เศรษฐกิจไทยสิ้นหวัง ‘ลดดอกเบี้ย’ พยุงเชื่อมั่น
เชื่อว่าในวันนี้ (21 ส.ค.) ทุกสายตาคงจับจ้องไปที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” ว่าจะตัดสินใจอย่างไรเกี่ยวกับ “ดอกเบี้ยนโยบาย”
...แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า กนง. จะยังตัดสินใจคงดอกเบี้ยเอาไว้ในระดับ 2.5% แต่หลายคนแอบมีความหวังว่า กนง. อาจสร้างเซอร์ไพรส์ในการประชุมรอบนี้เลยก็เป็นได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่เอื้อให้ กนง. ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลงได้เช่นกัน
ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2567 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพิ่งประกาศออกมาเมื่อวันที่ 19 ส.ค.2567 ขยายตัวได้ราว 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นระดับใกล้เคียงกับที่ตลาดคาดการณ์เอาไว้ แต่ถ้าดูตัวเลขแบบไตรมาสต่อไตรมาสแล้ว พบว่า ขยายตัวลดลงเหลือ 0.8% ชะลอลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัวในระดับ 1.2% สะท้อนถึงแรงส่งทางเศรษฐกิจที่เริ่มแผ่วลงชัดเจนขึ้น
ประเด็นสำคัญของตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ปี 2567 คือ การลงทุนที่หดตัวลงอย่างมาก โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่ติดลบถึง 6.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เรียกว่าพลิกกับมาติดลบแบบน่าตกใจ เพราะในไตรมาสแรกปี 2567 ยังขยายตัวได้ในระดับ 4.6% อยู่เลย
ซึ่งการหดตัวอย่างรุนแรงของการลงทุนภาคเอกชน เป็นผลจากภาคอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเผชิญกับวิกฤติกำลังซื้อหดหาย กระทบต่อเนื่องไปยังภาคการก่อสร้างที่หดตัวตามไปด้วย
นอกจากนี้ ถ้าดูปัจจัยการเมือง ต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่แบบที่หลายคนไม่ได้คาดคิดมาก่อน ทำให้แผนงานทุกอย่างสะดุดลงไปด้วย และกว่าเราจะได้หน้าตาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ชุดใหม่ น่าจะต้องใช้เวลาอีกเป็นสัปดาห์ ที่สำคัญยังไม่รู้ว่า ครม. ชุดใหม่เข้ามาจะสานต่อนโยบายที่คนเดิมทำไว้มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่เศรษฐกิจไทยเวลานี้ต้องการแรงกระตุ้นเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด
เราเห็นว่าโอกาสนี้น่าจะเป็นจังหวะดีที่ กนง. จะใช้นโยบายการเงินเข้ามาช่วยในยามที่นโยบายการคลังยังไม่สามารถทำอะไรได้ ที่สำคัญโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งแบงก์ชาติ กังวลว่าจะปั่นเงินเฟ้อขึ้นไปก็ดูเหมือนว่าโครงการนี้จะเลือนรางลงไปมาก และยังไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะผลักดันนโยบายอะไรออกมากระตุ้นเศรษฐกิจบ้าง
ดังนั้นในจังหวะที่เศรษฐกิจไทยดูสิ้นหวัง การลดดอกเบี้ยเพื่อประคองความเชื่อมั่น จุดไฟความหวังการลงทุน น่าจะเป็นจังหวะที่ดี!