เอสเอ็มอีกับกรีนเทคโนโลยี
ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาจากอิทธิพลของสภาพแวดล้อมภายนอกและภายในประเทศเช่นในปัจจุบัน อาจเป็นเวลาที่เจ้าของหรือผู้นำของธุรกิจเอสเอ็มอี มีเวลาเพื่อทบทวนทิศทางของธุรกิจที่จะมารองรับอนาคตเมื่อเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวขึ้นใหม่
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เอสเอ็มอีก็คงพอที่จะสัมผัสได้ว่าแนวโน้มและทิศทางอนาคตของธุรกิจโดยรวม จะต้องพึ่งพาความรู้ วิทยาการ และพื้นฐานของเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในธุรกิจเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันกับตลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ธุรกิจที่ยังคงยึดมั่นกับธุรกิจและวิธีการดำเนินธุรกิจแบบเดิมที่เคยทำอยู่ อาจจะไม่สามารถแข่งขันกับธุรกิจเกิดใหม่ได้
ควบคู่ไปกับกระแสเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาก็จะมีกระแสของการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาสมดุลของโลก ทำให้เกิดกลุ่มเทคโนโลยีใหม่ที่เรียกกันว่า กรีนเทคโนโลยี หรือ เทคโนโลยีสีเขียว
กรีนเทคโนโลยี ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว โดยมีผู้กำหนดคำนิยามไว้ว่า กรีนเทคโนโลยี หมายถึง การนำองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีต่อมวลมนุษย์โลก
ดังนั้น กรีนเทคโนโลยี จึงมีขอบข่ายที่กว้างขวางมากกว่าเรื่องของการเกษตร แต่ยังจะครอบคลุมเรื่องของสิ่งแวดล้อม มลภาวะ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียน พลังงานทดแทน รวมถึงเทคโนโลยีที่จะช่วยในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์โดยไม่เบียดเบียนและทำลายสมดุลธรรมชาติของโลกที่จะทำให้เกิดผลเชิงลบต่อความยั่งยืนของโลก
ตัวอย่างของการนำแนวคิด กรีนเทคโนโลยี มาใช้ในเชิงพาณิชย์ ได้แก่
เทคโนโลยีสำหรับที่อยู่อาศัยและสำนักงาน เน้นการลดการใช้พลังงานในการดำรงชีวิตประวัน เช่น การออกแบบอาคารที่ใช้แสงธรรมชาติ การระบายอากาศ การใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ทั้งในการทำน้ำอุ่นและการผลิตกระแสไฟฟ้า การลดขยะ ของเหลือทิ้ง การรีไซเคิล วัสดุที่ใช้ในอาคาร ฯลฯ ครอบคลุมตั้งแต่การออกแบบอาคาร การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการให้บริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งนอกจากตัวยานยนต์หรือรถยนต์และแบตเตอรี่ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลัก ยังจะรวมไปถึงเทคโนโลยีที่จะมาช่วยเสริม เช่นสาถานีอัดประจุในบ้าน แหล่งกระแสไฟฟ้าที่เหมาะสม ระบบการอัดประจุแบบไร้สาย อุปกรณ์ตกแต่ง อุปกรณ์ภายในรถที่มีการออกแบบการใช้งานที่เหมาะสมกับรูปลักษณ์ของรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล เป็นที่เชื่อกันว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเข้ามาทดแทนรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียม และจะช่วยลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโลกได้เป็นจำนวนมาก
เทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงาน ครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์และเซ็นเซอร์สำหรับควบคุมการใช้ไฟ การเปิดปิดไฟ การตรวจจับการเคลื่อนไหว หากไม่มีคนอยู่ให้ปิดไฟโดยอัตโนมัติ การตั้งเวลาเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมากให้ไปเปิดทำงานในเวลาดึกที่มีการใช้ไฟฟ้าไม่มาก ตลอดจนถึงการใช้เซลแสงอาทิตย์มาเสริมหรือช่วยลดการใช้ไฟฟ้า
เทคโนโลยีกำจัดขยะ น้ำเสีย และมลพิษทางอากาศ รวมถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่ไม่ต้องสูญเสียพลังงานอย่างมากในการกำจัด การเปลี่ยนรูป การนำมาใช้ซ้ำ หรือการนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการพัฒนากระบวนการและการจัดการ เช่น การรวบรวม การจัดเก็บ และระบบการเงินที่เกี่ยวข้อง
เทคโนโลยีนิวเคลียร์แบบปลอดภัย ยังมีความเชื่ออยู่ว่า นิวเคลียร์ยังเป็นแหล่งสร้างพลังงานที่มีราคาถูก แต่ยังต้องมีการค้นคว้าพัฒนาเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบในการสร้างพลังงานนิวเคลียร์ที่จะไม่เหลือกากพิษ หรือไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ และกระบวนการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ที่ปลอดภัย
จะเห็นได้ว่า ธุรกิจในระดับเอสเอ็มอี สามารถแทรกซึมเข้าไปได้ในการปรับรูปแบบธุรกิจที่ใช้ กรีนเทคโนโยลี เหล่านี้
โดยเริ่มจากการศึกษาทำความเข้าใจเบื้องต้น การตัดสินใจเลือกว่าจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ มาปรับเข้ากับธุรกิจเดิม เพื่อสร้างตลาดใหม่ หรือจะจัดตั้งเป็นธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มใหม่ แยกออกจากธุรกิจเดิมไปเลย แต่ยังดำเนินการควบคู่กันไป โดยใช้ฐานของธุรกิจเดิม มาเป็นส่วนสนับสนุนให้กับธุรกิจใหม่
การปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวโน้มธุรกิจและแนวโน้มเทคโนโลยี จึงเป็นวิถีทางที่จะทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอี เกิดความเข้มแข็งและเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน