เมื่อรถยนต์เจอน้ำ

เมื่อรถยนต์เจอน้ำ

แรกทีเดียวผมคิดว่าปีนี้เราคงไม่ต้องมาคุยกันเรื่องน้ำท่วมอีกแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของรถยนต์ที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม เพราะปีนี้น่าจะเป็นปีที่ประเทศไทยเราเจอปัญหาน้ำท่วมหนักหนาสาหัสเอาการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดทางภาคเหนือ และเป็นน้ำที่ไหลลงมาจากพื้นที่สูงชันเช่นภูเขา เป็นน้ำที่มีดินโคลนปนมามากมายด้วย ทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก และจะเรียกว่าเป็นการท่วมซ้ำซากก็ว่าได้ เพราะในบางพื้นที่ เช่น อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หรือในบางอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ ก็ถูกน้ำและโคลนไหลมาถล่มมากกว่าหนึ่งครั้ง ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมาก็มีข่าวน้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมพื้นที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นน้ำที่ไหลมาจากที่สูงไหลเข้าตลาดและชุมชนในตอนกลางคืน ทำให้เกิดความเสียหายหนักในวงกว้าง นอกจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยจะเสียหายมากแล้ว รถยนต์ก็มีความเสียหายเกิดขึ้นจำนวนมากด้วยเช่นกัน โดยน้ำที่ท่วมเขตอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานีในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่คนในท้องที่แทบจะไม่มีใครคาดคิดได้ หลายคนบอกว่าในชีวิตนี้ไม่เคยเห็นน้ำท่วมในพื้นที่มาก่อน จึงไม่ได้เตรียมการป้องกันหรือเตรียมรับมือล่วงหน้าแต่อย่างใดทั้งสิ้น

ในฐานะที่ผมเคยไปทำมาหากินอยู่ทางจังหวัดอุทัยธานีมาบ้าง โดยเฉพาะแถบอำเภอบ้านไร่ และอำเภอลานสัก จึงพอจะมีคนรู้จักอยู่พอสมควร ซึ่งเมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้นมาก็ได้โทรศัพท์พูดคุยไต่ถามสารทุกข์สุกดิบกัน และได้รับคำถามเกี่ยวกับเรื่องของการบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ ผมได้ตอบกลับไปในการพูดคุยกันเรียบร้อยแล้ว แต่อยากจะเอามาพูดย้ำในพื้นที่ตรงนี้อีกสักครั้ง เผื่อว่าจะสามารถช่วยบรรดาเจ้าของรถท่านอื่นได้บ้างไม่มากก็น้อย

ประการแรก เมื่อรถยนต์ถูกน้ำท่วม ไม่ว่าจะท่วมหรือแช่น้ำนานเพียงใดก็ตาม และไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ดีเซล, เบนซิน, ไฮบริด หรือรถยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกก็คือ ถอดขั้วแบตเตอรี่ออกเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ จากนั้นเมื่อน้ำลดแล้วหรือเมื่อสามารถนำรถออกจากพื้นที่น้ำท่วมได้ จึงนำรถไปหาช่างเพื่อทำการฟื้นฟูสภาพต่อไป ให้หลีกเลี่ยงการสตาร์ตเครื่องยนต์ ยกเว้นแต่ในรถยนต์ดีเซลที่ไม่มีระบบไฟฟ้าซับซ้อนมากนัก 

หากมีช่างหรือตัวเจ้าของรถมีความรู้เรื่องเครื่องยนต์อยู่บ้าง เมื่อนำรถพ้นจากพื้นที่น้ำท่วมไปแล้ว ก็สามารถแก้ไขเบื้องต้นด้วยการไล่น้ำจากเครื่องยนต์ให้หมด เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและกรองน้ำมันเครื่อง จากนั้นก็ไล่น้ำและความชื้นออกจากระบบไฟ โดยไล่ไปตามซอกหลืบต่างๆ และบริเวณข้อต่อหรือปลั๊กที่อยู่ในรถทั้งหมด จะใช้ลมเป่าเบาๆให้ทั่ว หรือใช้สเปรย์ไล่ความชื้นฉีดไปให้ทั่ว หรือใช้ทั้งสองอย่างร่วมกันก็ได้ แล้วล้างระบบจ่ายเชื้อเพลิงทั้งหมด โดยการถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงออกจากถัง เปลี่ยนกรองเชื้อเพลิงใหม่ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์, น้ำมันเฟืองท้าย แล้วจึงต่อขั้วแบตเตอรี่เข้าไป จากนั้นให้ทดลองสตาร์ตเครื่องยนต์ขึ้นมา

สำหรับรถยนต์ที่มีความจำเป็นต้องขับรถลุยฝ่าน้ำที่ท่วมขัง ให้ประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ ประการแรกต้องรู้ให้ได้ถึงระดับความลึกของน้ำที่เราต้องขับรถฝ่าไป ต่อมาต้องประเมินความแรงของกระแสน้ำและทิศทางการไหลของน้ำ วิธีที่ดีที่สุดคือลงไปเดินบนเส้นทางที่เราต้องขับรถฝ่าน้ำท่วมไป เพื่อประเมินสภาพผิวถนนที่อยู่ใต้น้ำด้วย

เมื่อจำเป็นต้องขับรถฝ่าน้ำท่วม ให้ปิดเครื่องปรับอากาศ และเปิดกระจกขับรถไว้ตลอดเวลา เผื่อว่ามีใครส่งสัญญาณใด หรือมีคนตะโกนบอกถึงความเปลี่ยนแปลงใด คนที่ขับรถอยู่จะได้รับรู้ และแก้ไขหรือป้องกันได้ทันท่วงที เมื่อขับรถฝ่าถนนที่มีน้ำท่วม และมีรถยนต์แล่นสวนทางมา ให้เพิ่มความระมัดระวังให้มาก จับพวงมาลัยให้มั่นคง ลดความเร็วลง ใช้เกียร์ต่ำ เมื่อมีลูกคลื่นของรถที่แล่นสวนทางมาเข้ามากระทบกับตัวรถ อย่าถอนเท้าจากคันเร่งและอย่าเร่งความเร็วเพิ่มขึ้นเพื่อหนีคลื่นน้ำ ให้เดินเครื่องยนต์ในรอบปรกติ บังคับพวงมาลัยให้ไปตรงตามทิศทางที่สำรวจไว้แล้ว หากคลื่นพัดจนรถเสียทิศทาง ให้พยายามบังคับพวงมาลัยให้กลับเข้าสู่เส้นทางให้ได้

และถ้ารู้ล่วงหน้าว่าจะต้องเผชิญกับเส้นทางที่มีน้ำท่วม ควรหาสิ่งของมาถ่วงน้ำหนักรถเอาไว้บ้าง เช่น เอาถุงที่มีดินสำหรับปลูกต้นไม้สักสามสี่ถุงใส่ไว้ในรถ หรือถ้าเป็นรถปิกอัพก็อาจจะหาวัสดุที่มีน้ำหนักประมาณสักสองสามร้อยกิโลกรัมบรรทุกไว้ในกระบะ เป็นการถ่วงน้ำหนักรถไม่ให้ลอยจนล้อยกจากพื้นได้ง่ายๆ เมื่อโดนคลื่นจากรถคันอื่น หรือเมื่อมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว

การขับรถฝ่าน้ำท่วมนั้น ต้องรักษาระดับความเร็วให้คงที่เสมอ หลีกเลี่ยงการเบรกบ่อยๆ เมื่อผ่านพื้นที่น้ำท่วมขังมาแล้ว ให้รักษาระดับความเร็วต่ำเอาไว้ แล้วใช้เท้าซ้ายเหยียบเบรกลงไปเบาๆ แบบที่เรียกว่าเลียเบรก ทำสักสามสี่ครั้ง จนเห็นว่าเบรกสามารถทำงานได้ตามปรกติ ไม่มีอาการแป้นเบรกแข็ง ไม่มีอาการเซแฉลบซ้ายขวาเมื่อเบรก จากนั้นจึงขับรถต่อไปได้

และต้องเอามาเล่าย้ำเตือนกันซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า แม้รถยนต์ของท่านจะไม่ได้ถูกน้ำท่วมจนเสียหาย แต่มีน้ำนองอยู่ใต้ท้องรถ ระดับน้ำอาจจะสูงจากพื้นเพียงแค่ ๑๕ - ๓๐ เซนติเมตร ซึ่งดูด้วยตาแล้วจะเห็นว่าน้ำยังไม่ไปถึงพื้นรถของท่านก็ตาม หากเป็นไปได้ให้นำรถไปจอดบนที่ซึ่งพื้นแห้งจะปลอดภัยกว่า เพราะการจอดรถยนต์ในพื้นที่ซึ่งมีน้ำขังอยู่ใต้ท้องรถนั้น เมื่อมีแสงแดดส่องไปที่น้ำ ความร้อนจากแสงแดดจะเผาน้ำให้ระเหยกลายเป็นไอ ลอยเข้าไปในห้องเครื่องยนต์ ทำให้ชิ้นส่วนต่างๆเกิดไอน้ำหรือหยดน้ำเกาะ จนทำให้ระบบไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นมาได้ 

โปรดจำไว้เสมอว่า น้ำและความชื้นคือศัตรูตัวร้ายของรถยนต์สมัยใหม่ครับ