มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท. เหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันหรือไม่?
มาตรการ ธปท. ฉบับล่าสุดผมไม่แน่ใจว่า ธปท.ได้ออกไปสัมผัสกับความทุกข์ยากของชาวบ้านว่าเป็นไปตามที่ "คุณสุรพล" ระบุหรือไม่
ตามประกาศฉบับที่ 31/2567 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง ในการประชุมวันนี้ คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เห็นว่าปัจจุบัน ยังคงมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากรายได้ยังฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ จึงเห็นควรปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในปัจจุบันให้เหมาะสมกับสถานณ์ยิ่งขึ้น
ผมได้ศึกษารายละเอียดตามประกาศฉบับดังกล่าว สรุปประเด็น ได้ 3 ประเด็น ประเด็นแรก หนี้บัตรเครดิต การผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำ (minimum payment) คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำ 8% จนถึงสิ้นปี 2568 มีเครดิตเงินคืนให้ผู้ที่จ่ายขั้นต่ำได้มากกว่าหรือเท่ากับ 8% เทียบเท่าการลดดอกเบี้ย 0.5% ครึ่งปีแรก และ 0.25% ครึ่งปีหลังของปี 2568 (จ่ายทุก 3 เดือน) เริ่มวันที่ 1 มกราคม 2568 คงวงเงินส่วนที่เหลือในบัตรเครดิต สำหรับผู้ที่จ่ายขั้นต่ำ ตั้งแต่ 5% แต่ไม่ถึง 5% หากปรับโครงสร้างหนี้ เริ่มภายในเดือนกันยายน 2567
ประเด็นที่ 2 หนี้บ้านและหนี้รายย่อย มาตรการรวมหนี้สินเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย (debt consolidation)
ผ่อนปรนอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) ให้เกินเพดานที่กำหนด มีโอกาสคงวงเงินสินเชื่อรายย่อยส่วนที่เหลือ ภายหลังการรวมหนี้ เริ่มภายในเดือนกันยายน 2567 สิ้นสุดเดือนธันว่าคม 2568
ประเด็นที่ 3 หนี้บัตรกดเงินสด การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Persistant Debt :PD) ขยายเวลาการปิดจบหนี้จาก 5 ปีเป็น 7 ปี เพื่อลดค่างวดต่อเดือน (อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 15% ต่อปี เท่าเดิม) มีโอกาสคงวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนส่วนที่ไม่ได้ใช้ (อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็น) โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2568
ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ยังมีภาระหนี้สูงและมีปัญหาสภาพคล่อง ธปท.ยังมีมาตรการที่กำหนดให้ผู้บริการทางการเงินเข้าช่วยเหลือเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง และหลังเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง ภายใต้หลักเกณฑ์ Responsibility Lending รวมถึงการปรึกษาปัญหาหนี้กับหมอหนี้ และโครงการคลีนิคแก้หนี้ โดย ธปท. จะติดตามประสิทธิผลและผลข้างเคียงใกล้ชิด และจะพิจารณาปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ผมได้ติดตามการโพสต์เฟซบุ๊กของ คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ระบุ สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ในไตรมาส 1/2567 เทียบกับ GDP ที่สูงเกนกว่า 90% ของ GDP ไม่ต้องบอกนะครับว่ามันอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตของผู้คนที่เป็นหนี้ขนาดไหน ลองไปเดินถนนถามคนก็จะรู้ อย่าเอาแต่ถามกันเอง ผลจากจาก Income shock ในช่วงโควิดที่มีการประเมินว่าหายไปถึง 2.6 ล้านล้านบาท
ข้อมูลหลายสำนักบอกว่า รายได้ธุรกิจเคขาลงมันยังไม่ฟื้นตัว รายได้ผู้คนก็น้อยลง ไม่แน่นอน ข้าวของค่อย ๆ มีราคาเพิ่มขึ้น การดำเนินชีวิตยากลำบากขึ้น คุณสุรพลฯ ระบุว่า 28% ของหนี้ครัวเรือนไทย 16.3 ล้านล้านบาท เป็นการกู้ไปกินไปใช้ที่เรียกว่าบริโภค ต้องเอารายได้ในอนาคตมาผ่อนจ่าย
คำถามคือถ้ารายได้ไม่มาตามนัด เพราะมีโรคระบาดคั่น ไอ้สิ่งที่คิดว่าจะจ่ายได้แน่มันก็ไม่แน่ ดอกเบี้ยที่ทับถม และแพงพอควร มันจึงเป็นหนี้สะสมเกินศักยภาพในวันนี้ เพราะวันนั้นคิดว่ามันอยู่ในศักยภาพ ตรงนี้เรียกว่าติดกับดักการเป็นหนี้ชัดเจน
ปัญหาอย่างหนึ่งของผมคือ ไม่ค่อยเข้าใจมาตรการของ ธปท. ตอนที่ยังทำงานแบงก์ รับผิดชอบในการอำนวยสินเชื่อ ติดตามแก้ไขหนี้นานหลายสิบปี ได้สัมผัสกับประกาศของ ธปท.หลายครั้ง ต้องสอบถามเพิ่มเติม ทำความเข้าใจก่อนลงมือปฎิบัติ
ตามประกาศมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของ ธปท.ฉบับล่าสุดผมไม่แน่ใจว่า ธปท.ได้ออกไปสัมผัสกับความทุกข์ยากของชาวบ้านว่าเป็นไปตามที่คุณสุรพลฯ ระบุหรือไม่ ยังงงว่าทำไมบางมาตรการต้องเริ่ม เดือนกัยายน 2567 บางมาตรการเริ่มเดือน มกราคม 2568 เหมาะสมและทันกับสถานการณ์หรือไม่ กว่าจะถึงวันนั้น คงมีชาวบ้านฆ่าตัวตายหลายคน ต้องสอบถามเพิ่มเติมครับ…