ทรัพยากรมนุษย์ หนึ่งในสี่ของปัจจัยหลัก

ทรัพยากรมนุษย์ หนึ่งในสี่ของปัจจัยหลัก

รัฐบาลไต้หวันกำลังผลักดันนโยบายดึงดูดทรัพยากรมนุษย์จากต่างประเทศ เข้ามาทำงานในไต้หวัน เพิ่มขึ้นอีก 4 แสนคนภายใน 1 ทศวรรษ 

ประชากรไต้หวันปัจจุบัน 24,000,000 คน อายุเฉลี่ย 42.5 ปี อัตราการเกิด 1.22 % ปีที่แล้วมีผู้เกิด 153,820 คน และเสียชีวิต 183,732 คน นับว่าสูญเสียประชากรไป 29,912 คน (อัตราการเกิด 2.1คน ต่อสตรีหนึ่งคน จึงจะทดแทนจำนวนประชากรได้)

รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังเป็นห่วงว่าประชากรจะลดลง เศรษฐกิจและความมั่นคงจะสะเทือน ประชากรเกาหลีใต้ปัจจุบัน 52,000,000 คน แต่อัตราการเกิด 0.81% ต่อปี ประเมินว่าอีก 100 ปีข้างหน้า ประชากรเกาหลีใต้จะเหลือเพียงแค่ 12,000,000 คน และปี ค.ศ. 2070 อายุเฉลี่ยของประชากรจะสูงขึ้นเป็น 62 ปี จากปัจจุบัน 43 ปี กลายเป็นสังคมคนแก่

 

จีนกำลังเป็นห่วง ประชากร 1,402 ล้านคนในปัจจุบัน อายุเฉลี่ย 38 ปี อัตราการเกิด 1.7% ซึ่งไม่เพียงพอต่อการทดแทนประชากรในปัจจุบัน

ญี่ปุ่นประชากร 126,000,000 คน อายุเฉลี่ย 48.4 ปี อัตราการเกิด 1.36% เสียชีวิต 1,439,809 คน และเด็กเกิดเพียงแค่ 811,604 คน ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียประชากรไปในปีค.ศ. 2021 ถึง 628,205 คน

ตัวเลขตามตัวอย่างของบางประเทศในภูมิภาค ชี้ให้เราเห็นถึงแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ การวางแผนของผู้ปกครองแทบทุกประเทศ จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลักสี่ประการคือ ทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิอากาศ และเทคโนโลยี 

ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งเห็นชัดเจนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา สร้างความเสียหายเป็นลูกโซ่ บริษัทสหรัฐและตะวันตก ที่เคยพึ่งพาสมรรถนะการผลิตของจีน หนีความเสี่ยงด้านการเมืองไปหาฐานการผลิตที่ใหม่ บริษัทที่มีขีดความสามารถในการวางแผนระยะยาวได้ และกำลังการซื้อสูง

ก็จะพิจารณาตั้งฐานใหม่ในประเทศที่มีทรัพยากรมนุษย์พร้อม และมีแนวโน้มเอื้ออำนวยต่อความมั่นคงระยะยาว เช่นเวียดนามซึ่งมีประชากร 97,000,000 คน อายุเฉลี่ย 32.5 ปี และอัตราการเกิด 2.05% หรือ อินโดนีเซียประชากร 270,000,000 คนอายุเฉลี่ย 29.7 ปี และอัตราการเกิด 2.29% 

ที่น่าจับตาคืออินเดีย ประชากร 1,380,000,000 คน อายุเฉลี่ยเพียงแค่ 28.4 ปี และอัตราการเกิด 2.2% ประชากรของอินเดียจะเพิ่มขึ้นจำนวนเท่าจีน และจะแซงจีนในเวลาอีกไม่นาน

ฉะนั้นการขยับหนีย้ายฐานผลิตแถบตะวันออก ทั้งจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และไต้หวัน ไปสู่อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จึงเป็นเรื่องที่เราเข้าใจไม่ยาก ประชากรประเทศเหล่านี้ แม้มีรายได้น้อยในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการซื้อสูงขึ้น และฐานะเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากความยากจน เป็นฐานะปานกลาง กลายเป็นผู้บริโภคใหญ่ของบริษัทลงทุนข้ามทวีป 

Apple iPhone 14 ย้ายฐานการผลิตจากจีนไปเริ่มใหม่ที่ Chennai อินเดียจะออกสู่ตลาดไม่เกินเดือนพฤศจิกายนนี้ การคิดย้ายฐานผลิตของ Apple อินเดียนั้นเริ่มตั้งแต่ปี 2017 เมื่อมีการปะทะทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีน Appleมองอินเดียเป็นตลาดในอนาคตด้วย และรัฐบาลอินเดียทุ่มเทให้รางวัลล่อใจหลายอย่างรวมทั้งลดหย่อนภาษี 

Foxconn Technology Group ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักให้ Apple เป็นบริษัทไต้หวันซึ่งประสบความสำเร็จมาก โดยรับงานวิจัยค้นคว้าจากสหรัฐอเมริกา มาปรับปรุงเพิ่มเติมในไต้หวัน จัดกระบวนการผลิตประสานงานหลายบริษัทซับซ้อน และวางแผนละเอียดรัดกุมสร้างโรงงานผลิตในจีน โดยใช้ความร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นของจีน และไฟเขียวโดยรัฐบาลกลางจากปักกิ่ง จีนเองก็ได้ผลประโยชน์จากประสบการณ์หลายส่วน ในขั้นตอนการผลิต ถึงแม้ว่าการวิจัยหลายอย่างจะต้องค้นคว้าหาเอง และใช้กลวิธีทุกอย่างเพื่อผลิตสินค้าให้ครบถ้วนในจีนให้ได้ 

แต่การโยกย้ายของหลายบริษัทใหญ่ต่างๆโดยเฉพาะกรณีของ Apple นี้ อาจเร็วกว่าที่คิดไว้ แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัว และนอกจากนั้น จีนต้องเตรียมยุทธวิธีแข่งขันกับดาวรุ่งดวงใหม่คืออินเดีย ซึ่งมีความพร้อมมากไม่ต่างกับจีนเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว และอินเดียเองก็มีจุดแข็งหลายอย่าง ที่เอื้ออำนวยต่อความสำเร็จ เช่นความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของเยาวชนอินเดีย เป็นต้น

การโยกย้ายผู้เชี่ยวชาญและอุปกรณ์พิเศษต่างๆ รวมทั้งความลับการวิจัยค้นคว้าต่างๆจากจีน มาสู่อินเดีย เป็นเรื่องที่ต้องทำด้วยความละเอียดอ่อน ไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในจีน 

จีนเองก็พยายามวางแผนแก้ปัญหาประชากร ที่อัตราการเกิดลดลง และอายุโดยเฉลี่ยมากขึ้น วิธีหนึ่งคือการพัฒนาเครื่องจักรกลอัตโนมัติ เป็นหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ ความพยายามในการเชิญชวน และให้สินจ้างรางวัลประชาชน ให้มีลูกมากขึ้นนั้น ยังไม่เห็นผล 

ควบคู่กับการใช้เทคโนโลยี จีนใช้นโยบายโยกย้ายฐานผลิต ไปที่ประเทศซึ่งมีแรงงานหนุ่มสาว เช่นอินโดนีเซีย สินค้าที่ผลิตในอินโดนีเซีย ส่งออกไปอเมริกาและยุโรปได้ โดยไม่ต้องกังวลกับกำแพงภาษีนำเข้า ค่าแรงงานในปักกิ่งเดือนละ 360 เหรียญในจาการ์ตา 312 เหรียญ แต่นอกเมืองใหญ่ของอินโดนีเซีย ค่าแรงเพียงแค่ 130 เหรียญต่อเดือน

กรณีของเกาหลีใต้เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ รัฐบาลประกาศให้เงินประมาณ1,850 ดอลลาร์ ต่อเด็กที่เกิดใหม่หนึ่งคน และจ่ายให้ผู้ปกครองเดือนละ 225 ดอลลาร์ต่อเด็กหนึ่งคน และจะเพิ่มอีก3ปีข้างหน้าให้เป็น 370 ดอลลาร์ มีข่าวล่าสุดออกมาว่าโครงการนี้ไม่ได้ผล เพราะค่าเลี้ยงดูเด็กและเยาวชนในเกาหลีใต้ นับว่าเป็นอันดับสูงต้นต้นของโลก หรืออาจจะสูงที่สุดก็ได้ 

ไทยเราก็กำลังปรับตัวกันใหญ่ ประชากร 70,000,000 คนอายุเฉลี่ย 40.1 ปี และอัตราการเกิดลดลงติดต่อกันมา5 ปี เหลือเพียงแค่ 1.5% ปีที่แล้วเด็กเกิด 544,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 563,000 คน ประชากรไทยหดหายไป 19,000 คน 

ปริมาณเป็นเรื่องสำคัญ แต่คุณภาพก็สำคัญควบคู่กันหรืออาจจะสำคัญกว่า นอกจากเราจะพึ่งแรงงานทดแทนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว ซึ่งมีอัตราการเกิด 2.63% เมียนมา  2.14% หรือกัมพูชา ที่ 2.48% แล้ว หากทิศทางเปลี่ยนและเราพึ่งแรงงานเสริมจากต่างชาติไม่ได้ ก็คงต้องพิจารณายุทธศาสตร์กันใหม่ ว่าทำอย่างไรจะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมต่อไปได้ และจะไม่เผชิญปัญหาอย่างเช่นหลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ครับ