ส่องโค้งสุดท้ายเศรษฐกิจไทยปี 66 ภายใต้รัฐบาลใหม่
จากข้อมูลเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือนสิงหาคม 2566 ยังคงเป็นไปในทิศทางฟื้นตัวหนุนด้วยภาคการท่องเที่ยว และกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2566 นี้ เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ ภายใต้รัฐบาลใหม่ที่เดินหน้าเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจโลกที่โตแผ่วลงและตลาดการเงินที่มีความผันผวนสูง มาติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน
เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรกที่เติบโตเพียง 2.2% ด้วยแรงสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่สดใสมากขึ้น โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว และแรงกระตุ้นที่เพิ่มขึ้นผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า (Free Visa) เป็นเวลา 5 เดือน (กันยายน 2566 ถึง กุมภาพันธ์ 2567) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน โดยครอบคลุมช่วงวันหยุดยาวของประเทศจีน (Golden Week)
ซึ่งคาดว่าตลอดอายุมาตรการจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคน และทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2566 อยู่ที่ราว 28 ล้านคนจากช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 20 ล้านคน เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่ทยอยปรับดีขึ้นจากแรงส่งด้านราคาของสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหาร รวมถึงผลของฐานต่ำในปีก่อนหน้า โดยเริ่มมีสัญญาณดีขึ้นในเดือนสิงหาคม 2566 มูลค่าส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือนที่ 2.6%
ปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกไทยให้ขยายตัวได้มาจากการส่งออกสินค้าไปยังตลาดประเทศคู่ค้าสำคัญทั้ง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน ซึ่งมาจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม สำหรับกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศ คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากบรรยากาศการเมืองผ่อนคลายหลังจากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ และนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความชัดเจนขึ้น
โดยมาตรการภาครัฐที่ประกาศออกมาส่วนหนึ่งจะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ผ่านการลดค่าครองชีพ การพักหนี้ และเงินดิจิทัล 10,000 บาท ซึ่งจะมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจได้ค่อนข้างจำกัดในปี 2566 โดยเฉพาะเงินดิจิทัล คาดว่าจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2567 ทั้งนี้ จากแรงขับเคลื่อนขององค์ประกอบสำคัญที่มีบทบาทมากขึ้น ทำให้เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2566 นี้ เติบโตได้ที่ 3.4% และภาพรวมทั้งปีเศรษฐกิจไทยขยายตัวที่ 2.8%
ในมิติตลาดการเงิน มองอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับสู่ 2.5% ในการประชุมเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นจุดสูงสุดของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นในรอบนี้ ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 5.25-5.5% เป็นครั้งที่ 2 และมีความเป็นไปได้ที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในช่วงที่เหลือของปี โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 2.5% เป็นระดับที่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มจะขยายตัวเร่งขึ้นในปี 2567 แต่ยังมีความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง
และทิศทางเงินเฟ้อที่ยังมีความเสี่ยงจะปรับสูงขึ้นในปีหน้าแม้อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว สะท้อนจากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มทยอยปรับเพิ่มขึ้น และแรงกดดันด้านราคาอาหารและสินค้าเกษตรจากผลกระทบของปรากฎการณ์เอลนีโญที่มีสัญญาณชัดเจนมากขึ้นในปีหน้า ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มทรงตัวที่ 2.5% ต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 เป็นอย่างน้อย เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงเป็นบวก และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) รองรับกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ส่วนทิศทางค่าเงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่องทุบสถิติใหม่ในรอบ 11 เดือน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ค่าเงินบาทเฉลี่ยที่ 34.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และอ่อนค่าลงในไตรมาส 3 เฉลี่ยที่ 35.18 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุด ณ วันที่ 3 ตุลาคม อ่อนค่าแตะระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐและการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ เป็นสำคัญ
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2566 ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนสูงและเป็นไปในทิศทางอ่อนค่า ซึ่งเป็นผลจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ เงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งตั้งแต่ต้นปี พบว่า มีการไหลออกกว่า 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น ตลอดจนจังหวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของประเทศเศรษฐกิจหลัก และภาวะการเงินโลกที่ยังคงตึงตัวต่อไป อย่างไรก็ดี มีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะไม่อ่อนค่าลงไปมาก จากการที่ดุลการค้ามีแนวโน้มปรับดีขึ้นจากภาคการส่งออก รวมทั้งดุลบริการที่ได้รับผลบวกจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ทั้งนี้ มองโจทย์เศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป แม้มีปัจจัยบวกหลายประการที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 3% แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำทั้งจากปัจจัยภายนอกที่สำคัญ ได้แก่ แรงส่งจากเศรษฐกิจจีนที่แผ่วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยล่าสุด ธนาคารโลกปรับคาดการณ์เศรษฐกิจจีนขยายตัวเหลือ 4.4% จากเดิมมองที่ 4.8% ซึ่งอาจทำให้ภาคส่งออกฟื้นตัวช้า รวมถึงการฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยอาจน้อยกว่าคาด จากที่มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติใกล้จะกลับไปสู่ระดับก่อนวิกฤตโควิด-19 ในปี 2567 สำหรับปัจจัยภายใน มองความท้าทายในการเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ความไม่แน่นอนของแหล่งที่มาของงบประมาณ ซึ่งอาจกระทบต่อข้อจำกัดทางการคลังมากขึ้นตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวมอีกด้วย