ยกระดับคุณภาพแรงงาน ด้วยการกำหนดค่าจ้างตามคุณวุฒิวิชาชีพ

ยกระดับคุณภาพแรงงาน ด้วยการกำหนดค่าจ้างตามคุณวุฒิวิชาชีพ

ที่มีความเชื่อว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน เท่ากันทั่วประเทศ และหวังผลในทางปฏิบัติจะช่วยส่งผลให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพ (productivity) ของแรงงาน ก็คงไม่เป็นความจริง ตามที่หลายส่วนพยายามประกาศ

จากการศึกษาวิจัยของ อโนทัย พุทธารี, ปุณฑริก ศุภอมรกุล และ พรสวรรค์ รักเป็นธรรม, 2553. "ดัชนีผลิตภาพแรงงาน” ผลิตภาพแรงงาน (productivity) ไม่ได้มีการปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันกับค่าจ้าง อันส่งผลให้ค่าจ้างแรงงานอันเป็นกลไกหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพและผลิตภาพของแรงงานล้มเหลว มีผลในทางลบต่อระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ซึ่งในช่วงเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพแรงงานของไทยขยายตัวอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำและมีแนวโน้มลดลง

มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งจะเป็นกลไกที่สามารถช่วยยกระดับผลิตภาพของแรงงาน (productivity)ให้สูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาวด้วยการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา ในสมรรถนะ (competency) ของแรงงาน ทั้งในส่วนที่เป็น ทักษะ (skill) หรือความชำนาญและความรู้ (knowledge) ที่จำเป็นในแต่ละอาชีพ ผ่านกระบวนการทดสอบ ประเมิน และฝึกอบรม อันจะเป็น จากการที่แรงงานมีช่องทางในการพัฒนา ทักษะ และความรู้ ตามกลุ่มอาชีพที่ตนเองสังกัด ในขณะที่ผู้ประกอบการก็สามารถนำมาใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จาก productivity  สู่ competency

ในการทำงานแรงงานไม่เพียงแต่ต้องใช้ความรู้ แต่ยังต้องใช้ทักษะและความเชี่ยวชาญหลายด้านที่เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงและการฝึกฝน ผู้ประกอบอาชีพที่มีและไม่มีคุณวุฒิการศึกษาในสาขานั้นๆล้วนมีศักยภาพในการพัฒนาความสามารถการทำงานด้านต่างๆในหน้าที่ของตน การนำความรู้ ทักษะ และความสามารถมาประยุกต์ใช้เพื่อการประกอบอาชีพ เรียกว่า “สมรรถนะ” (competency) ซึ่งในแต่ละสาขาอาชีพประกอบไปด้วยสายงานต่างๆ ในแต่ละสายงานประกอบไปด้วยหลายอาชีพ และในแต่ละอาชีพจำเป็นต้องมีสมรรถนะหลายๆ ด้าน เช่น ในสาขาที่พักและโรงแรม สายงานการต้อนรับ อาจประกอบไปด้วยอาชีพต่างๆ ตั้งแต่ผู้จัดการฝ่ายต้อนรับ พนักงานต้อนรับ พนักงานรับโทรศัพท์ พนักงานยกกระเป๋า รวมถึงอาชีพอื่นๆ ซึ่งแต่ละอาชีพมีงานในหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป และจำเป็นต้องใช้สมรรถนะที่หลากหลายในการทำงานในหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ

จากการที่แรงงานมีช่องทางในการพัฒนาทักษะและความรู้ตามกลุ่มอาชีพที่ตนเองสังกัด ในขณะที่ผู้ประกอบการก็สามารถนำมาใช้เป็นกรอบในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของการรับเข้าทำงาน การปรับเปลี่ยนตำแหน่งงาน และการกำหนดค่าตอบแทน ในส่วนของสถาบันการศึกษาสามารถใช้มาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพเป็นฐาน (base) ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน ก็จะส่งผลให้ผู้จบการศึกษามีสมรรถนะตรงกับความต้องการของตลาดงาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านแรงงานให้กับประเทศ

ดังนั้น ระบบคุณวุฒิวิชาชีพ จึงเป็นกลไกหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่าจะสามารถช่วยพัฒนาและยกระดับผลิตภาพของแรงงานให้สูงขึ้นได้ ซึ่งได้มีการดำเนินการและนำมาใช้ในทางปฏิบัติในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย เช่น สหรัฐ แคนาดา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฯลฯ

คุณวุฒิวิชาชีพค้าปลีกที่สมาคมผู้ค้าปลีกจัดทำสำเร็จแล้ว

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้พยายามให้มีการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพในสาขาธุรกิจค้าปลีกของประเทศขึ้นมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการเตรียมบุคลากรในกลุ่มอาชีพให้มีความพร้อมในด้านของสมรรถนะของบุคคลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่จะสามารถจ้างแรงงานที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการ จนในที่สุด การดำเนินงานเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2557 และสิ้นสุดโครงการวันที่ 30 ก.ย.2558 และได้มีการทบทวนใหม่สำเร็จอีกครั้งเมื่อเดือน ก.ย.2565 โดยจะครอบคลุม 3 วิชาชีพ ระดับ 2, 3 และ 4

คุณวุฒิวิชาชีพ พนักงานขาย ระดับ 2

คุณวุฒิวิชาชีพ พนักงานขาย ระดับ 3

คุณวุฒิวิชาชีพ บริหารร้านค้า ระดับ 3

คุณวุฒิวิชาชีพ บริหารร้านค้า ระดับ 4

คุณวุฒิวิชาชีพ ป้องกันความสูญเสีย ระดับ 3

คุณวุฒิวิชาชีพ ป้องกันความสูญเสีย ระดับ 4

ในขั้นตอนต่อๆ ไป สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จะจัดทำคุณวุฒิวิชาชีพอื่นๆ ของสาขาค้าปลีกต่อไป เช่น คุณวุฒิวิชาชีพการจัดแสดงสินค้า (Display หรือ Visual Merchandise) คุณวุฒิวิชาชีพจัดซื้อสินค้าอาหารสด คุณวุฒิวิชาชีพจัดซื้อสินค้าอาหารแห้ง คุณวุฒิวิชาชีพจัดซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า คุณวุฒิวิชาชีพจัดหาทำเลที่ตั้ง เป็นต้น