ไม่กระทบหนี้ครัวเรือน เหตุผลลดดอกเบี้ยนโยบาย

ไม่กระทบหนี้ครัวเรือน เหตุผลลดดอกเบี้ยนโยบาย

ในที่สุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้(16 ต.ค.2567) ก็มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 2.50 เป็นร้อยละ 2.25 ต่อปี โดยให้มีผลทันทีด้วยมีมติ 5 ต่อ 2 เสียง

เป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 4 ปี ที่ต้องบันทึกไว้ ว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้คณะกรรมการ กนง.ดำเนินการตามสถานการณ์ในขณะนี้เท่านั้น  เพื่อเป็นการบรรเทาภาระหนี้ให้กับประชาชน ประกอบกับยอดสินเชื่อมีแนวโน้มชะลอตัวลง  ไม่ใช่เป็นการส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาลง การประชุมรอบหน้าปลายปีจะมีการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องหรือไม่ ต้องพิจารณาตามสถานการณ์ เพราะดอกเบี้ยนโยบายไม่ควรจะต่ำเกินไปจนนำไปสู่การสะสมความไม่สมดุลทางการเงินในระยะยาว ที่สำคัญมาตรการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อหนี้ครัวเรือน

การลดดอกเบี้ยนโยบายลงท่ามกลางสภาวะกำลังซื้อที่ถดถอย ส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยได้มากขึ้นทีเดียว เชื่อว่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นกำลังซื้อให้เพิ่มขึ้นได้ ด้วยความที่ต้นทุนของภาคธุรกิจและประชาชนจะลดลง เป็นไปได้ว่าจะทำให้ภาคธุรกิจมีแรงจูงใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น อาจจะขยายกิจการ หรือริเริ่มโครงการใหม่ๆ ก็ได้เนื่องจากต้นทุนทางการเงินถูกลง ขณะที่ประชาชนอาจจะกล้าที่ใช้จ่ายมากขึ้น ตัดสินใจซื้อสินค้าที่มีราคาสูง เช่น ตัดสินใจซื้อ หรือ โอนบ้านที่ก่อนหน้านี้ชะลอไว้ บางคนอาจจะตัดสินใจซื้อบ้านหลังที่ 2 เพิ่มขึ้นได้ หรือ ซื้อรถยนต์ เพราะสามารถผ่อนชำระได้ในอัตราที่ต่ำลง สิ่งเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นการหมุนเวียนของเงินในระบบเศรษฐกิจให้เพิ่มมากขึ้นได้

จากนี้ไปหวังว่าจะได้เห็นแบงก์ต่างๆทยอยปรับลดอัตราเงินกู้ดอกเบี้ยลง หรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทยอยประกาศลงทุนโครงการใหม่ๆเพิ่มขึ้นได้ และเป็นโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อย  เอสเอ็มอี มีความเป็นไปได้ที่จะได้รับอานิสงส์ได้รับการปล่อยกู้จากสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น เพราะในเมื่อดอกเบี้ยลดลงแล้ว ก็มีโอกาสกู้เงินมาทำธุรกิจต่อหรือฟื้นฟูธุรกิจต่างๆขึ้นมาได้ และสามารถมีกำลังในการจ่ายคืนได้ โดยเฉพาะผู้รับเหมาที่รับงานโครงการต่างๆของรัฐบาล ก็น่าจะลืมตาอ้าปากได้ เพราะต้นทุนทางธุรกิจจะลดลง

วันนี้ไม่ใช่เฉพาะกนง.เท่านั้นที่มีมติลดดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ก็มีมติ “ปรับลดอัตราดอกเบี้ย” ลง 0.25% เช่นกันส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาอยู่ที่ระดับ 6.0% หรือระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 2566 เป็นการลดดอกเบี้ยกู้ยืมข้ามคืนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 แล้วในปีนี้ ซึ่งการตัดสินใจครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานการประเมินว่าสามารถบริหารจัดการกับแรงกดดันเงินเฟ้อได้ และนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคาดการณ์แบงก์ชาติฟิลิปปินส์จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยต่ออีก 0.25% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ เช่นเดียวกับประเทศไทยซึ่งต้องลุ้นการประชุมกนง.รอบหน้าอีกครั้งในเดือนธ.ค.