วิกฤติความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล กับเศรษฐกิจของประเทศไทย

วิกฤติความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล กับเศรษฐกิจของประเทศไทย

ล่าสุดผมได้มีโอกาสขึ้นเวทีเสวนาร่วมกับนักธุรกิจด้านดิจิทัลต่างชาติ พิธีกรถามถึงสาเหตุที่สนใจมาเปิดตลาดในประเทศไทย นักธุรกิจท่านนั้นคิดสักพักและตอบสั้น ๆ  ว่า “Life is good!” (เพราะชีวิตดี!) ซึ่งเรียกเสียงฮาจากผู้ฟังพอสมควร

แล้วปัจจัยที่เหลือของประเทศเราในวันนี้ล่ะ?

จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดย IMD World Competitiveness Ranking 2022 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 33 จากทั้งหมด 63 ประเทศ ซึ่งตกลงมา 5 อันดับจากปีที่แล้ว สาเหตุจากปัจจัยด้านประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ อยู่อันดับที่ 34 ลดลงถึง 13 อันดับ ปัจจัยด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ อยู่อันดับที่ 31 ลดลงถึง 11 อันดับ ปัจจัยด้านประสิทธิภาพทางธุรกิจ ลดลงถึง 9 อันดับ โดยมาอยู่ที่อันดับที่ 30 และปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก็ลดลงเช่นกัน โดยมาอยู่ที่อันดับ 44 ลดลง 1 อันดับจากปีที่แล้ว

ในขณะที่อันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล (World Digital Competitiveness Ranking) ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 40 จากทั้งหมด 63 ประเทศ ซึ่งตกลงไป 2 อันดับจากปีที่แล้ว สาเหตุจากปัจจัยด้านความรู้-ทักษะ ลดลง 3 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 45 ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ลดลง 2 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 20 ปัจจัยด้านความพร้อมสำหรับอนาคต ลดลงถึง 5 อันดับ มาอยู่อันดับที่ 49

อันดับที่ร่วงลงมาแบบเหมาทุกหมวดหมู่แบบนี้น่าจะถือว่าเข้าขั้นวิกฤตครับ เพราะสิ่งเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความเชื่อมั่นและเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติยิ่งขึ้นอีก เรากำลังถูกมองว่าขาดความพร้อมและกำลังถดถอยในหลายมิติ โดยเฉพาะในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ หากต้องการเห็นอนาคต เราต้องผลักดันให้การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลเป็นวาระระดับชาติอย่างเร่งด่วน

ซึ่งจากรายงานฉบับนี้ การเพิ่มขีดความสามารถด้านดิจิทัล ถือเป็นหนึ่งในห้าความท้าทายและเป้าหมายที่สำคัญของประเทศไทย ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ-ช่องว่างทางสังคม การสร้างความยืดหยุ่นของภาครัฐ และการบริหารจัดการแรงงานที่มีศักยภาพเพื่อไปสู่อนาคตเลย

 

ด้านความรู้ดิจิทัล คนไทยกว่า 83% ใช้สมาร์ทโฟน และ 86% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งสถิตินี้ผิวเผินอาจดูดี แต่จะมีกี่คนที่สามารถใช้งานเพื่อประโยชน์ในชีวิตประจำวัน ใช้ในการลดค่าครองชีพ หารายได้ และใช้ติดต่อ ใช้บริการ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  กับทางราชการ?

ดังนั้นความรู้ด้านดิจิทัลไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของจำนวน แต่คนไทยทุกคนต้องได้รับโอกาสในการเข้าถึงการฝึกฝนทักษะด้านดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปให้ทันกับตลาดแรงงานของโลก เริ่มตั้งแต่ระดับรากฐานคือการปรับปรุงหลักสูตรและระบบการศึกษาให้เท่าทันเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นหลัก 3 ประการคือ “การใช้งาน ความเข้าใจ และการสร้างสรรค์” ซึ่งต้องอาศัยความคล่องแคล่วในการใช้งานคอมพิวเตอร์-อินเทอร์เน็ต และสิ่งเหล่านี้หากปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กยิ่งดี

ระดับต่อไปคือการ “เพิ่มโอกาสในตลาดแรงงาน” การสอนทักษะที่จำเป็นในหลักสูตรสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวนี้ ต้องสามารถเข้าถึงได้โดยบุคคลทั่วไป ไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่มีงานทำที่ต้องการเพิ่มทักษะเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ว่างงานที่กำลังมองหาโอกาสในการศึกษาทักษะดิจิทัลเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพ และเยาวชนที่ต้องการเพิ่มรายได้หรือต้องการเติบโตอย่างรวดเร็วอีกด้วย

ด้านเทคโนโลยี การทำ Digitalization หรือการนำดิจิทัลมาปรับใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ  เพื่อโครงสร้างระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิภาพของภาครัฐและประสิทธิภาพทางธุรกิจ เราได้เรียนรู้จากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมาแล้วว่า เราจะสูญเสียเวลาและทรัพยากรไปมาก หากไม่ตัดสินใจทำอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีวันนี้มีอยู่มากมาย แต่ต้องนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างจับต้องได้

ถ้าภาครัฐใส่ใจฟังเสียงประชาชนก็จะรู้ว่าประชาชนต้องการ

1. โครงสร้างระบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและมีการบูรณาการไปจนถึงระดับแอปพลิเคชันที่ใช้ในการติดต่อ ใช้บริการ และแก้ปัญหาต่าง ๆ  กับทางราชการที่สะดวก เช่น การยื่นเอกสาร การยื่นขอใบอนุญาต

2. สนับสนุนประชาชนให้ใช้งานช่องทางดิจิทัล โดยต้องออกแบบให้เข้าถึงง่าย ตรงกับความต้องการเฉพาะด้านต่าง ๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตของประชาชน ตั้งแต่เกิดจนแก่ ตั้งแต่ตื่นออกจากบ้านจนกลับบ้านนอนหลับ

3. ช่วยให้ธุรกิจได้ใช้เวลาในการพัฒนาสินค้าและบริการของตน มากกว่าสิ้นเปลืองทรัพยากรไปกับงานจัดการเอกสารสำหรับราชการ

4. ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในประเทศไทย (หรือดึงดูดธุรกิจของคนไทยเองให้ยังอยากอยู่ในประเทศไทย!) ด้วยกฎระเบียบและระบบนิเวศน์ด้านดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชน ที่น่าเชื่อถือและเป็นธรรม

เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต วางกลยุทธ์เพื่อนำไปสู่การเติบโตในระยะยาว สร้างความโปร่งใสในกลยุทธ์และนโยบายระดับชาติ สร้างทัศนคติในการปรับตัวให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน และสร้างระบบนิเวศน์ที่มีความยืดหยุ่นคล่องตัว โดยเฉพาะแรงงานอิสระ (Gig worker) ด้านดิจิทัลหรือแรงงานที่สามารถใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการทำงานได้ ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจที่ต้องการความยืดหยุ่น

ซึ่งการสร้างสวัสดิภาพให้กับแรงงานดังกล่าวไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและข้อเสียเปรียบ เช่น ความมั่นคงของรายได้ มาตรฐานการกำหนดค่าแรงไม่ให้เกิดการตัดราคาต่ำกว่าต้นทุนจนตลาดพัง สวัสดิการด้านความปลอดภัยและสุขภาพเพราะไม่อาจเข้าถึงประกันสังคมได้ ฯลฯ ซึ่งจะทำให้แรงงานที่มีศักยภาพยังคงอยากทำงานในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักลงทุนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยให้ทันโลกต่อไป

อย่าให้ความแข็งแรงของประเทศไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ เหลือเพียงแค่ “Life is good” สำหรับนักลงทุนเลยนะครับ