ลงทุน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทิศทางรัฐบาลแพทองธาร

ลงทุน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทิศทางรัฐบาลแพทองธาร

จับกระแส! ลงทุน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทิศทางรัฐบาลแพทองธาร

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภา เกี่ยวกับด้านซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศในการลงทุนด้านงบประมาณระยะกลางและระยะยาว

โดยรัฐบาลจะต่อยอดการพัฒนาของภาคการผลิตและการบริการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อวางรากฐานสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต ด้วยส่งเสริมการยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ 
การสนับสนุนและส่งเสริมการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom)

ซึ่งเป็นศักยภาพของคนไทยและทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ทั้งอาหารท้องถิ่นไทย ผ้าไทย มวยไทย ศิลปะการแสดงไทย ดนตรีไทย ผสมผสานกับศิลปะร่วมสมัย และสุราชุมชน เพื่อยกระดับสินค้าโครงการ OTOP ทั้งด้านมาตรฐานและดีไซน์ให้ทันสมัย โดดเด่น แตกต่าง

และสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก รวมทั้งจะสนับสนุนการสอดแทรกทุนทางวัฒนธรรมในภาพยนตร์ไทยและสื่อทุกรูปแบบ

อีกทั้ง รัฐบาลจะยกระดับทักษะและปลดล็อกศักยภาพของคนไทยเพื่อสร้างงานสร้างรายได้โดยรัฐบาลจะสนับสนุนการสร้าง Soft Power ของประเทศ ผ่านการส่งเสริม 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS) จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบและส่งเสริมวัฒนธรรมในพื้นที่ เช่น ศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) สำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) เพื่อยกระดับและพัฒนาความสามารถด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของคนไทย

  • ให้สร้างมูลค่าเสริมทักษะเดิม (Reskill)
  • เพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 

เพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่เหมาะสมกับทักษะที่เพิ่มขึ้น เช่น ทักษะด้านการประยุกต์ใช้ AI รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและภาคเอกชนดึงศักยภาพของผู้สูงอายุมาใช้ให้เกิดประโยชน์

ลงทุน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ทิศทางรัฐบาลแพทองธาร

ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้มีการอภิปรายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับ ซอฟต์พาวเวอร์ ข้อมูลจากฝ่ายค้าน อย่าง ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคประชาชน อภิปรายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ การจัดสรรงบประมาณของกระทรวงวัฒนธรรม เจาะจงโครงการใหม่มาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มอบหมายกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ทำหน้าที่ดูแลด้านภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี ละคร แอนิเมชัน งบประมาณกว่า 179 ล้าน
 
งบก้อนแรก 39 ล้านบาท เอาไปผลิตหลักสูตรจำนวน 30 หลักสูตร เพื่อยกระดับ Upskill ให้คนในวงการ เช่นหลักสูตรการเขียนบท หลักสูตรการเรียนรู้วิธีใช้อุปกรณ์ถ่ายทำ ถามว่าจ้างใคร ใครจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละหลักสูตร เป็นไปได้หรือที่ทุกหลักสูตรจะราคาเท่ากัน

งบก้อนที่สอง การให้ทุนผู้ผลิต 150 คน จำนวน 140 ล้าน ต้องผลิตชิ้นงานออกมา คือ ภาพยนตร์ 45 ชิ้น, ซีรีส์ 40 ชิ้น, สารคดี 35 ชิ้น และแอนิเมชัน 30 ชิ้น ทั้งหมดรวมกันได้ 150 ชิ้น ถูกตั้งข้อสังเกตการให้ทุน หรือ การจ้างเหมาให้คนใดคนหนึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไปผลิตเนื้อหาออกมาเพื่อเป็นผลงานของรัฐบาลหรือไม่

และงบอุดหนุนสนับสนุนเทศกาลงานประกาศรางวัล นำภาพยนตร์ไทย ซีรีส์ไทย ไปจัดฉายตามเทศกาลต่างประเทศ สนับสนุนการจัดเทศกาล งานประกาศรางวัล สนับสนุนเทศกาลภาพยนตร์ ทั้งหมด 24 งานยังไม่มีความชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่า ‘การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ไทย’ ตามนโยบายรัฐบาลแพทองธาร ต้องเร่งทำงานให้เกิดผลงานที่ยอบรับ ส่วนการทวงติงเสนอแนะนั้น ถือเป็นการติดตามการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดและคุ้มค่าเงินภาษีลงทุนของประเทศ

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :

บทความที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ทั้งหมด

บทความของ นิติราษฎร์ บุญโย ทั้งหมด