เปลี่ยนมุมมอง เปลี่ยนศักยภาพทีมงาน!
กฎระเบียบหยุมหยิม จะกลายเป็นเรื่องเกินความจำเป็น ความยืดหยุ่นในการทำงาน ความสบายใจ ความไว้วางใจจะส่งผลกับผลของงานในที่สุด
Part 1. การปรับเปลี่ยนที่น่าสนใจ!?
ใครจะไปคิดว่า บริษัทที่ปรึกษายักษใหญ่ของอเมริกาและใหญ่ระดับโลกอย่าง PWC ที่เราเรียกกันติดปากว่า บริษัทไพรซ์ วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ เพิ่งประกาศนโยบาย ให้พนักงานสามารถเลือกเวลาเข้างาน เลือกวันทำงานเลือกวันหยุดได้เอง พูดง่ายๆเลิกวิธีการเข้าบ้าน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น!
ไม่ว่าแรงขับหรือแรงบันดาลใจอะไรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ จะเกิดจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดที่ผ่านมาที่พนักงาน Work From Home ได้หรือด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ สิ่งที่บริษัท PWC เน้นในปัจจุบันและอนาคตคือ จะดูที่ผลงานเป็นหลัก โดยยืดหยุ่นในเรื่องเวลาการเข้างานและต่อไปก็จะอนุญาตให้พนักงานหยุดในวันศุกร์ครึ่งวันได้ เพื่อจะได้มีเวลาให้กับครอบครัว
คงยากที่ทุกธุรกิจจะทำแบบนี้ แต่ก็มีโอกาสที่หลายธุรกิจสามารถนำแนวคิดนี้มาปฏิบัติได้ ยิ่งสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดโควิดระลอกล่าสุดในกรุงเทพที่ลามไปเกือบทั่วประเทศได้พอดี ไม่ได้หมายความว่าให้เลียนแบบบริษัท PWC แต่ให้เรียนรู้และรู้จักคิดเอง ไม่ใช่นั่งรอลอกเดินตามโดยคิดไม่เป็นครับ
บริษัทที่จะทำแบบนี้ได้ ต้องเริ่มต้นที่ผู้นำ ที่มีความเชื่อมั่น ไว้ใจทีมงานครับ! และถ้าจะเริ่มต้นด้วยการไว้ใจทีมงานทุกระดับ ต้องเข้าใจแนวทางแบบนี้ครับ
Part 2. เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าครับ!?
ต้องเข้าใจธรรมชาติของคนทุกคนว่า..ทั้งผู้นำและทีมงานทุกคน ต่างก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย... ต่างก็มีเรื่องที่ทำได้ดี เรื่องที่ทำพอใช้ได้ ไปจนถึงเรื่องที่ผิดพลาด...
แต่บรรดาผู้จัดการและผู้บริหารทุกระดับมักคาดหวังว่า พนักงานโดยเฉพาะลูกน้องของตนเองจะต้องไม่มีข้อผิดพลาด และต้องได้ดังใจ! ถ้าเริ่มต้นด้วยการคิดแบบนี้...แค่คิดก็ผิดแล้วครับ!
Part 3.ตั้งคำถาม...สิ่งที่ทำในปัจจุบันกับผลที่ตามมา!
ลองถามตัวเองดูนะครับ..'ตัวท่านเอง สมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ สำหรับลูกน้อง สำหรับคนอื่นหรือเปล่า?!' ตอนที่ท่านยังเป็นลูกน้อง ท่านผิดพลาดและไม่ได้ดังใจเจ้านายของท่านกี่เรื่องกี่ครั้ง?
ปัจจุบัน ท่านก็ยังมีข้อบกพร่อง ข้อผิดพลาดอยู่บ่อยๆไม่ใช่หรือ? ก็ในเมื่อโลกแห่งความเป็นจริง ทุกคนไม่มีใครไร้ที่ติ และไม่มีใครไร้ที่ชม....
คำถามก็คือ... 'แต่ละวันที่ผ่านมา ท่านเน้น ติ/ตำหนิลูกน้องของท่านเป็นหลัก ใช่หรือไม่?' และนอกจากติ ตำหนิควบคู่ไปกับการจับผิด... ท่านได้แก้ไข หรือทำอะไร 'ในเชิงสร้างสรรค์' กับคนที่ท่านตำหนิบ้างหรือไม่!?
เชื่อเถอะครับ..ไม่มีลูกน้องหรือพนักงานคนไหน จะพัฒนาและดีขึ้นได้... 'ภายใต้การดุด่า ต่อว่าหรือตำหนิอย่างไม่สร้างสรรค์!' แต่มั่นใจได้เลยว่า... ขวัญกำลังใจ และความสามารถจะตกต่ำลงเรื่อยๆ...กับการตำหนิและถูกจับผิดที่เต็มไปด้วยอคติของเจ้านาย!"
Part 4. เปลี่ยนคำถามใหม่!?
คำถามที่ควรถาม... 'ท่านเคย มองและเห็นข้อดี ของลูกน้องของท่านแต่ละคนหรือไม่?' หรือมองเห็นแต่ข้อดีไปหมดเฉพาะลูกน้องคนโปรด... ส่วนลูกน้องที่ไม่โปรด..ไม่เคยเห็นสิ่งดีๆเลย!?
บ่อยครั้งมากที่ผมไป Coach ผู้บริหารระดับสูง/ผู้จัดการทุกแผนก..ในแต่ละองค์กรให้ 'เปลี่ยนมุมมอง' ที่มีกับลูกน้อง... ให้เลิกมองแบบคาดหวังในสิ่งที่เกินจริง...ให้เลิกมองแบบมีอคติ ให้เลิกมองแบบจ้องแต่จับผิด ให้มองมุมใหม่... เราเห็นด้านดีๆ เรื่องใดจากลูกน้องแต่ละคนบ้าง...?
เห็นแล้ว...ควรทำยังไงต่อ? เพื่อให้ลูกน้องแต่ละคนรักษาด้านที่ดี ต่อยอดด้านที่ดี จนกลายเป็นจุดแข็งที่สามารถนำมาใช้กับเรื่องงานได้ และยังทำให้ลูกน้องมีขวัญกำลังใจมากขึ้น จากการได้รับความไว้วางใจ ได้รับคำชม (ที่ไม่เกินจริง).
Part 5. เริ่มได้ไม่ยาก...
อันที่จริงเรื่องการ 'บริหารคน' มีตำรับตำรา ทฤษฎีมากมายจากโลกตะวันตก... จะว่าไปแล้ว...บริหารลูกน้องแบบไทยๆ ไม่ต้องใช้ทฤษฎีอะไรมากมายให้ปวดหัว... ใช้เพียงแค่ “จิตที่คิดดี” มีความปรารถนาดีที่จะพัฒนา ส่งเสริมลูกน้องแต่ละคนที่ดี ที่ตั้งใจ ให้เต็มที่ที่สุด ส่วนคนไหนที่ 'ร้ายกาจเกินเยียวยา' ก็ตัดทิ้ง ก็แค่นั้น!
ผมเห็นบรรดาผู้จัดการ ผู้บริหาร เรียนรู้ เข้าอบรม หรืออ่านตำรับตำราการบริหารคนซะมากมายก่ายกอง...แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถข้ามพ้น 'จิตใจที่คับแคบของตนเอง' ไปได้!
วันๆเอาแต่คาดหวังในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้จับแต่ผิด ไม่คิดจับถูก จึงเจอปัญหาเรื่องลูกน้องไม่เว้นแต่ละวัน ถ้าเข้าใจ 'สภาพความเป็นจริงของลูกน้องแต่ละคนแล้ว'... ความคาดหวังที่ผิดๆก็จะค่อยๆเปลี่ยนเป็น ความมุ่งมั่นที่จะเล็งเห็นด้านที่ดี และพยายามช่วยแก้ไขพัฒนาเรื่องที่ยังต้องปรับปรุงด้วยความเข้าใจปราศจากอคติ นอกจากบรรยากาศการทำงานจะดีขึ้น ขวัญกำลังใจของลูกน้องก็ดีขึ้น
เรื่องที่ดีอีกเรื่องก็คือ..บรรดาผู้บริหารที่เปลี่ยนมุมมอง ก็จะเข้าใจลูกน้องมากขึ้น ความเครียดความหงุดหงิดงุ่นง่านที่เคยจ้องแต่จับผิดก็หายไป ทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้น สรุปทุกข์น้อยลงสุขเพิ่มขึ้นทั้งเจ้านายและลูกน้อง!
Part 6.อย่าเชื่อผม!
จนกว่าท่านจะไปลองคิด ลองเปลี่ยนมุมมองในเรื่องลูกน้องของท่าน... พยายามเล็งให้เห็นด้านที่ดี และชมอย่างสร้างสรรค์ ส่วนด้านที่บกพร่องหรือทำผิดพลาดที่ไม่ใช่ผิดซ้ำซากหรือตั้งใจสร้างปัญหา ท่านก็คุยก็พยายามเป็น Coach อย่างสร้างสรรค์ ให้ทั้งกำลังใจ ให้ทั้งคำชี้แนะ กระตุ้นให้คิดให้แก้ไขด้วยคำถามอย่างสร้างสรรค์
ไม่นานหรอกครับ ท่านจะพบว่า ทีมของท่าน.. จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีอย่างที่ท่านเองก็คาดไม่ถึง ความไว้วางใจจะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายทั้งตัวท่านและลูกน้อง กฎระเบียบหยุมหยิม จะกลายเป็นเรื่องเกินความจำเป็น ความยืดหยุ่นในการทำงาน ความสบายใจ ความไว้วางใจจะส่งผลกับผลของงานในที่สุด
ย้ำอีกครั้ง...อย่าเชื่อผม จนกว่าท่านจะลองทำ!