LGBTQ+ กับความเคลื่อนไหวในตลาดอสังหาฯ
ตลอดทั้งเดือน มิ.ย.ของทุกปี จัดเป็นเดือนแห่งสีสันของสายรุ้งที่เป็นเดือนแห่งการความภาคภูมิใจและเฉลิมฉลองของชาว LGBTQ+ หรือเทศกาล Pride Month
เป็นช่วงเวลาที่จะร่วมกันแสดงออกถึงสิทธิและสนับสนุนความเท่าเทียมในความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเราก็ได้เห็นแบรนด์สินค้าและผู้ประกอบการในหลายธุรกิจเข้ามาจับกระแส Pride Month ในการทำการตลาดกันอย่างคึกคัก
รวมทั้งด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็มีความเคลื่อนไหว หลายค่ายก็ออกมามีส่วนร่วมกับโอกาสพิเศษนี้เช่นกัน ทั้งการออกแคมเปญการตลาดที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ และจับมือพันธมิตรธนาคารในการให้สินเชื่อคู่ชีวิตที่ครอบคลุมถึงกลุ่ม LGBTQ+ รวมถึงการลงนามในสัญญาสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมในองค์กรให้กับพนักงาน และพันธมิตรคู่ค้าที่มีความหลากหลายทางเพศ
ความเคลื่อนไหวในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มามีส่วนร่วมในเทศกาล Pride Month นี้ นอกจากจะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงการสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียมทางเพศแล้ว ยังถือเป็นโอกาสในการเข้ามาจับตลาดลูกค้ากลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอำนาจซื้อ เป็นตลาดกลุ่มใหม่ที่กำลังเติบโต
โดยข้อมูลของ เทอร์ร่า บีเคเค ที่เก็บข้อมูลลูกค้าจำนวน 1,132 ราย ในกลุ่มผู้มีรายได้มากกว่า 85,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป พบว่า LGBTQ+ มีสัดส่วนสูงถึง 19% และกลุ่มที่มีรายได้ 50,000-85,000 บาทต่อเดือน พบว่าคนกลุ่ม LGBTQ+ ก็มีจำนวนอยู่ที่ 23% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับชายหญิงทั่วไป ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูงเมื่อเปรียบเทียบกับคนในวัยเดียวกัน และมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นตลาด LGBTQ+ จึงเป็นอีกหนึ่งตลาดใหม่ที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายค่ายเข้ามาศึกษาและทำการตลาดเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ เช่น การดีลกับธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยสินเชื่อการกู้ร่วมสำหรับกลุ่มคู่ชีวิต LGBTQ+ โดยการกู้ร่วมเป็นการเซ็นสัญญายื่นกู้ทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน เพื่อแบ่งเบาภาระหนี้สำหรับการกู้ซื้อบ้าน แสดงให้สถาบันการเงินเห็นว่าผู้ร่วมรับภาระหนี้มีความสามารถทางการเงินเพียงพอที่จะผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามสัญญาที่ทำไว้กับธนาคาร ซึ่งการกู้ร่วมอาจทำให้ธนาคารพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้นและได้วงเงินเพิ่มขึ้นจากการกู้คนเดียว โดยคุณสมบัติของผู้กู้ร่วมคือต้องเป็นบุคคลในครอบครัว สามีภรรยา
แต่ปัจจุบันก็มีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้ทำข้อตกลงร่วมกับธนาคารพาณิชย์หลายรายที่ให้มีการกู้ร่วมสำหรับคู่รัก LGBTQ+ ด้วยเช่นกัน ซึ่งเงื่อนไขการกู้ร่วมเหมือนกับการกู้ร่วมปกติทุกประการ
โดยการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจะดูจากคุณสมบัติผู้กู้ วงเงินที่ขอกู้ รายได้ ภาระหนี้ อายุ ซึ่งคู่รัก LGBTQ+ สามารถเลือกใส่ชื่อในกรรมสิทธิ์ได้ทั้งแบบ 1 คนหรือ 2 คน (บางธนาคารอาจกำหนดให้เลือกใส่แบบ 2 คนเท่านั้น) โดยการเตรียมเอกสารสำหรับการยื่นกู้ร่วม มีเอกสารสำคัญ 3 ชุด ได้แก่ เอกสารส่วนตัว เอกสารทางการเงิน และเอกสารสินทรัพย์ ซึ่งในส่วนของเอกสารส่วนตัวสำหรับการกู้ร่วมของคู่รัก LGBTQ+ ที่ต้องมีเพิ่มเติม เช่น เอกสารรับรองการอยู่ร่วมกันโดยระบุความสัมพันธ์ในใบสมัครว่า “คู่รัก” รูปภาพยืนยันความสัมพันธ์ (บางแห่งกำหนด) ทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ร่วมกัน (ถ้ามี) เอกสารการกู้ร่วมซื้อรถยนต์ร่วมกัน (ถ้ามี) ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายธนาคารที่รับการกู้ร่วมของคู่รัก LGBTQ+ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเงื่อนไขกับแต่ละธนาคารได้โดยตรงครับ
การรณรงค์สนับสนุนความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ นอกจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และการทำแคมเปญทางการตลาดแล้ว ผู้ประกอบการในแต่ละบริษัทยังสามารถผลักดันเรื่องนี้ได้โดยเริ่มตั้งแต่นโยบายและการปฏิบัติในองค์กร
ทั้งในส่วนของการเปิดกว้างรับพนักงานที่มีความหลากหลายทางเพศ การสนับสนุนโอกาสทางการเติบโตในองค์กรโดยไม่จำกัดเพศ แต่พิจารณาที่ความสามารถและความเหมาะสมในสายงานนั้นๆ รวมทั้งการปฏิบัติที่เท่าเทียมทั้งกับพนักงาน ลูกค้า พันธมิตรคู่ค้า ก็สามารถร่วมเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้น่าอยู่สำหรับทุกคนทุกความหลากหลายมากขึ้นครับ