สัญญาณเตือนรัฐบาลธุรกิจอสังหาฯ ต่ำสุดรอบ 10 ปี

สัญญาณเตือนรัฐบาลธุรกิจอสังหาฯ ต่ำสุดรอบ 10 ปี

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเซกเตอร์ที่สะท้อนภาวะเศรษฐกิจได้ดี โดยทุกรัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เชื่อมโยงกับธุรกิจก่อสร้าง

ซึ่งมีอุตสาหกรรมต้นน้ำที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่อุตสาหกรรมขั้นพื้นฐาน เช่น เหมืองหิน เหมือนหินปูน รวมถึงการผลิตปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสถาบันการเงิน จึงทำให้ซัพพลายเชนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างค่อนข้างยาวมาก

หลังจากที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จากเติบโต 2.7-3.7% เหลือ 2.2-3.2% ทำให้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ต้องเร่งส่งมาตรการ Quick Win กระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เมื่อเดือน เม.ย.2567 เพื่อให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นเครื่องยนต์ที่ 5 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพราะมีสัดส่วนถึง 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ถือว่ามีขนาดใหญ่พอที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยได้

มาดูสถานการณ์ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 7 เดือน แรกของปี 2567 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) พบว่า มูลค่าโอนที่อยู่อาศัยทั่วประเทศติดลบ 7.2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว โดยถ้าดูรายละเอียดพบว่าเป็นการติดลบทั้งในประเภทที่อยู่อาศัยและทำเลที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ สำหรับในเชิงประเภทที่อยู่อาศัยพบว่า มูลค่าโอนบ้านจัดสรรติดลบ 8.6% และอาคารชุดติดลบ 3.7% ขณะที่มองในด้านทำเลที่ตั้งพบว่าตลาดกรุงเทพฯ ติดลบ 6.5% และตลาดต่างจังหวัด ติดลบ 8.2%

ในมุมมองของสมาคมอาคารชุดไทย เห็นว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ช่วยลดภาระค่าผ่อนบ้านถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ยังไม่พอที่จะกระตุ้นตลาดจึงต้องการให้ผ่อนปรนมาตรการควบคุมสินเชื่อ (LTV : Loan to Value) ที่บังคับให้ผู้ซื้อต้องมีเงินดาวน์ 20-30% ในการขอสินเชื่อซื้อบ้านหลังที่ 2-3 อย่างน้อย 1 ปี เพื่อกระตุ้นระยะสั้นให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ฟื้นตัว เพราะถ้าดูภาพรวมปี 2567 ประเมินได้ว่าตลาดจะติดลบ 20% สูงสุดรอบ 10 ปี

สิ่งที่น่ากังวลหากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่สามารถฟื้นตัวได้ คือ ผลกระทบต่อเนื่องของซัพพลายเชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง โดยทั้งรัฐบาล และ ธปท.ควรมองการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อแก้ปัญหาการโอนที่อยู่อาศัยที่ตกต่ำลงมาก ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหาการชำระสินเชื่อ และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการลงทุนโครงการใหม่ที่อาจลดลงในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลอาจต้องมาพิจารณาว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจัดทำจะมีส่วนของอสังหาริมทรัพย์หรือไม่อย่างไร