เศรษฐกิจอีสาน 2567 ฟื้นตัวต่อเนื่อง สำรวจมุมมอง Soft power
เปิดประเด็น เศรษฐกิจอีสาน 2567 ช่วงต้นปีฟื้นตัวต่อเนื่อง สำรวจมุมมอง Soft power ของคนไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ก้าวเข้าสู่เดือนมีนาคม 2567 ไตรมาสแรกของปี ข้อมูลภาพรวมเศรษฐกิจอีสานเดือนนี้ขยายตัว จากปัจจัยสนับสนุนตามการบริโภคเอกชนเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นตามโครงการ Easy E-Reciept ของภาครัฐ
ข้อมูลจาก ISAN INSIGHT คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ มข. วิเคราะห์เศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกี่ยวกับธุรกิจและเศรษฐกิจ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2567
เทรนด์การท่องเที่ยวของผู้เยี่ยมเยือนคนไทยในอีสาน เริ่มหันมาเที่ยวเมืองรองมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนและรายได้ของผู้เยี่ยมเยือนคนไทยในเมืองรองที่มีการฟื้นตัวได้ดีกว่าเมืองหลัก
อีกทั้ง ยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐที่มีโครงการพัฒนาเมืองรองให้เป็นเมืองหลัก โดยนครพนมและศรีสะเกษ เป็น 2 จังหวัดเมืองรองในอีสานที่ภาครัฐเตรียมผลักดันให้เป็นเมืองหลัก
นอกจากนี้ จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวต่างชาติในอีสานมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาจาก สปป.ลาว เป็นหลัก และในช่วงต้นปี 2567 ผู้เยี่ยมเยือนชาวจีนในอีสาน มีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ 2024 ที่มีเทศกาลตรุษจีน
Soft power ไทยอีสาน
"อีสานอินไซต์" ได้จัดทำแบบสำรวจมุมมองความคิดเห็นของคนอีสาน ต่อ Soft power อีสาน เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16 - 21 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจชาวอีสานจำนวน 1,236 คน เพื่อสะท้อนภาพความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาพ Soft power ของชาวอีสาน ทั้งด้านความเข้าใจ สินค้า/บริการที่นึกถึง รวมถึงหน่วยงานและมาตรการช่วยเหลือที่ควรมีเพื่อผลักดันให้ Soft power อีสานเข้าสู่ Global scale
สรุปผลสำรวจ ดังนี้
- ภาพรวมชาวอีสานประเมินว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft power แต่อีสานอินไซต์มองเห็นความกังวลในกลุ่มผู้สูงอายุที่มองว่าตนเองไม่มีความรู้ความเข้าใจใน Soft power
- กลุ่มผู้ที่ไม่มีความเข้าใจใน Soft power มองว่า Soft power เป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งกำลังสะท้อนปัญหาในการผลักดันของรัฐบาล โดยเฉพาะการได้รับความร่วมมือจากประชาชนกลุ่มนี้
- อาหารอีสาน ทั้ง ส้มตำ ปลาร้า เป็นสิ่งที่ชาวอีสานคิดถึงมากที่สุดเมื่อนึกถึง Soft power อีสาน ตามด้วยประเพณีและวิถีชีวิตของชาวอีสาน ในขณะที่เมื่อนึกถึงกลุ่มความบันเทิง โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่ง และหมอลำ มาจากกลุ่ม LGBTQIA+ เป็นหลัก
- จุดแข็งของ Soft power อีสานคือความศรัทธาโดยเฉพาะในเชิงความเชื่อ และสายมู ตามด้วยความเรียบง่ายของวิถีชีวิตชาวอีสาน
- อีกหนึ่งจุดแข็งของ Soft power อีสานคือความเข้าถึงง่าย ทั้งในเชิงความบันเทิง รวมถึงภาษา
ชาวอีสานมองว่า Soft power อีสานที่สามารถผลักดันให้เข้าสู่ Global Scale ได้แบบ Quick win คืออาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งอันดับแรกคือ ส้มตำ และปลาร้า และอยากให้พัฒนาในรูปแบบอนุรักษ์ความดั้งเดิมของอีสานไว้
ขณะที่กลุ่มผู้อายุที่ขาดความเข้าใจเกี่ยวกับ Soft power อยู่แล้วมองว่าไม่น่ามีสินค้าหรือบริการใดที่สามารถผลักดันได้
ชาวอีสานมองว่าข้อจำกัดสำคัญในการพัฒนา Soft power อีสานยังมาจากข้อจำกัดของภาครัฐเป็นหลัก ทั้งด้านนโยบาย รวมถึงงบประมาณสนับสนุน ซึ่งตรงกับความต้องการหลักที่ชาวอีสานต้องการจากรัฐบาลในกรณีที่รัฐบาลต้องการส่งเสริม Soft power อย่างจริงจัง
ส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมองเศรษฐกิจอีสานในระดับจุลภาค ปัญหาค่าครองชีพยังน่าหนักใจ รวมถึงปัญหาหนี้นอกระบบ ยังคงเป็นภาระของครอบครัวคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้ว่ารัฐบาลจะพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาตรการต่าง ๆ ก็ตาม
สำหรับ Soft power ของอีสาน เห็นด้วยกับข้อมูลจาก ISAN INSIGHT คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น การสร้างการรับรู้ซอฟต์พาวเวอร์ในระดับฐานรากยังไม่เกิดขึ้น เพราะอาจจะเป็นหน่วยงานราชการที่ไม่ได้ขยับเรื่องนี้ อาจอ้างว่าไม่มีงบประมาณหรือไม่ก็ตาม ทำให้ภาพรวมของนโยบายรัฐบาลดูไม่เป็นชิ้นเป็นอัน จะกระตุ้นเศรษฐกิจอีสาน 2567 ช่วงต้นปีนี้ และ Soft power ก็ดูไม่น่าจะสร้างพลังไปกว่าเดิม
เรื่องที่เกี่ยวข้อง :