ไทย กับ รางวัลโนเบล
เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องยาก ยิ่งเศรษฐศาสตร์โนเบล ก็ยากขึ้นไปอีก วันนี้ผมจะพยายามทำให้ง่ายสำหรับคุณ
เริ่มตรงยากก่อนครับ จะได้รู้ที่มาที่ไป แต่เอายากนิดเดียว แล้วจะรีบทำให้ง่ายทันที...สัญญา!
นักเศรษฐศาสตร์โนเบล 3 คน ของปี 2567 นี้ พยายามหาคำตอบว่า ทำไมบางประเทศจึงยากจน และบางประเทศร่ำรวย แล้วก็ได้คำตอบว่า ประเทศที่ร่ำรวยนั้น มี “สถาบันทางการเมือง และ เศรษฐกิจ” แบบ Inclusive ส่วนประเทศที่ไม่รวยสักที มีสถาบันแบบ Extractive
Inclusive แปลว่า รวมเข้ามา ส่วน Extractive แปลว่า กันออกไป ฟังยากๆอย่างนี้ เกี่ยวกับรวยจนอย่างไร?
เขาอธิบายว่า “การเมือง” กับ “เศรษฐกิจ” นั้น โยงใยกันแน่ ประเทศที่การเมือง
“เป็นประชาธิปไตย” จะมี “สถาบัน” ที่แข็งแกร่ง ยุติธรรม มีการปกครองที่ดี มีประสิทธิภาพ และส่งผลให้ประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน
เขาเรียกสถาบันแบบนี้ว่า “Inclusive” เพราะ “รักษาสิทธิในทรัพย์สิน ระบบกฎหมายที่ยุติธรรม มีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ‘คนทุกกลุ่ม’ เข้าถึงโอกาสและทรัพยากรทางเศรษฐกิจได้” และมักเกิดขึ้นในประเทศที่เป็น “ประชาธิปไตย”
ส่วน สถาบันแบบ “Extractive” ก็คือ สถาบันที่เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนา มักเกิดขึ้นในประเทศที่ “ไม่เป็นประชาธิปไตย” ประเทศนั้นๆจึงยากจน
เขายกตัวอย่าง เกาหลีใต้ ว่ามีสถาบันแบบ Inclusive ส่วน เกาหลีเหนือ เป็นแบบ Extractive
แต่ “ประชาธิปไตย” ก็ไม่ได้เป็นคำตอบอัตโนมัติเสมอไปครับ เขายอมรับว่า สิงคโปร์ ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ ทั้งๆที่อยู่ภายใต้การปกครองที่ ไม่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์
สิงคโปร์ทำได้เพราะ สามารถกำจัดการทุจริต และปรับปรุงการบริหารราชการ ได้ดีกว่าบางประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่เต็มไปด้วยคอรัปชั่น
เขายกตัวอย่าง จีน ที่มีการจัดการเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะมีการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม
นักเศรษฐศาสตร์โนเบลปี 2024 นี้ จึงสรุปว่า “ความเป็นประชาธิปไตย” ก่อให้เกิด สถาบันการเมืองและเศรษฐกิจ แบบ Inclusive ซึ่งส่งเสริมการเติบโต นำประเทศสู่ความเจริญยั่งยืน
แนวคิดนี้ คุณหาอ่านได้ทั่วไปครับ แต่ที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้ ผมจะประยุกต์ว่าแนวคิดดังกล่าว พอจะโยงใยใช้อธิบายประเทศไทย ได้หรือไม่?
ความเห็นผม ก็คือ สารตั้งต้นที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” นั้น ไม่ใช่ปัญหาสำหรับไทยเราเลยครับ เราเป็นมานานแล้ว และเราก็มีความเจริญทางเศรษฐกิจพอสมควร เพียงแต่ไม่สามารถจะก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลาง ให้เข้าเขตประเทศร่ำรวยต้นๆได้สักที เท่านั้นเอง
แต่ว่า “สถาบันทางการเมือง” ของเรา ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตย มักเป็นในเรื่อง “รูปแบบ” เสียมากกว่า เพราะ “สาระสำคัญ” ยังอ่อนแอเพียงใด ก็เห็นกันอยู่ ทั้งในเรื่องการซื้อเสียง การรวมกลุ่มเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว และการคอรัปชั่น ตั้งแต่ระดับชาติลงไปถึงระดับท้องถิ่น
สถาบันอื่นๆ เช่น “สถาบันยุติธรรม” ของเรา แม้จะยังแข็งแกร่งพอสมควร แต่บางส่วนของกระบวนการยุติธรรม ก็ถูกบั่นทอนด้วยเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้อนๆกัน จนเริ่มปั่นป่วนไปหมด
“สถาบันตำรวจ” หนึ่งในสถาบันความมั่นคงของชาติ ก็สั่นคลอนมานาน จนไม่น่าเชื่อว่า เมื่อเดือดร้อน แทนที่จะไปพึ่งพาตำรวจ ประชาชนส่วนหนึ่งกลับไปขอพึ่ง กัน จอมพลัง หรือ ทนายดังอีกหลายคน
ส่วนทนายดังบางคน ก็ถูกดำเนินคดี วนไปวนมา จนทำให้ ประชาชน รู้สึกว่า สังคมนี้หันไปทางไหน ก็ไม่รู้จะเชื่อใครดี คำว่า “น่าเชื่อถือ” จางหายไปเรื่อยๆจากสังคมเรา
“สถาบันอุดมศึกษา” ซึ่งมีหน้าที่สร้างคนคุณภาพ ก็มีบางประเภทที่จ่ายครบจบแน่ ผลิตปริญญาโทและด็อกเตอร์ออกมามาก โดยสังคมกังขาว่าคุณภาพดีเพียงใด
“สถาบันอบรมผู้บริหารระดับสูง” ซึ่งก็มีเป้าประสงค์ที่ดี แต่บางครั้งกลับถูกตั้งข้อสังเกตว่า กลายเป็นที่สร้างคอนเนคชั่น เพื่อประโยชน์ของกลุ่มและพวกพ้องหรือเปล่า
พอถึงสัปดาห์นี้ “สถาบันธนาคารกลาง” ก็ร้อนแรงขึ้นมา เกิดความหวาดระแวงว่า จะถูกแทรกแซงทางการเมือง หรือไม่ ฯลฯ ซึ่งจะจริงหรือไม่นั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เชื่อว่าทุกสถาบันยังมีคนดี ที่มีความเข้มแข็ง แต่ถ้าหากดู “อาการโดยรวมของสังคม” จะเห็นภาพว่า ที่นักเศรษฐศาสตร์โนเบล บอกว่าเป็นสถาบัน Extractive เอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มนั้น ประเทศไทยเราอาจจะมีอยู่พอสมควรก็ได้ จึงเป็นเหตุให้เรื่องราวเหล่านี้ เกิดขึ้นมากมาย
ความเชื่อถือ ของประชาชนลดลง และมีอาการ “ระแวง” ว่าการตัดสินใจสำคัญ ในสถาบันสำคัญต่างๆ อาจจะไม่อยู่บนมาตรฐานของความถูกต้อง ยุติธรรม และนิติธรรม
ประชาชนเห็นในข่าวสารว่า คนที่เป็นใหญ่จำนวนหนึ่งไม่มีคุณภาพ คนมีอำนาจไม่มีจริยธรรม คนได้ตำแหน่งด้วยเส้นสาย คนทุจริตเป็นที่ยอมรับ ธรรมาภิบาลหายไป และปมปัญหาต่างๆในสังคมเพิ่มขึ้น….. แล้วก็อดท้อแท้ใจไม่ได้
เหล่านี้น่าจะเป็นผลมาจาก การที่เรา “ออกแบบสถาบันให้เป็น Inclusive” … แต่ “ในทางปฏิบัติ” กลับกลายเป็นแบบ Extractive คือเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่ม หรือเปล่า?
ทำให้เกิดความขัดแย้งและฟ้องร้องกันไปมา รื้อประเด็นแล้วรื้อประเด็นอีก เสียเวลาทุกฝ่าย การพัฒนาประเทศ สะดุดหยุดลง ไม่มีเวลาเพื่อพัฒนาไปข้างหน้า
นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คนนี้มีชื่อว่า ดารอน อาเซโมกลู, ไซมอน จอห์นสัน, และ เจมส์ โรบินสัน พวกเขามาจาก MIT และ Chicago ทำงานวิจัยเรื่องนี้ต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว จนได้รางวัลโนเบลครับ
คุณคิดว่าสถาบันหลายแห่งในบ้านเรา มีแนวปฏิบัติที่เข้าลักษณะ Extractive หรือไม่ครับ
ถ้าคุณคิดว่าใช่…. งานเขียนครั้งต่อไปของนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 3 คน เขาอาจจะเพิ่มไทย ให้เป็นประเทศตัวอย่างด้วยก็ได้นะ!