นัยการลงทุนบนหุ้นจีน หลังจีน-สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงในการเข้าตรวจสอบบัญชีของบจ.จีน ADR

นัยการลงทุนบนหุ้นจีน หลังจีน-สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงในการเข้าตรวจสอบบัญชีของบจ.จีน ADR

เมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลด้านบัญชีของสหรัฐฯ (PCAOB) และ คณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์จีน (CSRC) ได้ออกมาระบุถึง การบรรลุข้อตกลง และการลงนามในข้อตกลงร่วมกัน ที่จะอนุญาตให้ PCAOB สามารถเข้าถึงและตรวจสอบรายงานสอบบัญชีของบรรดาบริษัทจีน ADR  ได้

       โดยมีประเด็นสำคัญ คือPCAOB มีอำนาจอย่างเต็มที่ ในการเลือกบริษัทที่จะตรวจสอบ และต้องสามารถเข้าถึงข้อมูลสำหรับการตรวจสอบบัญชีของบริษัทอย่างครบถ้วน ปราศจากการปรับแต่งข้อมูล ขณะที่ CSRC อ้างว่า อาจมีการปรับปรุงข้อมูลบางส่วนที่มีความอ่อนไหวสูง เช่น ข้อมูลส่วนบุคคล ออกไป

     นอกจากนี้ CSRC ต้องการเป็นตัวกลางในการส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปให้ PCAOB ทั้งนี้ ทีมตรวจสอบของ PCAOB จะเดินทางไปที่ฮ่องกงและเริ่มตรวจสอบช่วงกลางเดือนก.ย.นี้ โดยคาดว่า จะทราบผลการตรวจสอบเบื้องต้น ช่วงเดือนธ.ค.นี้

 

เรามองว่า การที่จีนจะยินยอมให้สหรัฐฯ เข้าตรวจสอบทางบัญชีของบรรดาบริษัทจีน ADR นั้น ถือเป็นพัฒนาการที่ดีขึ้น และอาจช่วยลดความเสี่ยงที่บริษัทจีน ADR มากกว่า 200 แห่ง จะถูกถอดถอน (delisting) ออกจากตลาดสหรัฐฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 ตามที่ถ้าหาก PCAOB สามารถตรวจสอบรายงานสอบบัญชี เป็นเวลา 3 ปี ติดต่อกัน และไม่พบการฝ่าฝืนกฎหมายที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ

ดังนั้น เราคาดว่า ความคืบหน้านี้ จะช่วยหนุน Sentiment หุ้นจีน ADR ในช่วงสั้น นำโดย 1) หุ้นจีน ADR ที่เผชิญแรงขายอย่างมากจากนักลงทุนสถาบัน นับตั้งแต่สิ้นปี 2021 เช่น Bilibili, GDS, Baidu และ Trip.com 2) หุ้นจีน ADR ที่ไม่มี Secondary listed หรือ Dual listed เช่น Pinduoduo และ 3) กลุ่มจีน ADR ที่พึ่งพาการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นอย่างมาก เช่น กลุ่ม EV และ Data Center

     อย่างไรก็ตาม ในรายละเอียดเพิ่มเติมของการเข้ามาตรวจสอบบัญชี ภายหลังจากนี้ ยังคงต้องเฝ้าจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งในเบื้องต้น เราคาดว่า การตรวจสอบของ PCAOB จะใช้เวลาราว 2 เดือน ก่อนที่จะเขียนรายงานผลการประเมินรายปี

     โดยหากไม่พบการฝ่าฝืนใดๆ จะมีการเปิดเผยผลการตรวจสอบเบื้องต้นในเดือนธ.ค.นี้ และคาดว่า รายงานฯ จะถูกเปิดเผยในปี 2023 ขณะที่ แนวโน้มการตรวจสอบของ PCAOB ภายหลังจากนี้ อาจส่งผลกระทบต่อแต่ละกลุ่มบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จีน ADR แตกต่างกันไป ดังนี้

  • บจ.จีน ADR ที่รัฐบาลจีนถือหุ้นอยู่มาก (Stated owned enterprise: SOE) อาจเลือกทำ delisting จากตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยสมัครใจ ดังเช่นที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ที่บจ.จีน ADR ซึ่งเป็น SOE 5 แห่ง ได้ขอยื่นออกจากตลาดสหรัฐฯ โดยสมัครใจ
  • บจ.จีนที่ถือครองข้อมูลจำนวนมากและมีข้อมูลที่ sensitive อาจเผชิญการตรวจสอบที่เข้มงวดขึ้นจากทางการจีน เมื่อต้องการที่จะออกไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ
  • บจ.จีนที่ปราศจากการถือครองข้อมูลที่ sensitive จะสามารถออกไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ หลังทำตามข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องเบื้องต้น
  • บจ.จีน ADR ที่ถือครองข้อมูลจำนวนมากและมีข้อมูลที่ sensitive เราเชื่อในท้ายที่สุด ทางการจีนจะสามารถหาทางแก้ไขอย่างเหมาะสมบนประเด็นความกังวลเรื่อง data security และทำให้บจ.ในกลุ่มนี้ สามารถหลีกเลี่ยงการถูก delisting จากตลาดสหรัฐฯ ได้ เนื่องจาก เรามองว่า การพยายามบรรลุข้อตกลงร่วมกันของสหรัฐฯ-จีน ในการตรวจสอบบัญชีระหว่างประเทศ จะไม่เกิดประโยชน์เลย ถ้าหากมีบจ.จีนในกลุ่มนี้ ถูกบังคับให้ต้อง delisting เป็นจำนวนมาก

สำหรับนัยต่อการลงทุนในตลาดหุ้นจีน offshore เรามองว่า แม้ความเสี่ยง delisting หุ้นจีน ADR จะเริ่มลดลง แต่เรายังคงมุมมอง Neutral ต่อตลาดหุ้นจีน offshore เนื่องจาก 1) ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกถดถอย และความเสี่ยงการคว่ำบาตรทางอ้อมจากสหรัฐฯ ในประเด็นที่เกี่ยวกับรัสเซีย และที่เกี่ยวกับไต้หวัน อาจสร้างความผันผวนต่อตลาดหุ้นจีน Offshore ได้อยู่

2) กำไรบจ. ในดัชนีหุ้นจีน offshore ยังมีแนวโน้มทำจุดต่ำสุดในช่วงการรายงานผลประกอบการประจำ 2Q2022 ประกอบกับ เมื่อเปรียบเทียบกำไรต่อหุ้นของบจ.ในดัชนีหุ้นจีน offshore และดัชนีหุ้นโลก จะพบว่า มีการปรับลดลง ซึ่งเป็นการชี้ว่าโมเมนตัมของกำไรบจ.จีนในฝั่ง offshore แย่กว่าของบจ.ทั่วโลก

และ 3) เมื่อเปรียบเทียบ forward PE ของดัชนีหุ้นจีน offshore และดัชนีหุ้นโลก จะพบว่า ยังค่อนข้างสูง ซึ่งชี้ว่า หุ้นจีน offshore ยังค่อนข้างแพงเมื่อเทียบหุ้นโลก

 

#######