เชียงราย หนึ่งในพื้นที่นำร่องปฏิบัติการ ร่วมลดหมอกควันข้ามแดน

เชียงราย หนึ่งในพื้นที่นำร่องปฏิบัติการ ร่วมลดหมอกควันข้ามแดน

เชียงราย หนึ่งในพื้นที่วิกฤติไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ รวมถึงวิกฤติภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม ดินถล่ม ภัยแล้ง แผ่นดินไหว เนื่องจากสภาพที่ตั้งภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน และมีแม่น้ำสำคัญหลายสาย ทำให้เชียงรายเผชิญกับภัยธรรมชาติและสร้างความเสียหายมาเป็นระยะๆ

การเผาป่าและเผาพื้นที่เกษตรในจังหวัดเชียงราย และหลายจังหวัดทางภาคเหนือ มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เดือนมกราคมถึงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนหยุดตกและอากาศแห้ง ทำให้การเผาเกิดขึ้นได้ง่าย โดยเฉพาะการเผาป่าและเตรียมพื้นที่ทำการเกษตร ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาหมอกควันรุนแรงตามมา

หมอกควันเชียงรายและหมอกควันข้ามแดน

ปัญหาหมอกควันของจังหวัดเชียงราย มักจะรุนแรงมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เนื่องจากมีการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในอากาศ โดยมีนัยสัมพันธ์กับจุด Hotspot ที่สูงและต่อเนื่องในทุกปี

เชียงราย หนึ่งในพื้นที่นำร่องปฏิบัติการ ร่วมลดหมอกควันข้ามแดน

มวลควันขนาดใหญ่ลอยสูงจากประเทศเพื่อนบ้านในห้วงเวลาเดียวกันอย่างต่อเนื่อง ถูกสะสมจากสภาพอากาศปิด ค่าฝุ่นมลพิษสูงปกคลุม ปัญหาหมอกควันไม่มีเขตพรมแดน จึงยากต่อการควบคุมร่วมกันได้

การเกิดหมอกควันข้ามแดน จึงส่งผลกระทบเชิงประจักษ์และส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนวงกว้างต่อชีวิตประจำวัน รวมถึงส่งผลเสียต่อการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เมื่อผลกระทบเกิดขึ้นข้ามแดนประเทศในภูมิภาคอาเซียน จึงตั้งเป้าหมายลดหมอกควันและปลอดควันร่วมกัน

เชียงราย พื้นที่นำร่อง ร่วมปฏิบัติการลดหมอกควันข้ามแดน

เมื่อต้นปี 2567 ภายหลังการแถลงข่าวความร่วมมือกับจังหวัดเชียงราย และภาคส่วนต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานโครงการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว-เมียนมา ขับเคลื่อนการจัดการและลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน ด้วยการสนับสนุนสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)

ประเทศไทยได้เสนอ 2 อำเภอในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ อำเภอเวียงแก่น และอำเภอแม่สรวย เป็นพื้นที่เป้าหมายนำร่องเพื่อร่วมแสดงเจตนารมณ์ความร่วมมือทำงานเชิงรุกร่วมกันในการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้งในระดับนโยบายและในระดับพื้นที่

เชียงราย หนึ่งในพื้นที่นำร่องปฏิบัติการ ร่วมลดหมอกควันข้ามแดน

สานต่อแนวนโยบายของจังหวัดเชียงราย เชื่อมกลไกคณะกรรมการร่วมมือรักษาความสงบเรียบร้อยตามชายแดน ไทย-ลาว ระหว่างจังหวัดเชียงรายกับแขวงบ่อแก้ว ในการป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสังคม เสริมให้หัวเมืองคู่ขนานมีการดำเนินกิจกรรมและความร่วมมืออันดีระหว่างกัน

บริเวณแนวเขตชายแดนผาตั้ง หนึ่งใน 2 พื้นที่นำร่องตั้งอยู่บนเทือกเขาของดอยผาหม่นตามแนวเขตไทยกับลาว ช่วงหน้าแล้งพบการเผาป่าบริเวณรอยต่ออย่างต่อเนื่องและลุกลามข้ามแนวเขตบริเวณกว้าง เกิดหมอกควันข้ามแนวเขตตามมา ยากแก่การควบคุมและสกัดร่วมกันได้ ส่งผลกระทบความเสียหายของพื้นที่ป่าจำนวนมาก และมักเกิดขึ้นในพื้นที่เดิม

และอีกหนึ่งพื้นที่คือ บ้านโป่งกลางน้ำ หมู่ที่ 12 เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย มีพื้นที่เป็นภูเขาและที่ราบเชิงหุบเขา ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย ในอดีตพบว่าพื้นที่มีจุดความร้อนจากการเผาเป็นจำนวนมากที่สุดในตำบล

ผู้นำชุมชนและลูกบ้านได้ร่วมกันเฝ้าระวังป้องกันการเผาและไฟลามแปลงเกษตร เพื่อปกป้องพืชเศรษฐกิจสำคัญคือ ชา กาแฟ และยาง และเน้นเพาะปลูกแบบระบบเกษตรอินทรีย์

เชียงราย หนึ่งในพื้นที่นำร่องปฏิบัติการ ร่วมลดหมอกควันข้ามแดน

แนวปฏิบัติดี ลดเผาและลดหมอกควัน ความร่วมมือไทย-ลาว ลมหายใจเดียวกัน

แนวทางปฏิบัติการจัดการลดเผาและลดหมอกควัน อย่างน้อย 2 รูปแบบ ถูกริเริ่มขึ้น พร้อมสร้างความตระหนักต่อการจัดการเกษตรที่ยั่งยืน สอดคล้องกับสภาพปัญหาของพื้นที่ เป็นความต้องการร่วมของผู้นำภาคี ดำเนินการปฏิบัติได้ง่าย เกิดความร่วมมือลดการเผาและลดหมอกควันข้ามแดน ได้แก่

  • ความร่วมมือลดการเผา ลดหมอกควันข้ามแดน 2 แผ่นดิน แนวกันชน (Buffer Zone) เขตชายแดนพื้นที่ผาตั้ง พัฒนาเครือข่ายใน 3 ท้องถิ่น ของอำเภอเวียงแก่น ร่วมกันสกัดกั้น รณรงค์ลดและควบคุมการเผาไหม้ตลอดแนวเขตแดน ป้องกันการลุกลามของไฟลามไปยังแปลงเกษตร ควบคู่กับการส่งเสริมวิถีเกษตรลดการเผาตลอดแนวพื้นที่ สร้างสัมพันธ์อันดีตามแนวชายแดน 2 แผ่นดิน 3 เมือง ร่วมกับ สปป.ลาว ให้เกิดความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง
  • ธนาคารปุ๋ยหมู่บ้าน กลุ่มเกษตรกรบ้านโป่งกลางน้ำ ต.วาวี อ.แม่สรวย ส่งเสริมและรณรงค์ให้เกษตรกรรวมรวมเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร จากแปลงหลังเก็บเกี่ยวพืชที่เสี่ยง รวบรวมนำมาฝากและผลิตเป็นสารปรับปรุงดินและปุ๋ยอินทรีย์ แบ่งปันให้กับสมาชิก นำไปใช้ประโยชน์หมุนเวียนในแปลงเกษตร ลดต้นทุนการผลิต ลดปัญหาการเผาเศษพืช พร้อมกระตุ้นให้เกิดกระบวนการวิถีปฏิบัติในฤดูการผลิตทุก ๆ ปี เริ่มจากผู้นำหมู่บ้าน ผู้สนใจ และค่อยขยายผลในกลุ่มบ้าน

ความร่วมมือลดการเผาและลดหมอกควันข้ามแดนข้างต้น ถูกริเริ่มด้วยความร่วมมือและหวังผลการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาการเผาและลดการเผาในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงนี้ โดยเน้นผลเชิงประจักษ์ เพื่อให้การริเริ่มนี้ได้เป็นเกิดวิถีที่ดีในทุกรอบปีของการผลิตลดหารเผาในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายนให้เป็นวิถีปฏิบัติ เกิดกระบวนการความร่วมมือและได้ขยายวงการปฏิบัติให้กว้างขวาง

อีกทั้งได้รับการเสริมพลังจากหน่วยงานภายนอกเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพื้นที่ ช่วยกันลดการเผาและลดหมอกควันข้ามแดน อันจะเป็นการลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของประเทศให้เกิดผลที่ยั่งยืนต่อไป.

เรียบเรียง โดย วิลาวรรณ น้อยภา  หัวหน้าโครงการฯ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

เชียงราย หนึ่งในพื้นที่นำร่องปฏิบัติการ ร่วมลดหมอกควันข้ามแดน