เศรษฐกิจโลกและไทยในปี 2024: ปีแห่งความไม่แน่นอน

เศรษฐกิจโลกและไทยในปี 2024: ปีแห่งความไม่แน่นอน

ในปี 2024 เรามองว่า จะเป็นปีแห่งความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจทั้งโลกและไทย โดยเฉพาะใน 3 จุดหลัก อันได้แก่ 1. เศรษฐกิจถดถอย 2.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และ 3.มาตรการเศรษฐกิจของภาครัฐ

ในส่วนของฉากทัศน์ของเศรษฐกิจโลกในปี 2024 นั้น เรามองว่า 1.เศรษฐกิจพัฒนาแล้วเข้าสู่ภาวะถดถอยครึ่งปีแรก (Developed Market Recession) และจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ลดดอกเบี้ย 1% ในครึ่งปีแรก 2.เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป จากมาตรการการเงิน แต่ยังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะเงินฝืด 3. ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะ 2 สงคราม อันได้แก่ อิสราเอล-ฮามาซ และรัสเซีย-ยูเครน

ในส่วนจุดอ่อนเศรษฐกิจสหรัฐ เรามองว่า เศรษฐกิจสหรัฐมี 3 จุดอ่อนในปี 2024 จุดอ่อนแรก ได้แก่ภาคการบริโภค โดยปัจจุบัน 1.เงินออมส่วนเกินหมดแล้ว 2. บัตรเครดิตเป็นหนี้เสียมากขึ้น ท่ามกลางดอกเบี้ยสูงเป็นประวัติการณ์ 3. ค่าจ้างขยายตัวชะลอลงมากโดยเฉพาะภาคบริการ

จุดอ่อนที่สอง ได้แก่ ภาคธนาคารและภาคเอกชน: งานวิจัยจากนักเศรษฐศาสตร์การเงินระบุว่าปัจจุบัน 10% ของสินทรัพย์ธนาคารพาณิชย์สหรัฐสูญหายจากดอกเบี้ยขาขึ้น (และมีทุนต่ำกว่า Silicon Valley Bank: SVB ที่เคยล้มละลายในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา) ดังนั้น ถ้าเกิดสถานการณ์แห่ถอนเงินหรือ Bank run เพียง 50% ของเงินฝาก จะทำให้กว่า 190 ธนาคารพาณิชย์ล้มละลาย ขณะที่บริษัทขนาดเล็กล้มละลายในปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 25% จากปีก่อน

จุดอ่อนที่สาม ได้แก่ ภาคการคลัง: ปัจจุบัน หนี้สาธารณะของสหรัฐและโลกอยู่ที่ประมาณ 120% GDP ขณะที่สหรัฐยังขาดดุลงบประมาณ 7.5% GDP ซึ่งดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะยิ่งทำให้รายจ่ายดอกเบี้ยภาครัฐสูงขึ้น เสี่ยงต่อการวิกฤตการคลัง และล่าสุด บริษัทจัดอันดับเครดิต  Moody's ได้ปรับลดมุมมองอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรสหรัฐลงจากระดับ Aaa แล้ว ซึ่งเป็นบริษัทสุดท้ายที่ปรับมุมมองแง่ลบกับภาคการคลังสหรัฐมากขึ้น

ในส่วนของฉากทัศน์เศรษฐกิจจีนในปี 2024 เราเห็นว่า เศรษฐกิจจีนปรับตัวดีขึ้นเกินคาด สาเหตุหลักจากมาตรการทางการเงิน โดยรัฐบาลสั่งให้ธนาคารพาณิชย์รับซื้อหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นไปบริหาร แต่มองไปข้างหน้า เรามองว่าจีนยังมีความเสี่ยงเงินฝืด ซึ่งจะกดดันการเติบโตเศรษฐกิจในระยะต่อไป

ด้านมุมมองต่อปัญหาภูมิรัฐศาสตร์หรือ Geopolitics โดยเฉพาะสงครามตะวันออกกลาง เราตั้งสมมุติฐานว่า ในสถานการณ์หลัก สงครามจะยังจำกัดอยู่อิสราเอล และกินเวลาประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น (หรือมี War Premium) ในระดับ 3-5 ดอลลาร์สหรัฐได้ในระยะสั้น แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ (ความน่าจะเป็นประมาณ 70%)

ในส่วนฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยในปี 2024 เราแบ่งภาพเศรษฐกิจเป็น 2 สถานการณ์ ขึ้นอยู่กับมาตรการ digital wallet เป็นหลัก โดยหากมาตรการผ่านตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศในวันที่  10 พ.ย. เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้  4.1% จาก 1. มาตรการ Digital Wallet ที่จะกระตุ้นการบริโภค 2. การบริหารจัดการภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ 3. ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนเอกชนเพิ่มเติม แต่ 4.เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและเงินบาทที่อ่อน จะทำให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)  อาจต้องขึ้นดอกเบี้ย 

แต่หากมาตรการไม่ผ่าน เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.2% จาก 1. การบริโภคที่ถูกกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงและดอกเบี้ยที่ตึงตัว 2.การลงทุนภาคเอกชนที่จะมีความเสี่ยงทั้งจากเศรษฐกิจโลกที่กระทบส่งออก และเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว 3.การใช้จ่ายภาครัฐ ที่จะถูกกระทบจากงบประมาณที่ล่าช้าและการเบิกจ่ายที่ต่ำกว่าเป้า และ 4. การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก แต่ดอกเบี้ยน่าจะหยุดขึ้นแล้ว ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง     

ในส่วนของ 6 ปัจจัยเศรษฐกิจไทยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นหรือชะลอลงนั้น  เราจับตา (1) การผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันหดตัวมากว่า 1 ปี ท่ามกลางสัญญาณการส่งออกที่เหมือนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้าง (2) ปริมาณเงินในระบบ (M2) ที่เริ่มหดตัวประมาณ 1.2 แสนล้านบาทจากจุดสูงสุด (3) ปริมาณสินเชื่อในระบบ ที่ยอดคงค้างสินเชื่อลดลง 4.3 แสนล้านบาท (4) การลงทุนภาคเอกชน ที่ยังคงหดตัวตามการผลิตภาคอุตสาหกรรม  (5) รายได้เกษตรกร ที่มีความเสี่ยงจาก El Nino และ (6) การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่หดตัวประมาณ 6% ต่อปี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

กล่าวโดยสรุป ในปี 2024 ปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจยังมีอยู่มาก อย่างไรก็ตาม เรามองว่า หลังจากที่ที่กระทรวงการคลังได้ข้อสรุปอนุมัติกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ ภายใต้ชื่อ "กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน" หรือ Thailand ESG Fund (TESG) โดยเป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ซึ่งประกอบด้วยมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) แล้วนั้น ตลาดหุ้นไทยมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น

ในมุมมองของเรา มองว่าจะมีเม็ดเงินเข้ามาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทในการลงทุนในกองทุนดังกล่าว ซึ่งเราได้คัดเลือกหุ้นที่อยู่ในดัชนี SETESG ที่มีคุณสมบัติน่าสนใจ ดังนี้ 1) ได้ ESG Rating “AAA” หรือ “AA” และ 2) ราคาหุ้นปรับตัวลงแรงตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่า มี 5 หุ้นที่น่าสนใจซึ่งคาดจะเป็นเป้าหมายการลงทุน ได้แก่ TOP CRC SCGP GULF ZEN

นอกจากหุ้น ESG ที่น่าสนใจแล้ว เรามองว่าในช่วงที่ผ่านมา แม้ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญความผันผวนสูงจากปัจจัยทั้งต่างประเทศและในประเทศ แต่ช่วงสั้นมอง SET ยังมีโอกาสฟื้นตัวได้ กลยุทธ์ลงทุนจึงแนะนำ “Selective Buy” ในธีมที่มีปัจจัยเฉพาะตัว ดังนี้ 1) หุ้น Big Cap. ที่คาดฟื้นตัวได้ตามตลาดและมีความผันผวนต่ำ โดยเลือกหุ้น Undervalued ซึ่งราคาปรับลงมาจนเข้าเขต Oversold และยังมีพื้นฐานดี อีกทั้ง Valuation ไม่แพง โดยเราเลือก BDMS BEM BBL GULF SCGP 2) หุ้น Earning Play ซึ่งโมเมนตัมกำไรในไตรมาสที่ 4 จะยังเติบโต และเป็นไตรมาสที่ดีสุดของปี  เลือก ERW AOT CENTEL ZEN CRC

ขอให้นักลงทุนโชคดี

- รวมทุกช่องทาง InnovestX official ให้คุณได้ติดตามข้อมูลข่าวสารการลงทุนรอบโลก คลิก :https://linktr.ee/InnovestX

- เปิดบัญชีลงทุน InnovestX วันนี้! เปิดครั้งเดียวลงทุนได้ครบทั้งจักรวาลการลงทุน

โหลดเลย คลิก  https://innovestx.onelink.me/23if/bywa6d5r

- ติดตามบทวิเคราะห์การลงทุนอื่นๆ เพิ่มเติมจาก InnovestX คลิก : https://bit.ly/respublisher

#InnovestX #InnovestXResearch #InnovestXApp #จักรวาลการลงทุนในมือคุณ

*ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยง โปรดศึกษาและลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้