SMEs ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย มุมมองที่แตกต่าง เศรษฐกิจไทย ปี 2567 (จบ)

SMEs ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย มุมมองที่แตกต่าง เศรษฐกิจไทย ปี 2567 (จบ)

การอ้างไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นเรื่องที่ฟังแล้วหดหู่ จะเพิ่มหรือจะลดดอกเบี้ยเขาไม่สนแล้ว

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์ในรายการ Deep Talk ชึ่งจัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ปี 2567 ปัญหาเศรษฐกิจต่างจากปี 2540 เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการรายใหญ่ ธนาคารมีกำไร

ขณะที่ประชาชนได้รับผลกระทบมาก โดยเฉพาะตลาดกลางล่าง กลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาไม่มีงานทำ เงินเดือนไม่ขึ้น ที่สำคัญใช้เงินออมไปหมดแล้ว มีการกู้หนี้นอกระบบ อีกปัญหาสำคัญดอกเบี้ยสูง ขณะที่กำลังซื้อตลาดกลางลงล่างของไทยไม่มีเงินออม ทั้งมีหนี้นอกระบบจำนวนมาก และแบกภาระดอกเบี้ยไม่ไหว ค่าผ่อนบ้านขึ้นมาเกือบเท่าตัวจากปกติดอกเบี้ย 3% ขึ้นมาเป็น 6% ส่วนยอดการปฏิเสธสินเชื่อ (Rejection Rate) สูงถึง 70% เป็นตัวเลขไม่เคยเห็นมาก่อนตลอดระยะเวลา 30 ปี ที่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์

นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปัจจุบันถือว่าต่างกับวิกฤติปี 2540 หลายด้าน ปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านเสถียรภาพระบบการเงินที่ ธปท ถือเป็นเสาหลักในการสร้างเสถียรภาพในระบบการเงินไทย และป็นองคาพยพทีทำให้ระบบการเงินเข้มแข็ง ต่างกับ 20 ปี ที่ผ่านมา ที่ทำให้ปัจจุบันมีกลไกในการสร้างความเข้มแข็ง ทั้งการตั้งสำรอง เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่มีความรัดกุมมาก

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดใจในงาน Meet the press เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ตอนหนึ่งว่า ธปท ยังมีความเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2567 อยู่ที่ 90.8% ต่อ GDP ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักของการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับภาวะหนี้ครัวเรือน เพราะว่าหากดอกเบี้ยสูงก็เป็นภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้น แต่หากดอกเบี้ยต่ำเกินไป จะทำให้การกู้ยืมเพิ่มขึ้นกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินมีความเสี่ยง 

อย่างไรก็ดี นอกจากการพิจารณาเครื่องมือเรื่องของดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ยังมีเครื่องมืออื่นที่จะช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านการเงินได้ และลดผลกระทบต่าง ๆ ลงได้ เช่น มาตรการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งมีเป้าหมายในการดูแเงินบาทไม่ให้มีความผันผวน มาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน เช่น การผ่อนเกณฑ์ LTV ชั่วคราว

นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางการเงินเข้ามาเสริม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน การแก้ปัญหาสภาพคล่อง เช่น สินเชื่อฟื้นฟูจากโควิด โครงการค้ำประกันสินเชื่อ คลีนิคแก้หนี้ และการออกมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม(Responsible Lending-RL) เพื่อให้สถาบันการเงินแก้หนี้เก่าที่มีปัญหา และปล่อยหนี้ใหม่อย่างรับผิดชอบ “หากเป็นแค่เรื่องของดอกเบี้ยนโยบาย จะลำบาก จึงต้องใช้เครื่องมืออื่นเข้ามาเสริม และทำแบบผสมผสาน

นายสุรพล โอภาสเสถียรพงษ์ ผู้จัดการเครดิตบูโร ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยเทียบกับ GDP ปัจจุบันอยู่ที่ 91.3% ไม่ต้องบอกนะครับว่ามันอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เป็นหนี้ขนาดไหน ลองไปเดินถนนถามคนก็จะรู้ อย่าเอาแต่ถามกันเอง ผลจาก Income shock ในช่วงโควิดที่มีการประเมินว่าหายไปถึง 2.6 ล้านล้านบาท ที่น่ากังวลคือหนี้ที่เอาไปทำธุรกิจกับหนี้ OD มันติดลบ 5.7% และ 5% yoy ตามลำดับ

ครบรอบ 27 ปี ของวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่เกิดตั้งแต่ 2 กรกฏาคม 2540 มีกูรูหลายสำนักระบุว่าปีนี้อาจจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง ประเทศเราเผชิญปัญหาหลายด้านที่บอบช้ำที่สุดคือสงครามโควิด และอยู่ในยุคสมัยของรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนานหลายปี สังคมก็เสื่อมทรามลงเกือบทุกด้าน มุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ฟังดูสวยหรูเป็นสูตรสำเร็จที่ฟังแล้วงง เช่น ถ้าปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไป จะทำให้การกู้ยืมเพิ่มขึ้น มาตรการทางการเงินที่ออกมาเสริมอีกมากมาย แต่ผู้ประกอบการ SMEs ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ เพราะผู้บริหารธนาคารพาณิชย์บอกว่า ปัจจุบันมีกลไกในการสร้างความเข้มแข็งทั้งการตั้งสำรองและเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อที่รัดกุมมาก

ผู้ประกอบการ SMEs เขาฝากมาบอกว่าการอ้างไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพราะเศรษฐกิจดีขึ้นเป็นเรื่องที่ฟังแล้วหดหู่ จะเพิ่มหรือจะลดดอกเบี้ยเขาไม่สนแล้วครับ ทำอย่างไรเขาจึงจะเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ ไม่ต้องพึ่งพาเงินกู้นอกระบบที่อัตราดอกเบี้ยสูงมาก คำสัมภาษณ์ของผู้บริหารสถาบันการเงิน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นักเศรษฐศาสตร์สำคัญแล้ว ยิ่งทำให้ไม่มีความหวังเลย…