เข้าสู่โหมดชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพรียง
ในช่วงที่ผ่านมา สัญญาณเศรษฐกิจโลกเริ่มเด่นชัดขึ้นว่าปัจจัยเสี่ยงเริ่มมีมากขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวลงอย่างพร้อมเพรียง (Synchronized slowdown)
โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมเบื้องต้น (Flash Composite PMI) ของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ทั่วโลกชะลอลงอย่างพร้อมเพรียงในเดือน มิ.ย. ชี้ว่าการชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ในกลุ่มยูโรโซน ญี่ปุ่น และสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมในภาคบริการที่แข็งแกร่งก่อนหน้านี้เติบโตช้าลงกว่าเดือนก่อนหน้า ในขณะที่กิจกรรมการผลิตยังคงอ่อนแอ
ในสหรัฐฯ Flash Composite PMI ลดลงสู่ระดับ 53 จากระดับ 54.3 ในเดือนก่อนหน้า ขณะที่ Flash Composite PMI ของยูโรโซนลดลงเหลือ 50.3 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งแทบไม่มีการเติบโตเมื่อเทียบกับ 52.8 ในเดือนก่อนหน้า การชะลอตัวรุนแรงเป็นพิเศษในฝรั่งเศส ซึ่งการสำรวจชี้ให้เห็นถึงการลดลงของกิจกรรมในเดือนแรกนับตั้งแต่เดือน ม.ค.
กิจกรรมทางธุรกิจในประเทศขนาดใหญ่ในยุโรปชะลอตัวลงอย่างมากในเดือน มิ.ย. จากภาคบริการที่ชะลอลงเป็นหลัก บ่งชี้ว่าต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นอาจเริ่มกระทบเศรษฐกิจ โดยเรา InnovestX มองว่า การฟื้นตัวของภาคบริการนั้นอยู่ในช่วงสุดท้ายแล้ว ขณะที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ซบเซากำลังจะส่งผลมากขึ้น และทำให้เราเชื่อว่าเศรษฐกิจจะหดตัวในรายไตรมาสอีกในไตรมาสที่สอง หลังจากหดตัวต่อเนื่องมาใน 2 ไตรมาสก่อน บ่งชี้สัญญาณเศรษฐกิจถดถอยเชิงเทคนิค
การสำรวจยังชี้ให้เห็นถึงแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ผ่อนคลายลง โดยธุรกิจต่างๆ รายงานว่าต้นทุนเริ่มชะลอตัวลง ทำให้การส่งผ่านราคาไปสู่ลูกค้าลดลง ซึ่งทั้งความต้องการ (Demand) และราคา (Price) ที่ชะลอลงน่าจะเริ่มทำให้ธนาคารกลางผ่อนคลายความกังวลจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่คาดไว้
InnovestX มองว่า สัญญาณจาก Flash PMI บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเริ่มชะลอลงโดยพร้อมเพรียงจาก (1) การชะลอตัวจากภาคการผลิตกำลังเข้าสู่ภาคบริการ (2) นโยบายการเงินที่ตึงตัว นำไปสู่สภาพคล่องทางการเงินที่ตึงตัวขึ้น และเริ่มกดดันภาคเศรษฐกิจมากขึ้น และ (3) ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อน่าจะชะลอลงเป็นลำดับ โดยเฉพาะเงินเฟ้อจากภาคการผลิต ที่จะเริ่มชะลอตัวลงตามราคาโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อจากจีนที่หดตัว
ในส่วนของเศรษฐกิจจีน เราระมัดระวังต่อทิศทางการขยายตัวเศรษฐกิจระยะต่อไป โดยที่ผ่านมา จีนเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น (1) การควบคุมการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงของอเมริกา (2) นักลงทุนต่างชาติกังวลในสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และชะลอการลงทุน และ (3) การปราบปรามบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
แต่เหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจอ่อนแอได้แก่ ภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก่อนวิกฤติ Covid เป็นแหล่งสำคัญของการเติบโตทั่วทั้งเศรษฐกิจ โดยภาคอสังหาฯ ชะลอตัว ครั้งแรกเมื่อรัฐบาลพยายามควบคุมการก่อหนี้ของภาคอสังหาฯ แต่ในปัจจุบัน ยอดขายยังคงชะลอตัว เช่น ระหว่างเดือน ม.ค.- พ.ค. การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ลดลง 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วและยังไม่เห็นสัญญาณของการจะพลิกฟื้นในอนาคต
การที่ฟองสบู่ภาคอสังหาริมทรัพย์แตกนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน เช่น ภาคการก่อสร้างและบริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่จำเป็นสำหรับการสร้างและการขายโครงการ นอกจากนั้น ภาคอสังหาฯ ที่ตกต่ำยังทำให้การบริโภคลดลงจากผลของ Wealth Effect เนื่องจากเจ้าของบ้านจะไม่ใช้จ่ายหากยังกังวลเกี่ยวกับมูลค่าทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด (ซึ่งก็คือที่อยู่อาศัย) และเนื่องจากธุรกิจจำนวนมากในจีนใช้ที่อยู่อาศัยเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืม ดังนั้นจึงมีแนวโน้มที่จะทำให้การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงเช่นกัน
ภาพที่ใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันของจีนมากที่สุดได้แก่ญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 1980 โดยเมื่อฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ของญี่ปุ่นแตกในปลายปี 1989 การเติบโตก็ชะลอตัวลงอย่างมาก จากเฉลี่ย 6% ต่อปีในช่วง 1989 เป็น 2% ในช่วง 1991-2000 โดยกว่าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะลดดอกเบี้ยเหลือศูนย์ จากอัตราสูงสุดที่ 8.6% ใช้เวลาถึง 6 ปี ขณะที่รัฐบาลใช้นโยบายการคลังในการมุ่งกระตุ้นการลงทุนมากกว่าการบริโภค นำไปสู่ภาวะ “ทศวรรษที่หายไป”
ภาพนี้เป็นภาพเช่นเดียวกับจีน รัฐบาลยังคงกระตุ้นการลงทุนโดยตรงมากกว่ากระตุ้นการบริโภค โดยธนาคารกลาง (PBOC) ลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.1% ขณะที่นโยบาย Common Prosperity หรือ “ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน” มุ่งเน้นการกระจายรายได้ที่เท่าเทียมกันมากกว่าที่จะกระตุ้นการบริโภค
นอกจากนั้น นโยบายเศรษฐกิจหลักอย่าง Dual Circulation หรือ “วัฏจักรเศรษฐกิจแฝด” ยังคงส่งเสริมการส่งออกและการลงทุน แต่ไม่เน้นการบริโภค ขณะที่การส่งเสริมการใช้จ่ายของครัวเรือนอย่างยั่งยืน เช่น การสร้าง Social Safety Net หรือเครือข่ายทางสังคมให้แข็งแรงขึ้น (เช่น สวัสดิการสุขภาพถ้วนหน้า หรือการเล่าเรียนฟรี) จะใช้เวลาหลายปีจึงจะสำเร็จ ทำให้ความซบเซาขอธุรกิจอสังหาฯ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่เพียงแค่ปีนี้เท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงอนาคตอีกด้วย
ด้านเศรษฐกิจไทย เราค่อนข้างกังวล เนื่องจากมองว่ากำลังจะเผชิญกับความเสี่ยงหลายประการ โดยล่าสุด ความเชื่อมั่นตลาดเงินตลาดทุนไทยที่ลดลง ผลจากการทุจริตและมีการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้หลายหมื่นล้านบาท ทำให้กระบวนการสกรีนของการรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ทั้งระบบเกิดปัญหาแล้วจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน ขณะที่ในระยะต่อไป ต้นทุนการระดมทุนยิ่งสูงขึ้น ไม่ว่าบริษัทจะเป็นการกู้ยืมเงินจากธนาคาร และการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งหุ้นกู้และหุ้นทุน (IPO) เพราะไม่สามารถเชื่อถือข้อมูลของบริษัทได้เต็มที่ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของภาคธุรกิจและเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้น InnovestX เราจึงแนะนำให้ ลงทุนแบบ defensive และ selective ในกลุ่มวัฏจักร และโฟกัสไปที่แนวโน้มธุรกิจและการฟื้นตัวของกำไร รวมถึงหุ้นที่มีงบการเงินแข็งแกร่ง โดยหุ้นเด่นในไตรมาส 3/2023 ของเรา คือ BBL BDMS BEM HMPRO และ OSP
ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดี
รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก : https://linktr.ee/InnovestX
เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุนโหลดเลย คลิก https://innovestx.onelink.me/23if/ek1n76zm
ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher
#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ
*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้