อัตราเงินเฟ้อ.. เฟดใช้วิธีใดในการวัดบ้าง

อัตราเงินเฟ้อ.. เฟดใช้วิธีใดในการวัดบ้าง

ข่าวคราวอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ เป็นที่สนใจของหลายท่านที่ติดตามว่า เฟดจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไป บทความนี้จะกล่าวถึงวิธีที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อ

การประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายนนั้น ได้เริ่มมีความเห็นว่าอาจจะขึ้นดอกเบี้ยในช่วงปลายปี 2023 เลย ยิ่งทำให้ช่วงต่อไป ข่าวคราวเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อสหรัฐจะเป็นที่สนใจของหลายท่านที่ติดตามว่าเฟดจะดำเนินนโยบายอย่างไรต่อไป บทความนี้ จะขอกล่าวถึงการคำนวณอัตราเงินเฟ้อว่าวิธีที่ได้รับความนิยมมีอะไรบ้าง และแตกต่างกันอย่างไร

 วิธีการคิดอัตราเงินเฟ้อที่ได้รับความนิยมมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ วิธี Consumer Price Index (CPI)  และ  Personal Consumption Expenditure (PCE) โดยวิธี CPI  ซึ่งจัดทำโดย Bureau of Labor Statistics (BLS) จะทำการวัดระดับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเช็คหรือตรวจสอบต้นทุนค่าครองชีพ หรือ Cost of Living ที่ออกจากกระเป๋าของคนอเมริกันโดยเฉลี่ย

 ส่วน วิธี PCE ซึ่งจัดทำโดย Bureau of of Economic Analysis (BEA) จะทำการวัดระดับราคาที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเช็คหรือตรวจสอบราคาของสินค้าและบริการทุกอย่างที่บริโภคโดยภาคครัวเรือน ไม่ว่าใบเสร็จดังกล่าว จะถูกจ่ายโดยใครก็ตาม หรือ ไม่ว่าจะมีใบเสร็จรับเงินหรือไม่ก็ตามที

 ทั้งนี้ คาดกันว่า ในช่วงปลายปีนี้ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่วัดโดยวิธี CPI น่าจะสูงกว่าที่วัดโดยวิธี PCE ประมาณร้อยละ 1 จากการประเมินระดับอัตราเงินเฟ้อที่แตกต่างระหว่าง 2 วิธีดังกล่าว จากสินค้าในหมวดที่อยู่อาศัย รถมือสองกับรถบรรทุก และประกันสุขภาพ

 หากพิจารณาให้ละเอียดลงไป จะพบว่า การคำนวณอัตราเงินเฟ้อด้วยวิธี CPI ให้น้ำหนักที่น้อยกว่าต่อระดับราคาของกิจกรรมอย่างการไปหาหมอ ไปโรงพยาบาล และไปซื้อยาตามร้านขายยา เนื่องจากชาวอเมริกันสามารถดำเนินกิจกรรมเหล่านี้ โดยที่ไม่ต้องควักเงินจากกระเป๋าของตนเอง โดยประกันของนายจ้างและรัฐบาลเป็นผู้จ่ายให้ อย่างไรก็ดี ตามวิธี PCE นั้น บริการประกันสุขภาพและไปซื้อยาตามร้านขายยา มีน้ำหนักต่อการคำนวณอัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 20 ของทั้งหมดในการวิเคราะห์ด้วยวิธี PCE

 นอกจากนี้ การคำนวณอัตราเงินเฟ้อด้วยวิธี CPI ยังให้น้ำหนักที่น้อยกว่าเล็กน้อยต่อบริการทางการเงิน เนื่องจากไม่ได้คิดค่าบริการที่แฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ในขณะที่วิธีการคิดเงินเฟ้อแบบ PCE คำนวณต้นทุนแฝงดังกล่าว อาทิ ผ่านการปล่อยเงินสดแช่ไว้ในบัญชีโดยไม่มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ย

 ในทางกลับกัน วิธี CPI ให้น้ำหนักที่มากกว่าต่อสินค้าในหมวดที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค และน้ำมันสำเร็จรูป ในสัดส่วนที่มากกว่าวิธีการคิดเงินเฟ้อแบบ PCE นอกจากนี้ CPI  ยังให้น้ำหนักที่มากกว่าต่อการประกันด้านที่อยู่อาศัยและประกันรถยนต์มากกว่าวิธี PCE เนื่องจากใช้ในส่วนพรีเมี่ยมของประกัน  ไม่ใช่คิดจากมูลค่าที่บริษัทประกันจ่ายเมื่อได้รับความเสียหายที่ใช้ในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อแบบ CPI นอกจากนี้ วิธี CPI ไม่ได้รวมประกันชีวิตในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากมองว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนไม่ใช่เข้าข่ายหมวดบริการ

 ที่สำคัญ วิธี CPI ให้น้ำหนักต่อหมวดรถมือสองและรถบรรทุกมากกว่าวิธี PCE เนื่องจากวิธี CPI ไม่ได้พิจารณาถึงราคาที่สูงขึ้นของรถมือสองที่ผู้บริโภคจะได้รับเงินเพิ่มเติม เมื่อขายให้กับดีลเลอร์

นอกจากนี้ PCE จะคำนวณเงินเฟ้อในบัญชีเช็คกิ้งจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย ส่วน CPI ใช้ค่า Fee ในการคำนวณ ในส่วนของ CPI วัดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสำหรับเส้นทางการบินในเวลาที่แตกต่างกัน ส่วน PCE วัดโดยใช้การเปลี่ยนแปลงของค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อผู้โดยสารต่อไมล์ที่เดินทาง

 สำหรับจุดที่แตกต่างกันมากที่สุดสำหรับวิธีทั้งสอง มาจากการวัดราคาของการประกันสุขภาพ โดย CPI วัดจากจำนวนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายตรงให้กับบริษัทประกัน ส่วน PCE วัดจากรายได้รวมที่ทางประกันได้รับ ในลักษณะเดียวกัน ค่าประกันสุขภาพสำหรับวิธี PCE ใช้การจ่ายพรีเมี่ยมแบบสุทธิหักด้วยมูลค่าการบริการที่ได้รับ ส่วนวิธี CPI วัดจากการพิจารณากำไรสุทธิหลังหักเงินปันผลของบริษัทประกัน

 ความแตกต่างทั้งหมดดังกล่าว ส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อการวัดอัตราเงินเฟ้อในช่วงโควิด เริ่มจาก เดือนมกราคม 2020 ก่อนเหตุการณ์โควิดเล็กน้อย อัตราเงินเฟ้อแบบ CPI ที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี ในขณะที่แบบ PCE ที่ร้อยละ 1.5 จากนั้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 อัตราเงินเฟ้อแบบ CPI ที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี ในขณะที่แบบ PCE ที่ร้อยละ 1.4 แม้ว่าตามวิธี CPI ดูเหมือนว่าอัตราเงินเฟ้อชะลอลงมาก ทว่าวิธีที่ธนาคารกลางสหรัฐใช้มากกว่า คือ วิธี PCE

  162392948873

อัตราเงินเฟ้อแบบ CPI ในช่วงโควิด ที่มา: BLS

  

162392965128

อัตราเงินเฟ้อแบบ PCE ในช่วงโควิด 

 ทั้งนี้ การคำนวณแบบ CPI ให้อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงไม่มาก เมื่อเทียบกับวิธี PCE เนื่องจาก หนึ่ง วิธี CPI ใช้ภาคที่อยู่อาศัยซึ่งโดนกระทบเยอะในการคำนวณเงินเฟ้อ สอง CPI ใช้วิธีการวัดเงินเฟ้อในภาคประกันภัยจากอัตราส่วนกำไรสุทธิที่ลดลงมาก และ สาม สำหรับวิธี PCE เงินเฟ้อที่วัดไม่กระทบมากในภาคประกันสุขภาพ เนื่องจากใช้เม็ดเงินการช่วยเหลือจากภาครัฐในการคำนวณด้วย 

โดยเมื่อปี 2020 การที่อัตราเงินเฟ้อซึ่งวัดโดย CPI ลดลงมาแบบค่อนข้างผันผวนมากกว่าเงินเฟ้อโดย PCE น่าจะทำให้ในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อแบบที่วัดโดย CPI น่าจะขึ้นมาแบบผันผวนมากกว่าที่วัดแบบ PCE เช่นกัน ซึ่งน่าจะส่งผลให้เฟดกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อน้อยกว่าคาดเล็กน้อย เนื่องจากชอบใช้วิธี PCE เป็นหลักมากกว่า 

  หมายเหตุหนังสือการลงทุนเล่มใหม่ ‘หุ้น Avengers: Infinity Stock’  ว่าด้วยการใช้ข้อมูลและแนวคิดเชิงมหภาคแบบครบทุกมิติในการลงทุน ผลงานหนังสือเล่มที่ 5 ของผู้เขียน วางตลาดที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศแล้ว