แก้หนี้ พักหนี้ช่วยคนไทยชำระหนี้?

แก้หนี้ พักหนี้ช่วยคนไทยชำระหนี้?

ปัจจุบันหนี้ครัวเรือนของไทยมีสัดส่วนสูงกว่า 90% ของจีดีพี มาจากหนี้ที่เกิดจากการซื้อบ้านหลังแรก และรถคันแรกเพื่อไม่ให้มีการยึดรถยึดบ้านเป็นจำนวนมากเหมือนที่ผ่านมา

คณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีนายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” เป็นประธานได้เห็นชอบมาตรการแก้หนี้สินของประชาชน และผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ที่เป็นหนี้เสียไม่เกิน 1 ปี ในกลุ่มหนี้บ้าน หนี้รถ และหนี้เพื่อประกอบอาชีพเพื่อให้กลุ่มนี้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้และมีกำลังในการชำระหนี้มากขึ้น โดยจะพักจ่ายดอกเบี้ยให้เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยปิดวันนับยอดหนี้ 1 ปี (Cut of date) ไม่เกินวันที่ 31 ต.ค.2567 

ส่งผลให้กลุ่มหนี้บ้านไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย จำนวน 4.6 แสนบัญชี วงเงินรวมประมาณ 4.83 แสนล้านบาท  กลุ่มกู้ซื้อรถยนต์ไม่เกิน 80,000 บาทต่อคัน จำนวน 1.4 ล้านบัญชี วงเงินรวม 3.75 แสนล้านบาท และ SMEs ที่กู้เงินเพื่อประกอบอาชีพวงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อรายปีจำนวน  4.3 แสนบัญชี วงเงินรวม 4.54 แสนล้านบาท รวมจำนวนมูลหนี้ทั้งหมด 1.31 ล้านล้านบาทจำนวน  2.3 ล้านบัญชีได้รับอานิสงส์ในครั้งนี้ ส่วนสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการจะได้ลดอัตราเงินนำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF) เหลือ 0.23% ต่อปีจาก 0.46% ต่อปี 

แต่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น รัฐบาลควรมีมาตรการกระตุ้นลงทุนทั้งในประเทศ และดึงการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ ไม่ใช่เพียงจะมีเพียงมาตรการ "พักหนี้ ลดหนี้ และแจกเงิน" โดยเฉพาะการแจกเงิน 10,000 บาท ให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ลงทะเบียนระบบทางรัฐ และยืนยันตัวตนผ่านระบบ KYC รวม 4 ล้านคน วงเงิน 40,000 ล้านบาทก่อนวันตรุษจีนปี 2568 (29 ม.ค.2568) ผ่านบัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน ส่วนเฟสที่ 3 ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.2568 

โดยบอกว่าเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องจากที่มีการแจกเงินกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ และผู้พิการ ในเฟสแรกแล้ว ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยคาดว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะขยายตัวสูงถึง 4.3-4.4% และ หากมีการแจกเงินในกลุ่มผู้สูงอายุก็จะทำให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเกิดการจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นกำลังซื้อในกลุ่มฐานรากเพิ่มขึ้นได้  ขณะที่ตัวเลขที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) แถลงจีดีพีไตรมาส 3 ปี 2567 ขยายตัว 3% เมื่อรวม 9 เดือนแรกของปี 2567 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.3% แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.6% ปี 2568 จะขยายตัว 2.3-3.3% 

การทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบอื่นๆ ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนกระจายไปทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการลงทุน ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยนั้นมีแรงส่งต่อเนื่องในปี 2568 ให้ขยายตัวต่อเนื่องเข้าใกล้ระดับศักยภาพของเศรษฐกิจ (Potential Growth)หากสามารถทำให้ ตัวเลขที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ไตรมาส 4 ว่าจะขยายตัว 4.3% เป็นจริงได้ก็จะเป็นผลดีกับประเทศไทยโดยรวม