ฝนตกหนัก ภูเก็ตน้ำท่วมขัง เฝ้าระวังใกล้ชิด สั่งรับมืออุทกภัย

ฝนตกหนัก ภูเก็ตน้ำท่วมขัง เฝ้าระวังใกล้ชิด สั่งรับมืออุทกภัย

อัปเดตสถานการณ์ฝนตกหนัก ล่าสุด "ภูเก็ต" น้ำท่วมขัง เฝ้าระวังใกล้ชิด พร้อมสั่งการรับมืออุทกภัย

กรุงเทพธุรกิจ อัปเดตสถานการณ์ฝนตกหนัก ล่าสุด "ภูเก็ต" น้ำท่วมขัง เฝ้าระวังใกล้ชิด พร้อมสั่งการรับมืออุทกภัย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ นายวิชิต สุทธโส หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน 2568 เวลาประมาณ 18.30 น. เป็นต้นมา กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์ฝนตกในพื้นที่

 

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ได้ประสานงานกับศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ เพื่อเฝ้าระวังและให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที

สถานการณ์ปัจจุบัน ฝนตกหนักกระจายตัวในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองภูเก็ต อำเภอกะทู้ และอำเภอถลาง โดยมีรายงานน้ำท่วมขังในบางจุด ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายและเข้าสู่ภาวะปกติแล้วทุกพื้นที่

รายงานความเสียหาย

อำเภอเมืองภูเก็ต บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ ชุมชนประชาอุดม เกาะสิเหร่ หมู่ที่ 1 ตำบลรัษฎา น้ำท่วมบ้านเรือน 5–6 หลัง

หมู่บ้านเจ้าฟ้า หลังโตโยต้า หมู่ที่ 2 ตำบลวิชิต น้ำไหลเข้าบ้านเรือนประชาชน

ถนนและพื้นที่น้ำท่วมขังรอการระบาย หมู่ที่ 1 และ 2 ตำบลวิชิต โดยเฉพาะบริเวณถนนเจ้าฟ้าตะวันตกหน้าห้างคิงพาวเวอร์

ท่วมผิวการจราจร ยานพาหนะสัญจรได้เพียงช่องทางเดียว

  • ถนนเจ้าฟ้าตะวันออก ตำบลตลาดเหนือ
  • หน้าโรงเรียนดาวรุ่ง ตำบลตลาดเหนือ
  • ตลาดสี่มุมเมือง ตำบลวิชิต
  • ถนนศรีสุทัศน์ ซอย 10 ตำบลตลาดใหญ่
  • หน้าโรงพยาบาลดีบุก ตำบลวิชิต
  • ตลาดพอเพียง ตำบลกะรน
  • วงเวียนกะรน และหน้าซุปเปอร์ชีปกะรน ตำบลกะรน

อำเภอถลาง

  • บริเวณหน้าปั๊มเชลล์เมืองใหม่ หมู่ที่ 1 ตำบลเทพกระษัตรี
  • ซอยป่าสัก 1 ตำบลเชิงทะเล

อำเภอกะทู้

  • ถนนพระภูเก็ตแก้ว หมู่ที่ 2 ตำบลกะทู้
  • ตลาดมาลิน และวงเวียนไข่มุก ตำบลป่าตอง

การให้ความช่วยเหลือและแนวทางการเตรียมพร้อม กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ได้ดำเนินการเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และดินโคลนถล่มอย่างใกล้ชิด โดยหากเกิดสถานการณ์ในพื้นที่ใด ให้รีบรายงานมายังกองอำนวยการจังหวัดโดยทันที

พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอและศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น เร่งดำเนินการขุดลอกคู คลอง ท่อระบายน้ำ ดูดเลน และทำความสะอาดร่องน้ำ รวมถึงการกำจัดวัชพืช ขยะ และสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้ระบบระบายน้ำสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลและภาพ : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดภูเก็ต