อนาคตของศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย : โอกาสและความท้าทาย

อนาคตของศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทย : โอกาสและความท้าทาย

จุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของการใช้ไฟฟ้า แม้ว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายในยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่รถไฮบริดจะเป็นจุดเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ประเทศไทยต้องมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้แรงจูงใจทางธุรกิจ และ การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม การลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลาดที่มีความพร้อม เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และจีน มีการใช้รถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเผชิญโอกาสและความท้าทายเฉพาะตัว โดยประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของภูมิภาคต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงนี้

ความต้องการของผู้บริโภคและความท้าทาย

จากรายงาน2025 Global Automotive Consumer Studyของดีลอยท์ พบว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal combustion engine: ICE) ยังคงเป็นตัวเลือกหลักในหลายพื้นที่ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (ร้อยละ 62) อินเดีย (ร้อยละ 54) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ร้อยละ 53) และเยอรมนี (ร้อยละ 53) โดย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน มีแนวโน้มเปิดรับรถไฟฟ้ามากกว่า

ในไทย รถไฮบริดได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รถปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in hybrid electric vehicles: PHEVs) มีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้น แม้รถเครื่องยนต์สันดาปภายในยังคงครองความนิยมสูงสุด

ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญของตลาดรถไฟฟ้า ได้แก่ ความกังวลเรื่องระยะทางขับขี่ การขาดแคลนสถานีชาร์จสาธารณะ และต้นทุนเริ่มแรกที่สูง

เหตุผลหลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้รถไฟฟ้า

1.ด้านสิ่งแวดล้อม : ผู้บริโภคมีความกังวลในประเด็นนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเยอรมนี สำหรับไทยรัฐบาลได้ประกาศนโยบาย “30@30” เพื่อให้ยานยนต์ที่ผลิตในประเทศเป็นยานยนต์ปลอดการปล่อยมลพิษ (Zero-emission vehicles: ZEVs) อย่างน้อยร้อยละ 30 ภายในปี 2573

2.ลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง : รถไฟฟ้าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงได้มากกว่า เนื่องจากราคาน้ำมันที่ผันผวนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจากสภาวะเศรษฐกิจ และ สงครามการค้า

3.ประสบการณ์ในการขับขี่ : ผู้บริโภคชื่นชอบความเงียบและประสิทธิภาพที่ดีของรถไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันสามารถให้ประสิทธิภาพระดับซุปเปอร์คาร์ในราคาที่จับต้องได้ นับเป็นหนึ่งใน 3 เหตุผลหลักที่ผู้บริโภคในจีน ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอินเดีย เลือกใช้รถไฟฟ้า

โครงสร้างพื้นฐานการชาร์จ: คอขวดที่สำคัญ

การชาร์จสาธารณะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศของรถไฟฟ้า ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องขับรถไกลกว่า 100 กิโลเมตรเพื่อชาร์จรถ เมื่อเทียบกับตลาดที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา การขยายสถานีชาร์จเชิงยุทธศาสตร์ตามทางหลวงและพื้นที่กลางเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

ผู้บริโภคทั่วโลกชอบใช้สถานีชาร์จที่ออกแบบเฉพาะสำหรับรถไฟฟ้ามากกว่าปั๊มน้ำมันทั่วไป การชาร์จเร็วยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับผู้บริโภคทั่วโลก ผู้ผลิตในยุโรปบางรายกำลังวิจัยและพัฒนาระบบการชาร์จแบบไร้สาย ทั้งในสภาวะหยุดนิ่งและเคลื่อนที่ ในขณะที่ผู้ผลิตในจีนนำเสนอระบบสลับแบตเตอรี่ไปสู่ตลาดภายในประเทศแล้ว

ความคาดหวังของผู้บริโภค

ความคาดหวังหลักสำหรับรถไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery electric vehicles: BEVs) ได้แก่ :

ระยะทางการขับขี่:ผู้บริโภคแต่ละประเทศมีความคาดหวังที่แตกต่างกัน เช่น ร้อยละ 47 ของผู้บริโภคในอินเดียคาดหวังระยะทางมากกว่า 400 กิโลเมตรต่อการชาร์จ ขณะที่ ร้อยละ 80 ของผู้บริโภคเยอรมนีถือว่าระยะดังกล่าวเป็นมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับคนไทย ร้อยละ 40 พอใจกับระยะทางระหว่าง 300-499 กิโลเมตรต่อการชาร์จ

ระยะเวลาในการชาร์จ:ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยอมรับได้ที่จะรอ 40 นาที ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้บริโภคไม่ได้เปรียบเทียบกับเวลาในการเติมน้ำมันอีกต่อไป

โอกาสทางการตลาดสำหรับอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในประเทศไทย

ภาคส่วนรถไฟฟ้าในประเทศไทยมีศักยภาพสูง โดยควรพิจารณาโอกาสดังต่อไปนี้:

1.การเสริมสร้างผู้ผลิตชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 : ลงทุนในการฝึกอบรมแรงงานและเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง

2.การขยายการผลิตแบตเตอรี่ภายในประเทศ : ส่งเสริมการผลิตและรีไซเคิลแบตเตอรี่ เพื่อลดการนำเข้าและส่งเสริมนวัตกรรม เช่น แบตเตอรี่โซลิดสเตต (Solid-state batteries)

3.การเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว : ติดตั้งเครื่องชาร์จตามแหล่งท่องเที่ยวและร่วมมือกับโรงแรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วยรถไฟฟ้า

4.การดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ : ส่งเสริมกิจการร่วมทุนระหว่างผู้ผลิตต่างชาติกับซัพพลายเออร์ในประเทศ พัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

5.การกระจายธุรกิจ : มุ่งเน้นการนำไฟฟ้าไปใช้ในระบบขนส่งสาธารณะ การผลิตยานยนต์พาณิชย์ไฟฟ้า และยานยนต์ไฟฟ้าราคาประหยัดสู่ตลาด

บทสรุป

โลกอยู่ในจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญของการใช้ไฟฟ้า แม้ว่ารถเครื่องยนต์สันดาปภายในยังคงได้รับความนิยมอยู่ แต่รถไฮบริดจะเป็นจุดเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ประเทศไทยต้องมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การให้แรงจูงใจทางธุรกิจ และ การพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เพื่อก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค

การเปลี่ยนผ่านนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ผู้ผลิตยานยนต์ ผู้ให้บริการพลังงาน และผู้บริโภค เพื่อแก้ไขความท้าทายด้านการเข้าถึงสถานีชาร์จและต้นทุน ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถในการผลิต พร้อมส่งเสริมการขนส่งที่สะอาดขึ้นตามเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนโดยSeongjin (Sam) Lee,Automotive Lead Partner,Deloitte Southeast Asia และ ดร.โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการอาวุโส แผนกGrowthดีลอยท์ ประเทศไทย