ผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจปี 2565 เผชิญหน้าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2566 คำเตือนถึง SMEs ไทย…
วิกฤติโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 2 ปี รวมถึงวิกฤติเศรษกิจในสหรัฐ-ยุโรป เศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากมาตรการ Zero Covid ความขัดแย้งระหว่างประเทศจนกลายเป็นสงครามรัสเซียและยูเครน สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของไทยเกิดวิกฤต ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมาก
วิกฤติ Covid 19 ที่ยาวนานกว่า 2 ปี รวมถึงวิกฤติเศรษกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวจากมาตรการ Zero Covid วิกฤติความขัดแย้งระหว่างประเทศจนกลายเป็นสงครามรัสเซียและยูเครน สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจของไทยเกิดวิกฤต ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากดำเนินธุรกิจด้วยความยากลำบาก ถึงแม้ภาครัฐจะออก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ออกมาประคับประคอง แต่ยังมี SMEs จำนวนมากต้องปิดกิจการ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ปี 2565 จึงเป็นปีที่ NPLท่วมเมืองฃ
ข้อมูลจากสมาคมธนาคารไทยระบุว่า มีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางถึง 3 ล้านราย ซึ่งเป็นหนี้ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ แต่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) เป็นข้อมูลทั้งภาคธนาคารและ non-bank มีข้อมูลลูกหนี้ที่น่าห่วงมากกว่า 5.5 ล้านราย ตัวเลขสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Stage 2) หรือหนี้จัดชั้นที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) ไตรมาส 3/2565 อยู่ที่ 1.3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.27% ของสินเชื่อรวม โดยเพิ่มขึ้น 20,093 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.8% จากไตรมาส 2/2565 ซึ่งอยู่ที่ 1.11 ล้านบาท คิดเป็น 6.11% ของสินเชื่อรวม
นายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB) ระบุว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ที่ 14.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88% ของ GDP (GDP ประมาณ16.7 ล้านล้านบาท) ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่อันตราย ไส้ในของหนี้ครัวเรือน 14.7 ล้านบาท ประมาณ 28% เป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภค กู้มากินมาใช้ และหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 32 ล้านคน โดยข้อมูล ณ ไตรมาส 3/2565 มีตัวเลขที่เป็นหนี้เสีย NPL ค้างชำระเกิน 90 วัน อยู่ที่ 1.09 ล้านล้านบาท คิดเป็น 8.4% หรือจำนวนลูกหนี้ 5.5 ล้านคน เป็นกลุ่มที่กู้แล้วผ่อนหนี้ไม่ได้ และไม่สามารถกู้เพิ่มได้ กลุ่มลูกหนี้ที่ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือน แต่ยังไม่ถึง 3 เดือน ที่เรียกว่า SM ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย แต่เกือบเป็นหนี้เสีย มีประมาณ 3.1% หากรวมตัวเลข SM กับ NPL ก็จะเห็นโอกาสหนี้เสียกลายเป็น 11.5%
ฐานข้อมูลของ NCB ยังพบว่าหนี้ครัวเรือนทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบุคคลสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน รวมถึงบัตรเครดิต ผู้บริโภคกลุ่มเจนวาย (อายุ 25-42 ปี) คือกลุ่มที่เป็นลูกค้าฐานใหญ่ และเป็นกลุ่มที่มีปัญหาในการชำระหนี้มากที่สุด และมีแนวโน้มหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งในแง่ของจำนวนบัญชีและวงเงินหนี้ โดยหนี้เสียของกลุ่มเจนวายเป็นการก่อหนี้เพื่อการบริโภคและกำลังลามไปถึงสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้านที่เพิ่มสูงขึ้น ประเภทสินเชื่อที่น่ากังวลมากที่สุด คือสินเชื่อส่วนบุคคล มียอดคงค้างอยู่ที่ 2.5 ล้านล้านบาท ณ ไตรมาส 3/2565 ตัวเลข NPL อยู่ที่ราว 10.3% รวมกับ SM อีก 2.9% จะเพิ่มเป็น 13.2 % โดยผลิตภัณฑ์ที่จะมีปัญหา ได้แก่บริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (Buy Now Pay Later)
ตัวเลขของ NPL ที่นำเสนอเป็นเพียงตัวเลขจาก NCB หากนับรวมกับหนี้นอกระบบที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จะสะท้อนถึงความสามารถของภาครัฐที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนได้ ที่สำคัญคือยังทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นไม่ได้ ทั้งที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ที่บอกว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3/2565 ขยายตัว 4.5% และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวช่วง 3.0-4.0% จึงเป็นการขยายตัวตามทฤษฎี K -Theory ตัวที่เป็น K ขาขึ้นได้แก่บริษัทขนาดใหญ่และสถาบันการเงินที่มีกำไรเพิ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ของประเทศ อยู่ที่ K ขาลง และกำลังจะผ่านพ้นปี 2565 ด้วยความบอบช้ำ
มองไปในปี 2566 ที่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป วิกฤติราคาพลังงาน เช่นราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ ค่าไฟฟ้าที่จะปรับเพิ่มขึ้นในช่วงเดือน มค 2566เป็น 5.37 บาทต่อหน่วย ในขณะที่ภาครัฐมีข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้น จึงเป็นปีที่ท้าทาย SMEs ไทยมากที่สุดปีหนึ่ง เหมือนจะต้องออกไปผจญภัยในทะเลที่เต็มไปด้วยคลื่นลมแรง
คลื่นทะเลที่ชาวประมงทางใต้กลัวที่สุดคือ “คลื่นหัวเดิ่ง” เมื่อออกทะเลต้องเผชิญกลับคลื่นหัวเดิ่ง จะอยู่รอดได้ก็ต้องหันหัวเรือเข้าสู้เท่านั้น SMEs จึงต้องหันหน้าเผชิญวิกฤติ เหมือนชาวประมงที่หันหัวเรือสู้คลื่นหัวเดิ่ง อย่างมีสติ…