เอบีเอส
วิศวกรของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ก็ไม่ต่างอะไรกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไล่ตามจับโจรผู้ร้าย เพราะเมื่อคิดระบบนั้นๆ ขึ้นมาเพื่อป้องกัน อันหมายถึงป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น และป้องกันไม่ให้มีความเสียหายมากหลังจากเกิดเหตุไปแล้ว
พอคิดระบบใหม่ขึ้นมาได้ เหตุการณ์ใหม่ๆ มันก็เกิดขึ้นล่วงหน้าไป ทำให้ต้องคิดสิ่งประดิษฐ์หรือระบบใหม่ๆ ไล่ตามต่อไปอีก เหมือนกันกับตำรวจที่ต้องไล่ตามจับผู้ร้ายหลังจากเกิดเหตุขึ้นมาแล้วนั่นเอง
บางครั้งเมื่อมีการคิดระบบหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ล่วงหน้า พอติดตั้งมาในรถยนต์และถูกใช้งานจริง ก็พบว่าทำให้เกิดความขัดข้องมากกว่าสิ่งประดิษฐ์หรืออุปกรณ์เดิม เช่น เมื่อครั้งราว ๓๐ กว่าปีที่แล้ว วิศวกรของผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกรายหนึ่ง เกิดความคิดขึ้นมาว่าการที่หัวล็อกของเข็มขัดนิรภัย ไปอยู่ฝั่งในตัวรถหรือด้านในของคนนั่งนั้น ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา คนที่จะเข้าไปช่วยเอาตัวคนในรถออกมา ต้องเสียเวลาเอื้อมมืออ้อมตัวคนที่อยู่ในรถ เพื่อไปปลดล็อกหัวเข็มขัดนิรภัย แม้จะเป็นการเสียเวลาเพิ่มขึ้นเพียงแค่สามสี่วินาที แต่ก็เป็นวินาทีที่ชี้เป็นชี้ตายให้กับคนที่ประสบอุบัติเหตุได้
วิศวกรจึงออกแบบให้หัวล็อกเข็มขัดนิรภัย ย้ายตำแหน่งมาอยู่ด้านนอกของคนนั่ง คือมาอยู่ในตำแหน่งที่เปิดประตูปุ๊บก็เจอหัวล็อกปั๊บ หลังจากทดสอบและทดลองครั้งแล้วครั้งเล่า ก็พบว่าสามารถลดเวลาในการช่วยคนออกมาจากรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุได้จริงๆ จึงย้ายตำแหน่งของหัวล็อกเข็มขัดนิรภัยขึ้นมาใหม่ ติดตั้งในรถยนต์รุ่นใหม่ๆ รายนั้นทันที
แต่หลังจากจำหน่ายรถยนต์ที่ติดตั้งหัวล็อกเข็มขัดนิรภัยตำแหน่งใหม่ไปได้ไม่เกิน ๒ ปี ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาจากผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง กับการช่วยเหลือคนและรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุว่า หัวล็อกเข็มขัดนิรภัยที่ย้ายไปนั้น ทำให้เสียเวลาในการช่วยคนที่บาดเจ็บหรือหมดสติ ออกจากรถยนต์มากขึ้นกว่าแบบเดิม เพราะทันทีที่เปิดประตูรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุเข้าไป เจ้าหน้าที่หรือผู้ช่วยเหลือก็จะเอื้อมมือข้ามลำตัวของผู้ประสบเหตุ เข้าไปฝั่งด้านในตัวรถ เพื่อปลดล็อกหัวเข็มขัดนิรภัย เพราะรถยนต์ส่วนใหญ่ในโลกนี้ ยังติดตั้งหัวล็อกเอาไว้ในตำแหน่งเดิม ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือจึงยังคงทำตามความเคยชินเดิมๆ กว่าจะรู้ว่ารถคันดังกล่าวย้ายตำแหน่งหัวล็อกเข็มขัดนิรภัยไปแล้ว ก็เสียเวลาไปหาที่จุดเดิมแล้วต้องย้ายมือมาปลดล็อกที่ตำแหน่งใหม่ ทำให้เสียเวลามากขึ้น สุดท้ายผู้ผลิตรถยนต์รายนั้นจึงต้องย้ายมายังตำแหน่งเดิม คือตำแหน่งที่รถยนต์ทุกคันติดตั้งกันทุกวันนี้นั่นเอง
ผมเขียนเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะว่าอยากให้คนใช้รถยนต์ทุกคน ได้เรียนรู้และทำความรู้จักกับระบบความปลอดภัยในรถยนต์ของตนเองให้มากขึ้น จะได้ใช้งานกันอย่างถูกต้องและได้ประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างเช่น ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรก หรือที่รู้จักกันในชื่อของระบบเอบีเอส ซึ่งปัจจุบันเป็นอุปกรณ์มาตรฐานของรถยนต์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ แต่มีผู้ขับรถยนต์น้อยรายที่จะเข้าใจการทำงานของระบบเอบีเอส ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบเอบีเอสได้อย่างที่ควรจะเป็น
เอบีเอสจะทำงานก็ต่อเมื่อรถยนต์อยู่ในระดับความเร็วสูงตามที่ผู้ผลิตตั้งเอาไว้ อีกเงื่อนไขหนึ่งที่จะทำให้ระบบเอบีเอสทำงานก็คือ แรงดันน้ำมันเบรกต้องสูงเพียงพอ หรือพูดแบบชาวบ้านทั่วไปก็คือต้องเหยียบเบรกให้แรงพอนั่นเอง นั่นหมายความว่าหากขับรถในเมืองที่การจราจรติดขัด ใช้ความเร็วประมาณ ๒๐ กม./ชม. เมื่อต้องเหยียบเบรกกะทันหันขึ้นมา โอกาสที่ระบบป้องกันล้อล็อกขณะเหยียบเบรกจะทำงานนั้นเกิดขึ้นได้น้อยมาก หรือต่อให้ขับรถมาด้วยความเร็วสูง แต่ผู้ขับเหยียบเบรกเบาๆ ในลักษณะที่เรียกว่าเลียเบรก ระบบก็ไม่ทำงานด้วยเช่นกัน
การที่เอบีเอสเกิดขึ้นมานั้น เพราะทันทีที่ผู้ขับเห็นสิ่งกีดขวางเบื้องหน้าแบบกะทันหัน แล้วเหยียบเบรกลงไปอย่างรุนแรง เมื่อล้อถูกเบรกทำให้หยุดหมุนจนล็อกตาย รถยังมีแรงเฉื่อยที่ผลักจากด้านหลังให้ไถลไปด้านหน้า จนชนกับสิ่งกีดขวางได้อยู่ดี เพราะต่อให้ผู้ขับรถยนต์หักพวงมาลัย เพื่อให้ล้อพารถหันออกไปจากสิ่งกีดขวาง ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะล้อหน้าของรถถูกล็อกตาย จนไม่สามารถหมุนพารถเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการได้
ระบบเอบีเอส จึงทำให้เบรกหรือผ้าเบรกไม่จับกับจานเบรกล็อกแน่น แต่จะจับๆ ปล่อยๆ แบบถี่ยิบ เพื่อให้ในจังหวะที่ผ้าเบรกปล่อยหรือคลายการจับจากจานเบรกนั้น ล้อหน้าของรถจะหมุนตามจังหวะ ซึ่งในจังหวะที่ล้อหน้าหมุนนี้เอง หากคนขับหักพวงมาลัยเพื่อบังคับรถให้หลบ ล้อที่หมุนอยู่ก็จะพารถเลี้ยวหลบสิ่งกีดขวางไปได้
ดังนั้นแม้รถยนต์ที่ขับอยู่จะมีระบบเอบีเอส ก็ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการชนสิ่งกีดขวางได้ แต่คนขับรถยนต์ต้องเรียนรู้การทำงานของระบบให้ถูกต้อง โดยเมื่อขับรถพุ่งไปหาสิ่งกีดขวางด้านหน้า และออกแรงเหยียบเบรกแบบกระแทกเบรกกะทันหัน มือก็ต้องหักพวงมาลัยให้รถหลบไปจากสิ่งกีดขวางพร้อมกัน เพื่อให้รถหลบเลี่ยงจากการชนไปได้ด้วย หากเหยียบเบรกจนระบบเอบีเอสทำงานขึ้นมาแล้ว แต่คนที่ขับรถไม่หักพวงมาลัยหลบสิ่งกีดขวาง รถก็จะยังมุ่งหน้าเข้าไปพุ่งชนสิ่งกีดขวางนั้นอยู่ดี
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ระบบความปลอดภัยต่างๆทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ คือคนขับรถต้องฝึกฝน จนเกิดการกระทำแบบสัญชาตญาณขึ้นมาโดยอัตโนมัติ เหมือนกับการที่คนเราเอื้อมมือไปจับของร้อนๆ เราก็จะสะบัดมือออกจากของร้อนๆนั้นขึ้นมาทันที หากไม่สามารถฝึกในภาคปฏิบัติได้ ก็ต้องฝึกคิดแบบจำลองสถานการณ์บ่อยๆ เพื่อให้สมองเกิดความจดจำกับปฏิกิริยาที่สมมุติขึ้นมา
ทั้งนี้ถ้าเราไม่เรียนรู้การทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ อุปกรณ์นั้นๆก็จะไม่มีประโยชน์แต่อย่างใดครับ