ถึงเวลารัฐบาล ต้องปรับโครงสร้างภาษี

ถึงเวลารัฐบาล ต้องปรับโครงสร้างภาษี

หลายรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามในการปรับโครงสร้างภาษีหรือการปฏิรูปภาษี เพราะรัฐบาลกำลังเจอปัญหาการขาดดุลงบประมาณที่รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ในขณะที่รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องจัดสรรงบประมาณสำหรับสวัสดิการประชาชนมากขึ้น

 เช่น กลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งการปฏิรูปภาษีจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการเพิ่มรายได้ การกระตุ้นเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคม

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีที่มีข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นมาต่อเนื่อง แต่หลายรัฐบาลที่ผ่านมาอาจเจอภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวย โดยประเทศไทยเริ่มเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อปี 2535 ในอัตรา 10% ของราคาสินค้าหรือบริการ แต่มีการปรับลดลงเหลือ 7% เมื่อปี 2542 จากผลกระทบวิกฤติเศรษฐกิจที่รัฐบาลต้องการลดผลกระทบภาษีต่อประชาชน และมีการจัดเก็บ 7% ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน โดยไม่มีรัฐบาลใดกล้ากลับขึ้นไปเก็บที่อัตรา 10% อีกเลยในช่วง 25 ปี ที่ผ่านมา

ในขณะที่นักวิชาการหลายภาคส่วนได้เสนอว่าควรขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้กลับไปจัดเก็บในอัตรา 10% โดยอาจจะใช้เวลาหลายปี ซึ่งการจัดเก็บที่อัตราดังกล่าวจะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 300,000 ล้านบาท และทำให้รัฐบาลมีงบประมาณสำหรับจัดสวัสดิการแบบเฉพาะเจาะจงให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แน่นอนว่าจะช่วยบรรเทาภาระทางการคลังของรัฐบาลได้ระดับหนึ่ง จากปี 2568 ที่มีการขาดดุงบประมาณถึง 800,000 ล้านบาท
   

ขณะที่ภาษีเงินได้นิติบุคคลมีเงื่อนไขที่ต้องปรับตามหลักเกณฑ์ Global Minimum tax อัตราไม่ต่ำกว่า 15% ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สำหรับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ในขณะที่นิติบุคคลอื่นยังคงต้องเสียภาษีเงินได้ 20% ดังนั้นกระทรวงการคลังจะต้องศึกษาให้รอบคอบว่าอัตราการจัดเก็บที่แตกต่างกันจะทำอย่างไร เพราะรัฐบาลจะโดนกล่าวหาว่าลดภาษีให้บริษัทต่างชาติแน่นอน
   

ยังมีภาษีอีกหลายตัวที่ควรมีการปรับปรุงแก้ไข โดยเฉพาะภาษีที่ดินที่ยังมีช่องว่างในอัตราการจัดเก็บและวิธีการจัดเก็บที่กระทรวงการคลังจำเป็นต้องศึกษา รวมทั้งภาษีคาร์บอนที่ต้องดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งยังไม่มีผลบังคับใช้จึงมีการใช้กลไกภาษีสรรพสามิตไปก่อน โดยเป็นประเด็นที่ต้องมาดูว่าจุดสมดุลของการจัดเก็บภาษีเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนจะเป็นอย่างไร ประเด็นเรื่องภาษีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบและกล้าตัดสินใจ