เปิดแผน 'การบินไทย' พ้นฟื้นฟูกิจการ นับหนึ่งปรับโครงสร้างทุน เตรียมตั้งบอร์ดใหม่
เปิดแผนดัน “การบินไทย” พ้นฟื้นฟูกิจการ หลังนับหนึ่งยื่นไฟลิ่งปรับโครงสร้างทุน เตรียมตั้งบอร์ดชุดใหม่ พร้อมเฟ้นหากรรมการอิสระ 3 ราย คาดประชุมผู้ถือหุ้นนัดแรก เม.ย.2568 มั่นใจไม่กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ
การบินไทยได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) สำหรับการปรับโครงสร้างทุนต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในวันที่ 30 ก.ย.2567
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อปรับโครงสร้างทุน และเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนอีกประมาณ 9,800 ล้านหุ้น ในราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท
ขณะที่แผนดำเนินงานเพื่อนำการบินไทยออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ คาดว่ากระบวนการใช้สิทธิ และแจ้งเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมของเจ้าหนี้แต่ละกลุ่มจะแล้วเสร็จในช่วงเดือน พ.ย.2567
ดังนั้นกระบวนการเสนอขาย การจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนสำหรับผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน ทั้งในส่วนของพนักงานบริษัทและนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement: PP) จะดำเนินการเสร็จในปี 2567
ขณะเดียวกันระหว่างนี้การบินไทยจะเสนอรายชื่อผู้เหมาะสมเข้ามาเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสุดท้ายตามข้อกำหนดยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอรายชื่อได้ภายในเดือน ธ.ค.นี้
แต่หากไม่สามารถคัดเลือกรายชื่อผู้ที่เหมาะสมแล้วเสร็จ ก็จะมีการเสนอเป็นรูปแบบโครงร่างของบอร์ดชุดใหม่โดยไม่ระบุรายชื่อ ซึ่งคาดว่าบอร์ดชุดใหม่จำเป็นต้องมีกรรมการอิสระ 3 ราย และควรเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญที่มีประโยชน์กับการบินไทย เพื่อให้การพิจารณานโยบายของบอร์ดมีความเหมาะสมและโปร่งใสสูงสุด
“การบริหารงานให้ต่อเนื่อง ส่วนตัวก็เชื่อว่าควรจะมีหนึ่งในผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการที่มาเป็นบอร์ดชุดใหม่ด้วย เพื่อทำให้การขับเคลื่อนนโยบายของบอร์ดชุดใหม่สอดคล้องไปกับแผนที่วางไว้ และเกิดความต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดีรายละเอียด รายขื่อของบอร์ดใหม่ขึ้นอยู่กับการโหวตของผู้ถือหุ้น”
นายชาย กล่าวว่า เมื่อการบินไทยเดินหน้าปรับโครงสร้างทุน เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จในเดือน ธ.ค.2567 และยื่นงบการเงินซึ่งคาดว่าจะมีผลในงวดปี 2568 ช่วงเดือน ก.พ.2568 งบการเงินของการบินไทยจะมีส่วนทุนเป็นบวก หลังจากนั้นการบินไทยมีกำหนดนัดประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงเดือน เม.ย.2568 เพื่อพิจารณาวาระการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดใหม่ของบริษัท
รวมทั้งเมื่อขั้นตอนเหล่านี้แล้วเสร็จ ก็จะถือได้ว่าการบินไทยดำเนินการครบทั้ง 4 เงื่อนไขในการยื่นออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ จะสามารถยื่นคำร้องออกจากแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลางในเดือน เม.ย.2568
ทั้งนี้ คาดว่าศาลฯ จะมีคำสั่งให้ออกจากแผนฟื้นฟูกิจการราวเดือน พ.ค.2568 จากนั้นบริษัทจะยื่นไฟลิ่งเพื่อขอนำหุ้นกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือน มิ.ย.2568
ขณะที่ประเด็นหลังปรับโครงสร้างทุน และออกจากแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทจะกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจหรือไม่นั้น คงต้องรอดูเจ้าหนี้ที่จะมีการแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมหรือไม่
แต่อย่างไรก็ดี จากการดำเนินงานของการบินไทยในช่วงฟื้นฟูกิจการ 4 ปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าการเป็นบริษัทเอกชนคล่องตัวกว่า และเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ไม่อยากให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งแผนฟื้นฟูยังระบุว่า หน้าที่ผู้บริหารแผนคือไม่ทำให้การบินไทยกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจอีก
ส่วนการเปิดหาพันธมิตรใหม่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน ซึ่งจะเข้ามาจากการซื้อหุ้นเพิ่มทุนส่วนของนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement: PP) ที่ผ่านมาการบินไทยเดินสายเจรจากับเจ้าหนี้ และกลุ่มพันธมิตรต่างชาติที่สนใจเข้าร่วมซื้อหุ้นเพิ่มทุนในกลุ่มนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงแล้ว โดยมั่นใจว่าจะมีนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุน
ขณะเดียวกัน เพื่อทำให้ผู้ถือหุ้นของการบินไทยได้รับปันผลจากการลงทุนและการแปลงหนี้เป็นทุน และดึงดูดนักลงทุนใหม่ การบินไทยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้ ซึ่งเป็นวิธีใช้ล้างขาดทุนสะสมปัจจุบันที่มีประมาณ 60,000 ล้านบาท
ขณะนี้ศาลฯ ได้นัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการดังกล่าวในวันที่ 8 พ.ย.นี้ หากเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบอนุมัติ คาดว่าจะมีผลดำเนินการในเดือน ก.พ.2568 หลังเพิ่มทุนและกลับไปเทรดในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ผู้ถือหุ้นทุกรายได้รับเงินปันผลในงวดปี 2568 ซึ่งเบื้องต้นการบินไทยมีนโยบายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 25% ของกำไรสุทธิ
สำหรับเงื่อนไขเพื่อขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ โดยกำหนดผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องแล้วเสร็จรวม 4 เงื่อนไข ได้แก่
1.การเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยต้องดำเนินการจดทะเบียนเพิ่มทุน และได้รับสินเชื่อใหม่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผน และมีจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ
2.ดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่ผิดนัดชำระหนี้ได้ติดต่อกัน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วย
3.มีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จากการดำเนินงานหลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามสัญญาเช่าซื้อเครื่องบิน เฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ใน 2 ปีก่อนจะรายงานผลสำเร็จของแผนฟื้นฟู
4.การแต่งตั้งคณะกรรมการใหม่ ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
ส่วนรายละเอียดการปรับโครงสร้างทุน การบินไทยกำหนดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
1.การแปลงหนี้เป็นทุน ในราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น จำนวนประมาณ 14,000 ล้านหุ้น มูลค่ากว่า 37,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
เจ้าหนี้กลุ่ม 4 แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของมูลหนี้เป็นทุน ซึ่งรวมถึงเจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ได้แก่ กระทรวงการคลัง
เจ้าหนี้กลุ่ม 5 (สถาบันการเงินที่มีสิทธิตามสัญญาโอนสิทธิในการรับเงินจากการขายเครื่องบิน) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
เจ้าหนี้กลุ่ม 6 (สถาบันการเงินไม่มีประกัน) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
เจ้าหนี้กลุ่มที่ 18-31 (เจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้) แปลงหนี้ในสัดส่วนร้อยละ 24.50 ของมูลหนี้เป็นทุน
เจ้าหนี้กลุ่ม 4 5 6 และ 18-31 แปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมจากร้อยละ 24.50 ที่ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
2.การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นก่อนการปรับโครงสร้างทุน พนักงานบริษัท และนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจงตามลำดับ ในราคาไม่ต่ำกว่า 2.5452 บาทต่อหุ้น ประมาณ 9,800 ล้านหุ้น มูลค่าไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท