สารพัดความเสี่ยง ศก.ไทยโค้งสุดท้าย

สารพัดความเสี่ยง ศก.ไทยโค้งสุดท้าย

การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ สมัยที่ 2 ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพลับรีกัน ทำให้โลกการเงินเศรษฐกิจ สั่นสะเทือน หลายฝ่ายต้องเตรียมรับมือกับความผันผวน และไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐนับจากนี้

ความเสี่ยงสำคัญที่สุด คือ นโยบายการค้าระหว่างประเทศภายใต้แนวคิด America First ที่อาจนำไปสู่สงครามการค้ารอบใหม่กับจีน กระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานในเอเชียและการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกับจีน เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และชิ้นส่วนยานยนต์

ขณะที่ มาตรการกีดกันทางการค้าอาจขยายวงกว้างไปสู่ประเทศอื่น รวมถึงไทย ผ่านการขึ้นภาษีนำเข้า การกำหนดโควตา หรือมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษี เช่น มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและแรงงาน นโยบายการเงิน อัตราแลกเปลี่ยนที่นับจากนี้จะมีความผันผวนสูง การเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ความผันผวนของค่าเงินบาท นโยบายด้านพลังงานที่เปลี่ยนแปลง จากการผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่งผลต่อราคาน้ำมันและต้นทุนการผลิตของไทย แน่นอนว่าจะกระทบต่อการลงทุนในพลังงานสะอาดและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วย

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนอาจเป็นโอกาสให้ไทยดึงดูดการย้ายฐานการผลิตจากบริษัทต่างชาติที่ต้องการกระจายความเสี่ยง และเพิ่มบทบาทในห่วงโซ่อุปทานโลก แต่ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะแรงงาน และปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน รวมถึงเร่งขยายความร่วมมือทางการค้ากับประเทศอื่นๆ เพื่อลดการพึ่งพาในตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป

ขณะที่ ปัญหาความเสี่ยงในประเทศเราก็ยังมีมากมาย โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือน และค่าครองชีพที่สูง รายได้ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ประกอบกับราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อและการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจเอสเอ็มอีที่ยังเปราะบางเป็นความเสี่ยงในประเทศที่เราต้องมีมาตรการชัดเจนในการแก้ปัญหา 

โค้งสุดท้ายของปีนี้ จึงเรียกได้ว่า ประเทศไทยเจอความท้าทายเข้ามารุมเร้ามากขึ้น ดังนั้นในด้านการเงินการคลัง รัฐบาลควรดำเนินนโยบายแบบระมัดระวัง เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลังในระยะยาว บริหารจัดการหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้เป็นไปตามแผน แต่ระยะยาว สิ่งที่รัฐบาลต้องทำ คือ เร่งยกระดับขีดความสามารถแข่งขันประเทศผ่านการพัฒนาทุนมนุษย์ ส่งเสริมวิจัยและพัฒนา ปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้รองรับการลงทุนใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต...