เศรษฐกิจไทยยังคงมีทิศทางที่ดี
หลังจากสภาพัฒน์รายงานเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4ปี 2565 หดตัว 1.5% จากไตรมาสก่อนหน้า และขยายตัวเพียง 1.4% จากไตรมาส 4ปี 2564 ส่งผลให้ตลอดปี 2565 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.6% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดว่าอาจขยายตัวราว 3.0 – 3.2%
โดยมีสาเหตุหลักจากการลดลงของการส่งออก ซึ่งปรับตัวลดลง 10.5% ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และสภาพัฒน์คาดว่าการส่งออกสินค้าของไทยในปีนี้อาจลดลง 1.6% ส่งผลให้ตลาดเริ่มกังวลว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจเติบโตน้อยกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ดี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดว่าการส่งออกสินค้าปีนี้จะไม่ติดลบ โดยคาดว่าอาจขยายตัวได้ราว 1% ถึงแม้มีความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางก็ตาม ในขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 43 เดือนในเดือนม.ค. 2566 โดยดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งดัชนีฯ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ยกเว้นต้นทุนประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟ
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าที่ลดลงในไตรมาส 4 ปี 2565 นอกจากสะท้อนถึงอุปสงค์จากต่างประเทศที่อ่อนแอแล้ว ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากปัจจัยชั่วคราว ได้แก่ การล็อกดาวน์เพื่อสกัดการระบาดของโควิด-19 ในจีน ปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่ยังคงยืดเยื้อ การปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมัน อย่างไรก็ดี จากข้อมูลตัวเลขการใช้จ่ายของผู้บริโภคและตลาดแรงงานของสหรัฐและยุโรปที่ยังคงแข็งแกร่ง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน น่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของการบริโภคในตลาดโลก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย
ในส่วนของรายได้ภาคเกษตรในปีที่แล้วเติบโตดี แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาเนื้อหมูและไก่แพงจากปัญหาโรคระบาด ในขณะที่ราคาข้าวในช่วงปลายปีที่แล้วปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ท่ามกลางอุปทานข้าวในตลาดโลกที่ลดลง ส่วนราคายางได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกลดลง เนื่องจากความต้องการยางเพื่อใช้ผลิตถุงมือยางลดลงหลังสถานการณ์การระบาดของโควิดทั่วโลกดีขึ้น ในขณะที่ความต้องการยางเพื่อใช้ผลิตยางรถยนต์ยังคงอ่อนแอ เนื่องจากการผลิตรถยนต์ได้รับผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์
สำหรับตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนออกมาแข็งแกร่ง แต่ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 4ปี2565 กลับออกมาน่าผิดหวัง ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปในหลายๆด้านหลังการระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ขายสินค้าออนไลน์มากขึ้น การทำงานจากที่บ้านส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนไป พัฒนาการของเทคโนโลยี การเปลี่ยนอาชีพ ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน เป็นต้น นอกจากนี้ พฤติกรรมการลงทุนก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เช่น เพิ่มการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ ลงทุนในบิตคอยน์ ลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก เป็นต้น
ทั้งนี้ ธปท. รายงานตัวเลขเศรษฐกิจเดือนม.ค. 2566 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า นำโดยการบริโภคภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า แต่ลดลง 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากวันหยุดช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้อยู่ในเดือนม.ค. ในขณะที่ในปี 2565 เทศกาลตรุษจีนเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.
อย่างไรก็ดี มีสัญญาณเชิงบวกจากการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง และสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งบ่งชี้ว่า การส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และการบริโภคภายในประเทศจะยังคงแข็งแกร่ง
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยได้แรงหนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังจำนวนเที่ยวบินจากจีนเพิ่มขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวอินเดียจะเพิ่มมากขึ้นหลังทางการอินเดียยกเลิกข้อบังคับที่ให้ผู้ที่เดินทางจากไทยต้องแสดงผลตรวจโควิดตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการที่เหล่ายูทูบเบอร์ด้านการท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้าสู่ไทย และนำเสนอการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ในไทย เช่น การท่องเที่ยวในเมืองรอง การท่องเที่ยวแบบวิถีชาวบ้าน รวมถึงการทดลองกินอาหารแบบไทยๆ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาคเอกชนยังคงมีสัญญาณเติบโต และการส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ การเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพ.ค. จะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น
สำหรับปัจจัยเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หลายฝ่ายมองว่ามีความเสี่ยงน้อยลง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปมีความแข็งแกร่งมากพอที่จะรองรับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลาง
ทั้งนี้ ตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ผู้บริโภคจะยังคงมีความสามารถในการใช้จ่าย ถึงแม้ต้นทุนการกู้ยืมเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม อีกทั้งดัชนีภาคการผลิตและภาคบริการของสหรัฐและยุโรปมีทิศทางดีขึ้น เป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ การที่จีนเปิดประเทศจะส่งผลให้การการค้าในตลาดโลกมีทิศทางดีขึ้น เนื่องจากจีนเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภครายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ปัญหาในช่องแคบไต้หวัน การทดสอบอาวุธของเกาหลีเหนือ ฯลฯ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามต่อไป