเพิ่มมากขึ้น ส่วนเด็กที่ได้รับ PM2.5 ปอดจะพัฒนาได้ไม่เต็มที่ มีปริมาตรสมองที่ลดลง และโรคสมาธิสั้น

แม้ไทยจะเจอฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับสูง แต่ก็ยังไม่เท่ากับอินเดียและปากีสถานที่ครองแชมป์ประเทศที่มีสภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก โดยเคยมีค่าฝุ่นทะลุ 1000 ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐานความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 60 เท่า เนื่องจากเกษตรกรเผาไร่นาในช่วงปลายฤดูเพาะปลูก และควันจากดอกไม้ไฟ รวมกับมลพิษจากอุตสาหกรรมและควันจากรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตินี้ ทางการเสนอให้ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อต่อสู้กับมลพิษ ได้แก่ การใช้โดรนตรวจสอบคุณภาพอากาศ ทำฝนเทียม และใช้ปืนฉีดหมอกควันเคลื่อนที่ ตลอดจนออกมาตรการไม่ให้ทำกิจกรรมที่สร้างมลพิษ แต่กลยุทธ์เหล่านี้กลับไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงระบบของมลพิษได้ ทำได้แค่บรรเทาทุกข์ในระยะสั้นเท่านั้น

ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน โกปาล ไร รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมของอินเดีย ขออนุญาตจากรัฐบาลกลางในการโปรยสารเคมีสำหรับสร้างเมฆ เพื่อสร้างฝนเทียมที่มีเป้าหมายสำหรับการทำลายชั้นหมอกควันและลดมลภาวะในอากาศ 

ปรกติแล้วการสร้างเมฆจะฉีดสารเคมีหลายชนิด เช่น เกลือหรือซิลเวอร์ไอโอไดด์ เพื่อกระตุ้นให้เกิดฝนตก โดยจะใช้สารเคมีแต่ละชนิด จะเหมาะสมกับสภาพอากาศที่แตกต่างกัน ทั้งนี้การทำฝนเทียมจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เหมาะสม เช่น ระดับความชื้น ปริมาณน้ำฝน และคุณสมบัติของเมฆที่เฉพาะเจาะจง หากสภาพอากาศไม่เหมาะสมก็จะไม่สามารถทำฝนเทียมได้

นอกจากนี้ การทำฝนเทียมยังมีค่าใช้จ่ายสูงถึงครั้งละ 1.5 ล้านดอลลาร์ ซึ่งอาจไม่คุ้มค่ากับการทำบ่อย ๆ เพราะฝนสามารถช่วยชะล้างอากาศได้เพียงชั่วคราว และมลพิษก็จะกลับมาอย่างรวดเร็วอีกครั้ง เนื่องจากการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรมและรถยนต์มีจำนวนมาก อีกทั้งมลพิษส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในกรุงนิวเดลี เกิดขึ้นจากรัฐข้างเคียง แล้วพัดเข้ามาในรัฐ ซึ่งหมายความว่าวิธีนี้จึงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และยังไม่มีการสรุปผลว่าสามารถลดมลพิษได้กี่เปอร์เซ็นต์

เดือนพฤศจิกายน รัฐบาลเดลีดำเนินโครงการนำร่องพ่นหมอกโดยใช้โดรนในจุดที่เกิดมลพิษอันดับต้น ๆ ของเมือง โดยโดรนเหล่านี้บรรจุน้ำได้ 15 ลิตร สำหรับพ่นไปตามถนนเพื่อกำจัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก แต่ก็ยังไม่ใช่วิธีสำหรับการแก้ปัญหาจากต้นเหตุ

ปัญหาที่แท้จริงของฝุ่นในภูมิภาคนี้ คือ การปล่อยไอเสียจากยานพาหนะ มลพิษจากอุตสาหกรรม และขยะจากการก่อสร้าง ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือ การสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น บูรณาการดีขึ้น และเข้าถึงได้ในราคาที่เอื้อมถึง เพราะหากระบบขนส่งสาธารณะดีและครอบคลุมทุกเส้นทาง ก็จะลดการใช้รถส่วนตัวลงไปได้ 

ในตอนนี้รัฐบาลออกมาตรการเร่งด่วน เพื่อช่วยแก้ปัญหามลพิษแบบเร่งด่วน ที่เรียกว่า มาตรการขั้นที่ 4 หรือ GRAP ซึ่งใช้เมื่อมลพิษทางอากาศของเมืองถูกจัดอยู่ในระดับร้ายแรง ได้แก่ การหยุดกิจกรรมก่อสร้างและรื้อถอน การปิดโรงเรียนเพื่อลดการปล่อยมลพิษ การห้ามรถบรรทุกและรถยนต์ดีเซล-เบนซินจากรัฐอื่น ๆ เข้าสู่เดลีอีกด้วย แม้ว่ามาตรการเหล่านี้มีแนวโน้มจะช่วยบรรเทาปัญหามลพิษให้เบาบางลงได้ แต่หมอกควันจะยังคงมีอยู่ตลอดฤดูหนาว เพราะปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดฝุ่นควันยังคงอยู่ ทั้งมลพิษจากอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าพลังความร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของฝุ่นละอองและซัลเฟอร์ไดออกไซด์

อย่างไรก็ตาม ถึงจะใช้มาตรการ GRAP แล้ว แต่กลับยังไม่มีกลไกในการวัดปริมาณมลพิษที่ลดลง โดย R-AASMAN เครื่องมือตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษแบบเรียลไทม์ของรัฐบาล ไม่ได้ใช้งานมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งหากไม่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ ไม่มีผลที่เห็นชัดได้จริง ต่อไปก็จะบังคับใช้กฎหมายได้ยากขึ้น 

ท่ามกลางความกังวลทั้งหมดนี้ ทางการหันมาใช้โดรนในการติดตามจุดที่มีมลพิษสูง เพราะสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ยากต่อการเข้าถึง เช่น เขตเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่านหรือเขตอุตสาหกรรม แต่โดรนไม่สามารถช่วยตรวจสอบและติดตามผลได้ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่จำเป็นต้องสังเกตและบังคับใช้การเปลี่ยนแปลง เช่น เปลี่ยนเส้นทางการจราจรหรือปิดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษบางอย่างด้วยตนเอง

ต่อให้อินเดียสามารถหยุดยั้งการเกิดมลพิษทางอากาศในประเทศได้ แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้ง PM.2 ได้อยู่ดี เพราะภาพถ่ายดาวเทียมของนาซ่าแสดงให้เห็นว่าหมอกควันหนาทึบที่เกิดจากการเผาในภาคการเกษตรกำลังปกคลุมที่ราบลุ่มที่ราบลุ่มแม่น้ำสินธุ-คงคาทั้งหมด ซึ่งทอดยาวไปทางตอนเหนือของอินเดียและปากีสถาน ดังนั้นทุกเมืองทั้งสองประเทศจำเป็นจะต้องแก้ปัญหานี้ร่วมกัน

ซานิก เดย์ ศาสตราจารย์จากศูนย์วิทยาศาสตร์บรรยากาศแห่งสถาบันเทคโนโลยีอินเดีย  กล่าวว่าข้อมูลจากดาวเทียมกำลังพยายามแนวทางแก้ปัญหาภายในเมือง ไปสู่แนวทางแก้ปัญหาระดับภูมิภาค ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากกระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาลกลางและหน่วยงานท้องถิ่น ทำให้อินเดียพยายามจะทำให้โครงการอากาศสะอาดแห่งชาติเกิดขึ้นให้ได้

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าคุณภาพอากาศในกรุงนิวเดลีไม่น่าจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทศวรรษหน้า หากไม่มีการดำเนินการทางการเมืองที่เด็ดขาด และไม่สามารถควบคุมความต้องการพลังงาน การขยายตัวของเมือง และการจัดการกับเทคโนโลยีที่ก่อมลพิษอย่างหนัก เช่น พลังงานความร้อน เหล็กกล้า และการขนส่ง ต่อให้มีเทคโนโลยีควบคุมมลพิษก็ตาม


ที่มา: Wired