เมื่อเศรษฐกิจโลกปีหน้ามีแต่ความไม่แน่นอน
วันนี้วันจันทร์ที่ 30 ธ.ค. วันสุดท้ายของวันทํางานในปี 2567 บทความวันนี้จึงเหมือนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงขอเริ่มด้วยการกล่าวสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้ากับทุกท่าน ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่าน แฟนคอลัมน์ “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” และทีม บก.กรุงเทพธุรกิจ ประสบแต่ความสุขความเจริญในปี 2568 ขออำนาจคุณพระศรีรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองดูแลตัวท่านและครอบครัวให้ปลอดจากภัยอันตรายและโรคภัยไข้เจ็บ มีสุขภาพแข็งแรง และมีชีวิตที่มีความสุขตลอดปี 2568
สองสัปดาห์ที่ผ่านมา แฟนคอลัมน์หลายคนถามผมว่า ผมมองเศรษฐกิจปีหน้าอย่างไร จะดีขึ้นหรือแย่กว่าปีนี้ ทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ซึ่งเรื่องนี้ผมมีความเห็นของผมเองอยู่เสมอ วันนี้จึงขอให้ความเห็นเรื่องนี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น โดยบทความวันนี้ขอเริ่มที่ “เศรษฐกิจโลก”
เศรษฐกิจโลกปี 2024 ต้องบอกว่าผิดหวัง เพราะหลายอย่างหรือทุกอย่างออกมาตํ่ากว่าคาดหรือตํ่ากว่าที่ควรจะเป็น การขยายตัวของเศรษฐกิจอ่อนแอ ทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นผลโดยตรงจากภูมิรัฐศาสตร์ที่ดิสรัปเศรษฐกิจโลกทั้งเรื่องสงคราม ต้นทุนการผลิต ความแตกแยกทางเศรษฐกิจ และมาตรการกีดกันทางการค้า
นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยที่สูง การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ช้า และความผันผวนในตลาดการเงินที่เกิดขึ้นตามมาก็ลดทอนโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจ เราจึงเห็นประเทศหลักๆ ในเศรษฐกิจโลกขณะนี้ยกเว้นสหรัฐ อ่อนแอ ไม่ว่าจีน ญี่ปุ่นและประเทศระดับนําในยุโรป เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ ปีที่แล้วเศรษฐกิจโลกขยายตัวร้อยละ 3.1 โดยประเทศอุตสาหกรรมรวมสหรัฐขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8
เท่าที่ประเมิน 2025 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกที่อ่อนแออยู่แล้ว ยิ่งจะถูกซ้ำเติมด้วยความไม่แน่นอนที่จะมีมากขึ้นในปีหน้า ทั้งความไม่แน่นอนในนโยบายของประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐ ที่จะส่งผลกระทบกว้างขวางต่อเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนในนโยบายหรือพัฒนาการที่โยงกับภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจลดหรือสร้างดิสรัปชันมากขึ้นให้กับเศรษฐกิจโลก นี่คือความไม่แน่นอนที่เราจะเจอในปีหน้า ที่ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
โดยธรรมชาติ เมื่อความไม่แน่นอนมีมาก เศรษฐกิจก็จะชะงักหรือเดินหน้าช้าลง เหมือนตอนที่เราเดินเข้าไปในห้องมืด ก็จะระวัง ค่อยๆก้าว เศรษฐกิจก็เช่นกัน ขณะที่ตลาดการเงินโลกก็จะผันผวน เพราะนักลงทุนไม่ชอบความไม่แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้น 2025 จะเป็นปีที่ความไม่แน่นอนมีมากและจะกระทบทั้งเศรษฐกิจและตลาดการเงิน นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า
ความไม่แน่นอนที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะเจอมากในปีหน้าคือ ความไม่แน่นอนในนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐ หลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 ม.ค. ที่คาดว่าจะเร่งนโยบายต่างๆที่ได้ประกาศไว้ตอนหาเสียงให้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีการนำไปปฏิบัติจริง คือทําตามสัญญา เช่น นโยบายส่งกลับผู้เข้าประเทศสหรัฐอย่างผิดกฎหมาย นโยบายที่จะยุติสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนและการสู้รบระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส และนโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้า
นโยบายเหล่านี้จะส่งผลกระทบอย่างมากทั้งต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนคือ นโยบายเหล่านี้จะนํามาปฏิบัติอย่างไร จริงจังแค่ไหน จะทําได้หรือไม่ และผลกระทบที่ตามมาจะเป็นอย่างไร ทั้งหมดคือความไม่แน่นอนที่ทั่วโลกกําลังรอความชัดเจน ตัวอย่างเช่น
หนึ่ง นโยบายส่งกลับผู้เข้าสหรัฐอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นนโยบายที่ช่วยให้ทรัมป์ชนะเลือกตั้งเพราะได้ใจประชาชนชั้นล่างในสหรัฐที่ตกงานหรือยังไม่มีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว คําถามคือรัฐบาลทรัมป์จะขับเคลื่อนนโยบายนี้อย่างไร เพราะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ทั้งที่ลักลอบเข้าประเทศหรืออยู่เลยเวลาที่วีซ่ากําหนด รวมถึงผู้อพยพลี้ภัยที่มาถึงสหรัฐและตกค้าง ทั้งหมดมีกว่า 13 ล้านคน หรือ 4% ของประชากรสหรัฐ
คนเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งมาอยู่ แต่ส่วนใหญ่อยู่มานาน คือมากกว่าครึ่งอยู่ในสหรัฐมาแล้วนานกว่าห้าปี มีครอบครัว ทำงาน และเสียภาษีให้รัฐบาลสหรัฐ คําถามคือรัฐบาลสหรัฐจะส่งคนเหล่านี้กลับอย่างไร จะส่งกลับครั้งเดียว 13 ล้านคน หรือจะทยอยส่งเช่นปีละหนึ่งล้านคน และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นรัฐบาลจะเอาเงินจากไหนมาจ่าย เพราะประเมินว่าจะมากถึง 315 พันล้านดอลลาร์กรณีส่งกลับครั้งเดียว 13 ล้านคน หรือ ปีละ 88 พันล้านดอลลาร์ กรณีส่งกลับปีละหนึ่งล้านคน ซึ่งจะต้องทําต่อเนื่องมากกว่าสิบปี
ที่สําคัญการส่งคนกลับจะมีผลระยะสั้นรุนแรงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แรงงานในภาคบริการ เกษตร และก่อสร้างจะหายไป ค่าจ้างจะสูงขึ้น เงินเฟ้อจะเพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจะขาดรายได้จากภาษี สิ่งเหล่านี้จะลดการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งอาจมากถึงร้อยละ 4-7 ต่อปีจากกรณีปกติ และถ้าเศรษฐกิจสหรัฐชะลอรุนแรง ก็จะดึงเศรษฐกิจโลกให้ชะงักงันตามไปด้วย นี่คือความไม่แน่นอน
สอง นโยบายขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านําเข้าจากทุกประเทศ ซึ่งอัตราภาษีจะมากเป็นพิเศษสำหรับสินค้าจากประเทศจีน และจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เม็กซิโก และ แคนาดา เพื่อลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐ นโยบายนี้ทรัมป์ใช้มานานตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกและมาจากความเป็นความนักธุรกิจของทรัมป์ที่มองประเทศเหมือนบริษัท มองการขาดดุลการค้าของประเทศเหมือนบริษัทขาดทุนที่ต้องแก้โดยการขึ้นราคาคือขึ้นภาษี ไม่ได้มองว่าการขาดดุลมาจากการใช้จ่ายเกินตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่กู้ยืมเงินมากทําให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตดี แต่ก็เป็นหนี้มาก โดยเฉพาะหนี้ภาครัฐ
การขึ้นภาษีนําเข้าของสหรัฐ คือการขึ้นภาษีกับเศรษฐกิจทั่วโลก ทําให้หลายประเทศจะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐเช่นกัน ผลคือการค้าโลกจะชะลอ เศรษฐกิจโลกจะชะลอ และอัตราเงินเฟ้อในโลกจะเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจสหรัฐก็จะถูกกระทบ ผู้บริโภคในสหรัฐจะซื้อของแพงขึ้น อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐสูงขึ้น กดดันให้ค่าจ้างปรับสูงขึ้น ผลคือผู้ผลิตในสหรัฐจะมีต้นทุนแพงขึ้นในการทำธุรกิจ ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสหรัฐลดลง กระทบการส่งออกและค่าเงินสหรัฐ
ที่สําคัญ อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐที่จะเพิ่มสูงขึ้นในปีหน้า ทั้งจากนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านําเข้า การส่งกลับผู้เข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึง มาตรการลดภาษีเงินได้และกระตุ้นการใช้จ่ายอื่นๆที่รัฐบาลทรัมป์ได้ประกาศว่าจะทํา จะทําให้ธนาคารกลางสหรัฐคงต้องชะลอการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อดูแลการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ยืนในระดับสูงนานจะไม่ดีต่อเศรษฐกิจ ไม่ดีต่อราคาสินทรัพย์ และไม่ดีต่อภาระการชําระดอกเบี้ยของภาครัฐและภาคธุรกิจ ทั้งหมดเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการปรับตัวรุนแรงของราคาสินทรัพย์ และการกลับมาของภาวะเศรษฐกิจถดถอย
นี่คือสองตัวอย่างของความไม่แน่นอนที่จะมีมากขึ้นในปีหน้า ทําให้ภาคธุรกิจและนักลงทุนประเทศเราต้องระวังและควรติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะมาจากการปรับตัวของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงจากความไม่แน่นอนที่จะมีมากในปีหน้า
ยังมีเรื่องที่จะวิเคราะห์และให้ความเห็นอีกมาก แต่วันนี้ขอแค่นี้ก่อน สวัสดีปีใหม่