ถอดสูตรความสำเร็จ ‘วชิรวิทย์ พูน’ แห่ง AEG ที่เข้ามาเปลี่ยนหนี้ร้อยล้านเป็นกำไร

ถอดสูตรความสำเร็จ ‘วชิรวิทย์ พูน’  แห่ง AEG ที่เข้ามาเปลี่ยนหนี้ร้อยล้านเป็นกำไร

“คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนสำรวจโลกทัศน์ของ วชิรวิทย์ พูน หรือ "พี่จ๋าย" รองผู้อำนวยการแห่งแองโกลอีสต์ กรุ๊ป (AEG) นักธุรกิจหนุ่มผู้ไม่ยอมแพ้ต่อความท้าทาย และเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทุ่มเท เรียนรู้ และพร้อมเผชิญหน้ากับทุกอุปสรรค จนสามารถเปลี่ยนหนี้ร้อยล้านเป็นกำไรได้

ในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน มีนักธุรกิจรุ่นใหม่เพียงไม่กี่คนที่สามารถก้าวข้ามความท้าทายและสานต่อธุรกิจของครอบครัวได้อย่างน่าประทับใจ เส้นทางสู่ความสำเร็จไม่เคยราบรื่น โดยเฉพาะสำหรับผู้นำเจเนอเรชันใหม่ที่ต้องการพลิกโฉมธุรกิจครอบครัว โดยเฉพาะเมื่อต้องแบกรับภาระหนี้สิน แต่ด้วยความเชื่อมั่นและวินัยอันเข้มแข็ง เขาสามารถพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสได้

ภายใต้บรรยากาศการทำงานที่เข้มข้นและกดดัน เขาได้สร้างอัตลักษณ์ของตัวเองและองค์กรด้วยปรัชญาการทำงานแบบ "AT EASE" ซึ่งไม่ได้หมายถึงความผ่อนคลาย แต่เป็นการมุ่งมั่นให้ผู้ที่ใช้บริการ ตลอดจนพนักงาน และทุกหน่วยงานที่ติดต่อด้วย รู้สึกสบายใจเมื่อมี AEG อยู่ด้วย เป็นการสร้างพื้นที่ให้ทั้งตัวเขาเองและทีมงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ท่ามกลางช่วงวัยเด็กเติบโตมาในครอบครัวที่ให้ความสำคัญกับการทำงาน การเห็นพ่อแม่ทุ่มเทกับการงานตั้งแต่ตีห้าจนถึงตีสอง กลายเป็นบทเรียนชีวิตที่หล่อหลอมทัศนคติการทำงานจนอาจจะทำให้เขาเป็นหนึ่งคนที่มีนิยามของคำว่า “Work-Life Balance” ในแบบฉบับของตัวเอง คือ การมีความสุขในสิ่งที่ทำและให้ความหมายกับชีวิต มากกว่าการจะจำกัดคำนี้ด้วยเวลาในแต่ละวัน

 

ที่สำคัญ ทักษะที่โดดเด่นและช่วยให้เขาประสบความสำเร็จในปัจจุบันคือการเป็น“นักขายที่เก่งและมีวินัย” ไม่ใช่แค่การขายสินค้าหรือบริการ แต่คือการขายวิสัยทัศน์และสร้างความเชื่อมั่น ให้ความสำคัญกับวินัยและความมุ่งมั่นซึ่งสามารถส่งต่อถึงบุคลากรภายในองค์กรเช่นกัน

เพื่อเข้าใจวิธีคิด การทำงาน และการใช้ชีวิตของผู้บริหารท่านนี้มากขึ้น “คอลัมน์ The Thought Leaders ผู้นำทางความคิด” ชวนสำรวจโลกทัศน์ของ วชิรวิทย์ พูน หรือ "พี่จ๋าย" รองผู้อำนวยการแห่งแองโกลอีสต์ กรุ๊ป (AEG) นักธุรกิจหนุ่มผู้ไม่ยอมแพ้ต่อความท้าทาย และเชื่อว่าความสำเร็จมาจากการทุ่มเท เรียนรู้ และพร้อมเผชิญหน้ากับทุกอุปสรรค

ถอดสูตรความสำเร็จ ‘วชิรวิทย์ พูน’  แห่ง AEG ที่เข้ามาเปลี่ยนหนี้ร้อยล้านเป็นกำไร

กิจวัตรประจำวันเป็นยังไงบ้าง

ผมค่อนข้างจะเป็นลองเดย์นิดหนึ่งคือจะเริ่มวันเช้าหน่อยโดยปกติก็ประมาณ 6 โมง คือเราตื่นมา ก็ต้องออกกำลังกายซึ่งอันนี้เป็นรูทีนที่ผมเชื่อว่า เราต้องมีพลังงานที่ดีก่อนที่จะทํางานหรือเริ่มทำอะไรก็ตาม

ถ้าวันไหนไม่ได้มีนัดเช้ามาก ก็ออกกําลังกาย ไปยิม แต่ว่าถ้าตารางแน่นแล้วเหลือเวลาแค่ 15 - 20 นาที ก็จะทำ Intensive Weight Training เช่นวิดพื้น สควอท หรือดึงข้อ เสร็จปุ๊บมาที่ทำงานก็จะเริ่มประชุมด้วยหรือบางวันอาจจะออกไปคุยกับลูกค้าสลับกันไปตั้งแต่เช้าไปจนถึงเลิกงาน

พอตกเย็นจะเป็นเวลาส่วนตัว ถ้าไม่มีงานนัดไปงานข้างนอก อีเวนต์หรือทานอาหารกับลูกค้า และโดยปกติแล้วก็จะทำงานไปจนถึงสักประมาณ 5 ทุ่มครึ่งเที่ยงคืนแล้วค่อยเข้านอน

แต่ว่าถ้าเป็นวันเสาร์อาทิตย์ ต้องบอกว่าผมทำงานวันเสาร์ด้วยเพราะเราโตมาแบบนั้น ส่วนวันอาทิตย์เราก็จะมีเวลานิดหน่อย ก็อาจจะไปออกกําลังกายไปเล่นกอล์ฟ ไปเล่นฟุตบอล พบปะกับเพื่อน ๆ แล้วตอนเย็นก็เตรียมตัวไปทำงานวันจันทร์

ที่สำคัญปกติแล้วตอนเย็นหลังเลิกงานจะเป็นช่วงที่ได้อยู่เงียบ ๆ คนเดียว จะเป็นช่วงเวลาที่ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น มาทำ Self Reflection สิ่งที่ทำอยู่อะไรโอเค อะไรไม่โอเค อะไรต้อง explore ทีมไหนต้องทำงานด้วยเยอะหน่อยหรือเราจะพัฒนาเราจะส่งเสริมน้องในทีมได้ยังไง

ถอดสูตรความสำเร็จ ‘วชิรวิทย์ พูน’  แห่ง AEG ที่เข้ามาเปลี่ยนหนี้ร้อยล้านเป็นกำไร

คิดว่าตัวเองเป็นผู้บริหารแบบไหน

การทำงานที่มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและความเข้าใจในศักยภาพของตนเอง หัวใจสำคัญคือการสร้าง "ความสบายใจ" (AT EASE) ในการปฏิบัติงาน โดยเริ่มจากการกำหนดเป้าหมายที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นยอดขาย กระบวนการทำงาน หรือระยะเวลาในการส่งมอบงาน เมื่อพนักงานเข้าใจอย่างชัดเจนว่าหากทำงานได้ตามเกณฑ์จะได้รับผลตอบแทนเช่นไร พวกเขาจะรู้สึกสบายใจและมีแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน

ความยืดหยุ่นในการทำงานเป็นอีกปัจจัยสำคัญ พนักงานแต่ละคนมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน บางคนอาจทำงานในเวลาปกติ ในขณะที่บางคนพร้อมทุ่มเทเวลาตั้งแต่เช้าจรดค่ำ สิ่งสำคัญคือการยอมรับความแตกต่างและศักยภาพที่ไม่เท่ากันของแต่ละบุคคล การสนับสนุนให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตามแบบฉบับของตนเอง

นอกจากนี้ การดูแลลูกค้าถือเป็นอีกมิติที่สำคัญของการทำงานด้วยความสบายใจ องค์กรต้องมีระบบการจัดการความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) ที่มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นการติดตามและตอบสนองความต้องการอย่างรวดเร็วและใกล้ชิด การสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องจะนำมาซึ่งความไว้วางใจและความสำเร็จขององค์กร

สุดท้ายหลักการทำงานด้วยคำว่า "AT EASE" ก็คือการทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข มีเป้าหมายที่ชัดเจน และมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงกระบวนการทำงาน พัฒนาทักษะ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อความก้าวหน้าขององค์กรและตัวบุคลากรเอง

AEG ขยายไปหลายที่ทั่วอาเซียน เคยเจอความแตกต่างทางด้านการทำงานของแต่ละประเทศไหม

ความแตกต่างแรกคือเรื่องเวลา แต่ไม่มากเพราะแต่ละประเทศในอาเซียนห่างกันเพียง 1 ชั่วโมง แต่ผมก็ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า แม้เราจะประชุมข้ามเวลา แต่ก็ไม่ได้ต่างกันมากนัก อาจจะต่างแค่ช่วงเวลาเริ่มงานและเลิกงาน

มากไปกว่านั้น จากประสบการณ์ทำงานกับทีมในหลายที่ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ผมพบความแตกต่างที่น่าสนใจ เช่น การเตรียมงานจิวเวลรี่แฟร์ในฮ่องกงที่มีผู้ผลิตถึง 6,000 คน เมื่อคุยกันจบ เขาจะตอบกลับภายในหนึ่งชั่วโมง และจัดการงานอย่างรวดเร็วรวมทั้งมีรายละเอียดมาให้ครบถ้วน

อย่างมาเลเซีย แม้จะมีคนน้อยกว่า แต่ก็มีวัฒนธรรมการทำงานคล้ายกัน คือตอบเร็ว และมีการจัดการที่ดี บางประเทศต้องมีการจัดการแบบ “MICRO MANAGE” คือควบคุมรายละเอียดอย่างใกล้ชิด บางประเทศปล่อยให้อิสระแล้วมาสรุปตอนท้าย

ความสนุกของการทำงานข้ามวัฒนธรรมคือการปรับตัวและเรียนรู้ระหว่างกัน ทีมของเราทุกคนทำงานดี มีความรับผิดชอบ และมีคุณภาพ นี่คือสิ่งที่ผมภูมิใจ การเปิดใจเรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างจะช่วยให้เราทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ถอดสูตรความสำเร็จ ‘วชิรวิทย์ พูน’  แห่ง AEG ที่เข้ามาเปลี่ยนหนี้ร้อยล้านเป็นกำไร

พี่จ๋ายเคยให้สัมภาษณ์ว่าหนึ่งในสกิลที่ผู้ก่อตั้งและเจ้าของธุรกิจควรมีคือสกิลการขาย เพราะอะไร

ในโลกของธุรกิจ ทักษะการขายถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้ง ผู้บริหาร หรือเจ้าของกิจการต่างต้องมี การขายไม่ได้หมายถึงเพียงการขายสินค้าหรือบริการ แต่หมายรวมถึงความสามารถในการสื่อสารวิสัยทัศน์ สร้างความเชื่อมั่น และนำพาธุรกิจไปข้างหน้า

เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้ง Amazon เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ เขาถูกปฏิเสธถึง 60 ครั้งก่อนที่จะได้รับการสนับสนุน แต่ความพยายามในการขายไอเดียและความเชื่อมั่นในตัวเองทำให้เขาสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่อขายได้ก็จะมีเงิน และกระแสเงินสดและความสามารถในการหมุนเวียนทรัพยากรนี่แหละเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอด

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งใดในองค์กร การเป็นนักขายที่ดีคือทักษะที่จะช่วยผลักดันให้คุณก้าวหน้า การขายที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงแต่สร้างรายได้ แต่ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทีมงาน และลูกค้าด้วย

แล้วทักษะอะไรทำให้เราเป็นนักขายที่ดี

วินัยคือกุญแจสำคัญของความสำเร็จในการขาย ผมทำงานใกล้ชิดกับทีมเซลล์และสังเกตเห็นว่าเซลล์ที่ประสบความสำเร็จจริง ๆ มีเพียงไม่กี่คน โดยสิ่งที่พวกเขามีเหมือนกันคือ "วินัย"

วินัยในการขายไม่ได้หมายถึงแค่การปิดการขาย แต่หมายถึงความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ผมเคยมีประสบการณ์กับเซลล์หลายคน และพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จจะมีคุณสมบัติพิเศษ เช่น:

1. รู้จักผลิตภัณฑ์อย่างลึกซึ้ง

2. สามารถตอบคำถามลูกค้าได้อย่างชัดเจน

3. กล้าที่จะรับฟังคำติชม

4. มีวินัยในการติดตามลูกค้า

ผมเคยโดนลูกค้าปฏิเสธหลายครั้ง ก็มีบางครั้งที่เรารู้สึกเจ็บปวด แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีวินัยในการปรับปรุงและเรียนรู้ ไม่ว่าจะถูกปฏิเสธกี่ครั้ง ก็ต้องสามารถลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่

การติดตามลูกค้าอย่างมีระบบเป็นเรื่องสำคัญ ผมเคยติดตามลูกค้ารายหนึ่งถึง 4 ปี ก่อนที่จะได้รับโอกาส นี่คือตัวอย่างของความอดทนและวินัย สำหรับผม การเป็นเซลล์ที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คนที่ประสบความสำเร็จในการขายจะมีความสุขกับสิ่งที่พวกเขาทำ และนั่นคือความแตกต่างที่แท้จริง

ถอดสูตรความสำเร็จ ‘วชิรวิทย์ พูน’  แห่ง AEG ที่เข้ามาเปลี่ยนหนี้ร้อยล้านเป็นกำไร

พี่จ๋ายได้แนวคิดเรื่องความมีวินัยมาจากที่ไหน เห็นตัวอย่างมาจากคุณพ่อคุณแม่หรือเปล่า

ผมเติบโตมากับครอบครัวที่ไม่ได้พบปะหรือสื่อสารกันบ่อยนัก เนื่องจากทุกคนทำงานหนัก ไม่ได้อยู่ด้วยกันอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งที่ผมประทับใจ คือ การสอนโดยการกระทำ

ผมเห็นพ่อแม่ของผมทำงานอย่างทุ่มเท หรือแม้ว่าจะมีนัดหมายในที่ต่าง ๆ ทั้งในไทย ฮ่องกง มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย พวกท่านก็ยังคงทำงานอย่างจริงจัง ไปตามนัดตลอด แม่ผมออกจากบ้านตั้งแต่ตีห้าเพื่อไปทำงานและกลับบ้านดึกถึงตีสองหลังจากเลิกงาน

ผมเรียนรู้เรื่องวินัยจากการสังเกตการปฏิบัติของพ่อแม่ พวกท่านทำงานอย่างมุ่งมั่นและมีประสิทธิภาพ แม้จะอยู่ในช่วงที่สามารถพักผ่อนได้ แต่ก็ยังคงทำงานอย่างต่อเนื่อง นี่คือบทเรียนชีวิตที่ผมได้รับโดยตรงจากการกระทำของพ่อแม่

ฟังแบบนี้แล้ว ส่วนตัวเชื่อเรื่องเวิร์คไลฟ์บาลานซ์ไหม

ผมไม่เคยเห็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จแล้วมีเวิร์คไลฟ์บาลานซ์เลย ไม่ว่าจะเป็นในหมู่ผู้ใหญ่ที่รู้จัก คุณพ่อคุณแม่ หรือแม้กระทั่งในระดับนานาชาติ

สิ่งที่ผมเห็นคือ คนส่วนใหญ่มักแบ่งชีวิตอย่างชัดเจนว่า ในช่วงที่ยังมีพลัง พวกเขาจะทุ่มเทกับการทำงานอย่างเต็มที่ บางคนทำงานวันละ 16-18 ชั่วโมง เพราะเชื่อว่าสามารถทำสิ่งที่คนอื่นทำใน 10 ปี ให้สำเร็จภายใน 5 ปีได้

มุมมองของผมคือ "ชีวิต" ไม่ได้หมายถึงการบินไปเที่ยวต่างประเทศ หรือนอนพักผ่อนที่บ้านเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของ "มายด์เซ็ต" ต่างหาก การมีความสุขกับสิ่งที่ทำ และการให้ความหมายกับชีวิตในแบบของตัวเองต่างหากคือความสำคัญ

ถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จทางด้านการเงิน ผมสังเกตว่าคนที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ คือคนที่ทุ่มเทและทำงานหนัก อาจมีบ้างที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องทำงานหนัก แต่นับได้ไม่กี่คน อาจจะเป็นเพียง 0.00001% เท่านั้น

ในฐานะ เจนฯ 2 ที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัว ยากไหม

ผมเริ่มต้นชีวิตค่อนข้างลำบาก เหมือนกับคนที่ต้องสานต่อกิจการครอบครัวหลาย ๆ คน ตอนนั้นธุรกิจของผมมีหนี้ค่อนข้างเยอะ จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั่วประเทศที่เราขยายกิจการไป สถานะทางการเงินไม่ได้สบายขนาดนั้น

ในฐานะเจนฯ 2 เมื่อต้องการเปลี่ยนแปลง ผมรู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องสร้าง "สมการ" ใหม่ ถ้าเรานำ 5 + 4 บวกยังไงมันก็ได้ 9 เหมือนเดิม แต่ถ้าเราอยากได้ผลลัพธ์แบบใหม่ ลองเพิ่ม 3 เข้าไปก็จะได้ 12 หรือเพิ่ม 10 ก็จะได้ 19

การเปลี่ยนแปลงต้องแลกมาด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองและทีมงาน ที่สำคัญตัวเราต้องพร้อมรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะดีหรือร้าย เหมือนกับนักวิ่งที่ล้มลง แต่ยังคงลุกขึ้นสู้ต่อไป แต่แค่ตอนนั้นผมเหมือนคนที่ล้มแล้วไม่มีใครมาคอยรับไว้

ผมเชื่อว่าถ้าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ต้องสร้างสรรค์มุมมองใหม่ และพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายทุกอย่างด้วยความมุ่งมั่น แม้บางครั้งจะรู้สึกโดดเดี่ยวและยากลำบาก แต่ความเชื่อมั่นจะเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญให้เราสำเร็จได้ในที่สุด

ถอดสูตรความสำเร็จ ‘วชิรวิทย์ พูน’  แห่ง AEG ที่เข้ามาเปลี่ยนหนี้ร้อยล้านเป็นกำไร

สุดท้ายมีหนังสือเล่มไหนที่ช่วยให้ผ่านช่วงเวลายากลำบากในการทำธุรกิจมาได้ไหม

เริ่มแรก แน่นอนว่าหนังสือพื้นฐานอย่าง How to Win Friends and Influence People ของเดล คาร์เนกี้ หรือ Think and Grow Rich ของนโปเลียน ฮิลล์ต้องอ่านเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว เพราะช่วยเรื่องการสื่อสารและพัฒนาตัวเอง

แต่อีกสองเล่มที่ผมนึกถึงจริง ๆ คือ

1. Blue Ocean Strategy: เป็นหนังสือที่ว่าด้วยเรื่อง Positioning ทางการตลาด ให้มุมมองเหมือนกับว่าในทะเลที่มีฉลามร้อยตัว เราจะยืนอยู่ตรงไหนดี ผมได้แง่คิดว่าการทำธุรกิจไม่จำเป็นต้องแข่งขันในทะเลที่เต็มไปด้วยคาวเลือดแออัด (Red Ocean) แต่สามารถหาทะเลที่ยังมีฝูงปลาชุกชุม (Blue Ocean) ที่ยังมีโอกาสได้ การเปลี่ยนมุมมองของตัวเองให้เป็น Blue Ocean คือการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง

2. The Art of the Deal ของโดนัลด์ ทรัมป์: ผมอ่านหนังสือเล่มนี้มานานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะลงสมัครเป็นประธานาธิบดี หนังสือเล่มนี้สอนผมเรื่องการเจรจาต่อรอง วิธีคิดในเชิงธุรกิจ และการวางแผนอย่างละเอียด เช่น เรื่องการตรวจสอบทุกรายละเอียดก่อนทำโครงการ การเจรจากับธนาคาร การบริหารโครงการก่อสร้าง

ทั้งสองเล่มนี้ช่วยให้ผมเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดในการทำธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งยังเป็นเหมือนเข็มทิศนำทางในเวลาที่ผมต้องเผชิญกับความยากลำบากในการทำงานด้วย (ยิ้ม)