‘ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก 2.0’ การปฏิวัติเกมลูกหนังที่ยังทำไม่สำเร็จ

‘ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก 2.0’ การปฏิวัติเกมลูกหนังที่ยังทำไม่สำเร็จ

ส่อง "ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก 2.0" การปฏิวัติเกมลูกหนังที่ยังทำไม่สำเร็จ

Key Points

•    A22 ได้เสนอแผนสำหรับการจัดตั้งซูเปอร์ลีก ในเวอร์ชั่นอัพเดตที่มีความแตกต่างจากแผนฉบับเดิมที่ออกมาเมื่อปี 2021 อย่างสิ้นเชิง โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ เช่น จำนวนทีมเพิ่มจาก 20 ทีม เป็น 64 ทีม และมี 3 ดิวิชั่น ได้แก่ Star (16 ทีม), Gold (16 ทีม) และ Blue (32 ทีม)

•    ข่าวร้ายสำหรับซูเปอร์ลีกคือการที่สโมสรดังในพรีเมียร์ลีกนำโดยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (หนึ่งในตัวตั้งตัวตี), เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, ลิเวอร์พูล (แสดงจุดยืนช้ากว่าเพื่อน) รวมถึงสโมสรในลีกอื่นๆอาทิ บาเยิร์น มิวนิค, แอตเลติโก มาดริด, โรมา ต่างทยอยกันออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่ขอเข้าร่วมด้วย

•    สิ่งที่เป็นปัญหาของซูเปอร์ลีกในเวลานี้คือการขาดความรู้สึกหรือเป้าหมายร่วมกันของโลกฟุตบอล ซูเปอร์ลีกถูกมองว่าเป็นหนทางดิ้นรนหนีตายของมหาอำนาจอย่างเรอัล มาดริดและบาร์เซโลนา

‘ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก 2.0’ การปฏิวัติเกมลูกหนังที่ยังทำไม่สำเร็จ

การอ่านคำพิพากษาของศาลยุติธรรมยุโรป (European of Justice) ในคดีการต่อสู้กันระหว่างฝ่ายของบริษัทยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก และฟากของสถาบันทางเกมลูกหนังอย่างยูเอฟา (และฟีฟา) สร้างความตื่นตะลึงให้แก่คนในวงการฟุตบอลมากพอสมควร

นั่นเพราะศาลได้ตัดสินว่าการที่ยูเอฟาและฟีฟาได้กระทำการขัดขวางนักฟุตบอลและสโมสรฟุตบอลไม่ให้เข้าร่วมแข่งขันในรายการ “ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก” หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า “ซูเปอร์ลีก” ที่มีเรื่องมีราวกันเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2021 ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายการแข่งขันของสหภาพยุโรป

ในความหมายของศาลไม่ต่างอะไรจากการกดไฟเขียวให้สามารถจัดตั้งรายการแข่งขันฟุตบอลใหม่ขึ้นมาได้ และถูกมองว่านี่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ทำให้ฉากทัศน์ของโลกฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลเหมือนเมื่อครั้งที่ศาลยุโรปตัดสินให้ฌอง มาร์ค-บอสแมน อดีตนักฟุตบอลเบลเยียมได้รับชัยชนะเหนือสโมสรเมื่อปี 1995 ที่กลายเป็นการปลดแอกระบบทาสของนักเตะ และทำให้นักฟุตบอลสามารถโยกย้ายทีมได้อย่างอิสระเสรี

แต่ที่สุดแล้วดูเหมือนคำตัดสินของศาลในเรื่องนี้ยังไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในเกมลูกหนังขึ้นมาได้ตามที่คาด 

เรื่องนี้เกิดจากเหตุผลใด?

‘ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก 2.0’ การปฏิวัติเกมลูกหนังที่ยังทำไม่สำเร็จ


ซูเปอร์ลีกโฉมใหม่ที่ไฉไลขึ้น?
ทันทีที่ได้ฟังคำตัดสินของศาล ทางด้านบริษัท A22 ในฐานะบริษัทที่รับหน้าที่ดูแลซูเปอร์ลีกได้มีการประกาศชัยชนะเหนือองค์กรลูกหนังอย่างยูเอฟาทันที พร้อมย้ำว่า “สิ้นสุดยุคผูกขาดของยูเอฟาแล้ว” 

จากนั้นพวกเขาได้เสนอแผนสำหรับการจัดตั้งซูเปอร์ลีก ในเวอร์ชั่นอัพเดตที่มีความแตกต่างจากแผนฉบับเดิมที่ออกมาเมื่อปี 2021 อย่างสิ้นเชิง โดยมีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้

1. จำนวนทีมเพิ่มจาก 20 ทีม เป็น 64 ทีม
2. มีการเพิ่มจำนวนดิวิชั่นเป็น 3 ดิวิชั่น ได้แก่ Star (16 ทีม), Gold (16 ทีม) และ Blue (32 ทีม)
3. มีระบบการเลื่อนชั้น-ตกชั้น 
4. ไม่มีสมาชิกถาวรเหมือนในแผนเวอร์ชั่นแรก (ซึ่งเป็นจุดที่มีการต่อต้านอย่างหนัก)
5. มีซูเปอร์ลีกสำหรับฟุตบอลหญิงด้วย
6. การเลือกทีมที่จะเข้าร่วมจะดูจากด้านของเกมกีฬาเป็นหลัก

การปรับเปลี่ยนนี้มาจากความพยายามของ A22 ที่หารือร่วมกับสโมสรฟุตบอลในยุโรปอย่างเปิดใจมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อไม่ให้ “พลาด” เหมือนในครั้งที่ผ่านมาซึ่งมีสโมสรที่จะได้รับประโยชน์จริงๆอยู่เพียงแค่ทีมสมาชิกร่วมก่อตั้ง 12 + 3 ทีม (ที่ยังไม่เปิดตัวในเวลานั้น) ที่จะเป็นสมาชิกถาวร

A22 ยืนยันว่าซูเปอร์ลีกเป็นรายการที่เปิดกว้างสำหรับทุกสโมสร และต้องการให้ทุกทีมได้มีส่วนร่วมในการออกแบบอนาคตใหม่ของวงการฟุตบอลยุโรปไปด้วยกัน โดยที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อำนาจของยูเอฟา องค์กรที่พวกเขามองว่าเป็น “มาเฟียลูกหนัง” ที่ไม่มีความโปร่งใสอีกต่อไป

ที่สำคัญคือนี่เป็นรายการแบบ fan-centric คิดทุกอย่างโดยมีแฟนบอลเป็นหัวใจ และจะเปิดให้แฟนบอลได้ชมเกมฟุตบอลดีๆแบบนี้ฟรีๆด้วย

ไม่มีเสียงตอบรับจากสโมสรที่ท่านเรียก
แต่ข่าวร้ายสำหรับซูเปอร์ลีกคือการที่เหมือนจะไม่มีใครเอาด้วยกับพวกเขาเลย

สโมสรดังในพรีเมียร์ลีกนำโดยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (หนึ่งในตัวตั้งตัวตี), เชลซี, แมนเชสเตอร์ ซิตี, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, ลิเวอร์พูล (แสดงจุดยืนช้ากว่าเพื่อน) รวมถึงสโมสรในลีกอื่นๆอาทิ บาเยิร์น มิวนิค, แอตเลติโก มาดริด, โรมา ต่างทยอยกันออกมาแสดงจุดยืนว่าไม่ขอเข้าร่วมด้วย

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหรือเกินความคาดหมายนัก เพราะเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้หลายสโมสรไม่คิดว่าจะเข้าร่วมด้วยคือพลังจากแฟนฟุตบอลที่เป็นเหมือนภูเขาไฟที่ข้างในอัดแน่นไปด้วยลาวาและแม็กมามากมายมหาศาล

การล้อเล้นกับความรู้สึกของแฟนบอลทำให้เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วยุโรปมาแล้วเมื่อครั้งมีการประกาศก่อตั้งซูเปอร์ลีกครั้งแรกในเดือนเมษายน 2021 โดยเฉพาะสโมสรอย่างเชลซี, อาร์เซนอล และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

อีกเหตุผลคือภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ต่างอะไรจากการก่อกบฎของสโมสรฟุตบอล ทางด้านยูเอฟาได้มีความพยายามที่จะกระชับอำนาจ ออกกฎต่างๆเพื่ออุดช่องโหว่ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันอีก รวมถึงความร่วมมือจากองค์กรฟุตบอลในประเทศ เช่น พรีเมียร์ลีก, บุนเดสลีกา, ลาลีกา ที่ขู่พร้อม “ตัด” ทีมที่จะเข้าร่วมออกจากกองมรดก

มีการแซวกันถึงขั้นว่าซูเปอร์ลีกจะมีแค่ 2 ทีมคือเรอัล มาดริด และบาร์เซโลนา สองสโมสรยักษ์ใหญ่ที่เป็นตัวตั้งตัวตีที่ยืนยันว่าโปรเจ็คต์นี้จะต้องเกิดขึ้นให้ได้เพราะมันเกี่ยวกับความมั่นคงของวงการฟุตบอลยุโรปในภาพรวม

‘ยูโรเปียน ซูเปอร์ลีก 2.0’ การปฏิวัติเกมลูกหนังที่ยังทำไม่สำเร็จ

แต่เอาเข้าจริงก็อาจจะไม่ได้มีแค่ 2 ทีม เพราะมีสโมสรที่ให้ความสนใจเช่นกัน โดยยังมี พีเอสวี ไอนด์โฮเฟน, ฟเยนอร์ด, เบซิคตัส, เรด สตาร์ เบลเกรด, นาโปลี, เอฟซี ปอร์โต, เบนฟิกา และยูเวนตุส ที่เคยเป็นหนึ่งในแกนหลักของซูเปอร์ลีกแม้ว่าจะโดนบีบให้ถอนตัวเมื่อปีกลายก็ตาม
    
ซูเปอร์ลีกจะเป็นความจริงได้ไหม?
ถึงดูแล้วโอกาสที่จะเกิดรายการซูเปอร์ลีกยังดูเป็นเรื่องยากในระดับใกล้เคียงกับคำว่าเป็นไปไม่ได้ (ที่ทำให้อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูเอฟาถึงกับหัวเราะเยาะ) แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสที่รายการอย่างซูเปอร์ลีกจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต

สิ่งที่เป็นปัญหาของซูเปอร์ลีกในเวลานี้คือการขาดความรู้สึกหรือเป้าหมายร่วมกันของโลกฟุตบอล

ซูเปอร์ลีกถูกมองว่าเป็นหนทางดิ้นรนหนีตายของมหาอำนาจอย่างเรอัล มาดริดและบาร์เซโลนาซึ่งประสบปัญหาทางการเงินอย่างแสนสาหัส (โดยเฉพาะทีมหลังที่มีโอกาสจะโดนแบนจากการเข้าแข่งแชมเปียนส์ ลีกในฤดูกาลหน้าเพราะทำผิดกฎทางการเงิน) 

แต่หากมองให้ลึกลงไป สิ่งที่ฟลอเรนติโน เปเรซ และโจน ลาปอร์ตา ประธานทีม “ราชันชุดขาว” กับ “เจ้าบุญทุ่ม” พยายามจะบอกคือขณะนี้โลกมีซูเปอร์ลีกมาสักพักแล้ว และนั่นคือพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ซึ่งมีอำนาจทางการเงินมากมายมหาศาลเพราะทำรายได้จากลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดทิ้งห่างลีกคู่แข่งไปหลายเท่าตัว

หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปสมดุลของการแข่งขันในยุโรปจะสูญไป สโมสรจากชาติอื่นจะขาดศักยภาพในการแข่งขัน และจะไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน

เพียงแต่เรื่องดังกล่าวดูเหมือนจะไกลตัวและไกลใจของแฟนบอลหลายคนในเวลานี้ 

ในโครงสร้างของซูเปอร์ลีกเองก็มีจุดที่เป็นปัญหาเช่นกัน
• ทีมในดิวิชันสูงสุดคือ Star จะการันตีสถานะ 3 ปีถึงจะเริ่มมีการปรับตกชั้น
• จำนวนทีมที่เพิ่มขึ้นหมายถึงมี “ตัวหาร” เงินรางวัลเพิ่มขึ้น และอาจจะได้น้อยกว่าที่คาด

ดังนั้นนี่เป็นโจทย์ที่ทาง A22 ต้องหาทางปรับแต่งให้รูปแบบการแข่งขันลงตัวกว่านี้ เพื่อดึงดูดทีมให้เข้าร่วมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เสียงมีน้ำหนักมากพอ หนักแน่นพอที่จะทำให้ทุกคนหันมามองซูเปอร์ลีกในมุมมองใหม่

แล้วรอจังหวะที่ดีที่สุดที่ประกาศการจัดตั้งใหม่ ไม่ฝืนดันทุรังต่อไป

จะว่าไปก็คล้ายกับเรื่องของการจัดตั้งรัฐบาลเหมือนกัน มันอาจจะต้องใช้ระยะเวลามากกว่านี้เพื่อประสานสิบทิศ รวมถึงทิศสำคัญที่สุดอย่างนักลงทุน (ซึ่งเดิมมี เจพี มอร์แกน เป็นแบ็คอัพด้วย) ซึ่งมันอาจจะกลายเป็นความพยายามที่สูญเปล่า

แต่อย่างน้อยนี่สุดนี่คือการเริ่มต้นก้าวแรก และก้าวแรกสำคัญเสมอ

อ้างอิง - reutersespn , theguardian 1, theguardian 2 , theguardian