ประเด็นที่ต้องระวังในตลาดการเงินโลกปีนี้
ภาวะตลาดการเงินโลกปีนี้ ทําให้นักลงทุนขาใหญ่จํานวนมากนั่งไม่ติด เพราะตลาดหุ้นสหรัฐตอนนี้ร้อนแรงและอาจอยู่ในระดับที่เกินปัจจัยพื้นฐาน ราคาหุ้นสหรัฐปรับขึ้นร้อยละ 23 ปีที่แล้ว คําถามคือ ตลาดจะไปต่อหรือจะปรับตัวรุนแรงปีนี้ เป็นคําถามที่ทุกคนอยากได้คำตอบ เพราะมีความเป็นไปได้ทั้งสองทาง วันนี้จึงอยากให้ความเห็นเรื่องนี้ รวมถึงพูดถึงสามประเด็นที่นักลงทุนควรติดตาม เพื่อให้ประเมินได้ว่าตลาดการเงินโลกปีนี้จะไปทางไหน นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
เมื่อพูดถึงตลาดการเงินโลก นักลงทุนจะนึกถึงตลาดสหรัฐเป็นส่วนใหญ่เพราะตลาดการเงินสหรัฐใหญ่มาก มูลค่าสินทรัพย์ในตลาดหุ้นสหรัฐคิดเป็นร้อยละ 60 ของตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่ตลาดพันธบัตรสหรัฐก็ใหญ่สุด มูลค่าตลาดประมาณร้อยละ 40 ของตลาดพันธบัตรโลก ตลาดการเงินสหรัฐจึงมีอิทธิพลมาก ทั้งชี้นําทิศทางการเคลื่อนไหวและบางครั้งก็ครอบงำตลาดการเงินโลก
ปีที่แล้ว ตลาดการเงินสหรัฐบูม ตลาดหุ้นวัดจากดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 และถ้าย้อนกลับไปปี 2009 คือ หลังวิกฤติแฮมเบอเกอร์ ตลาดหุ้นสหรัฐปรับขึ้นไปแล้วกว่า 300% ปีที่แล้ว
การปรับขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐ เป็นผลจาก
1.ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐที่เติบโตดีกว่าประเทศอุตสาหกรรมอื่นๆ ขับเคลื่อนโดย วงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่สมัยโควิด ที่ประชาชนนําเงินเหล่านี้ออกมาใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและลงทุนในตลาดหุ้น ภาคธุรกิจขยายการลงทุนเพราะภาคการผลิตในสหรัฐปรับตัวมากหลังโควิด โดยเฉพาะด้านดิจิทัลเทคโนโลยีและเอไอ ส่งผลให้ผลิตภาพของเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มสูงขึ้น และการจ้างงานในสหรัฐที่ขยายตัวทำให้ค่าจ้างแท้จริงปรับสูงขึ้น ให้ผลทางบวกต่ออำนาจซื้อของประชาชน
2.การไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างประเทศ จากที่เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตดีกว่าประเทศอื่นๆ อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็สูงกว่า รวมถึงความเชื่อมั่นต่อการดําเนินนโยบายการเงินในสหรัฐ เงินทุนไหลเข้าเหล่านี้คือสภาพคล่องที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดหุ้นสหรัฐ
3.อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐที่สร้างโมเมนตั้มสนับสนุนการเติบโตของตลาดหุ้นสหรัฐ ขณะที่ราคาหุ้นที่สูงขึ้นก็กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้จ่ายมากขึ้น และลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้นเช่นกัน
นี่คือสามปัจจัยที่ขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐปีที่แล้ว เห็นได้ว่าปัจจัยขับเคลื่อนมีทั้งพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งขึ้นของสหรัฐ โดยเฉพาะผลิตภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้นหรือ Productivity growth เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศที่หาประโยชน์จากผลตอบแทนการลงทุนในสหรัฐที่สูงกว่าที่อื่น (Search for yield) และ อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงจากอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐที่ลดลง ทั้งสามปัจจัยเกี่ยวข้องกันและเกิดขึ้นพร้อมกันในสหรัฐ ทําให้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นสหรัฐแตกต่างจากที่อื่น
สําหรับปีนี้คําถามคือ ปัจจัยเหล่านี้จะยังมีอยู่หรือไม่ที่จะขับเคลื่อนตลาดหุ้นสหรัฐในปีนี้ และถ้าตลาดหุ้นสหรัฐจะปรับตัวรุนแรงอย่างที่หลายคนเป็นห่วง อะไรจะจุดชนวนหรือเป็นตัว Trigger
เท่าที่ประเมิน นโยบายเศรษฐกิจสหรัฐภายใต้รัฐบาลใหม่ คือ ทรัมป์ 2.0 จะให้ความสําคัญกับการเติบโตของเศรษฐกิจ คือ Pro-growth ทั้งด้วยการลดภาษี ผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆให้กลไกตลาดทํางานคล่องตัวมากขึ้น โดยเฉพาะภาคการเงิน ดูแลการมีงานทําของประชาชนโดยส่งกลับผู้เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ปกป้องภาคอุตสาหกรรมสหรัฐโดยขึ้นภาษีสินค้านําเข้า และปรับปรุงประสิทธิภาพระบบราชการ ซึ่งแม้ยังไม่ชัดเจนว่านโยบายเหล่านี้จะมีการนํามาปฏิบัติอย่างไรและจริงจังแค่ไหน แต่ในภาพรวม ผลระยะสั้นของนโยบายเหล่านี้ต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินจะเป็นบวก คือ เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องในปีนี้ ขณะที่ตลาดการเงิน โดยเฉพาะตลาดหุ้น ก็จะปรับสูงขึ้นได้ต่อ แม้ดัชนีจะอยู่ในระดับสูงมากและอาจเกินปัจจัยพื้นฐาน นี่คือภาพเศรษฐกิจและตลาดการเงินสหรัฐที่เราจะเห็นอย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกปีนี้
แต่หลังจากนั้น ความเปราะบางในเสถียรภาพเศรษฐกิจ จะปรากฏให้เห็นในรูปของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่เพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การกลับมาของอัตราเงินเฟ้อจะเป็นผลทั้งจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว การเพิ่มภาษีสินค้านําเข้าที่ถูกส่งผ่านสู่ผู้บริโภคในรูปของราคาสินค้าในประเทศที่แพงขึ้น และค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้นจากการส่งกลับแรงงานผิดกฎหมาย อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทําให้ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดต้องมีแอ็กชัน คืออาจชะลอการลดดอกเบี้ยหรือต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อ แล้วแต่กรณี
ในความเห็นของผม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐจะเป็นตัวจุดชนวนหรือ Trigger ให้ตลาดหุ้นสหรัฐปีนี้ปรับตัวรุนแรง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจะดึงให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับลงตามและอัตราดอกเบี้ยถ้าปรับขึ้นก็จะส่งผลทางลบต่อเศรษฐกิจ นํามาสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก พร้อมเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลต่อความสามารถในการชำระหนี้จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น นี่คือตัวที่จะเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจและการเงินโลกปีนี้
ดังนั้น สามเรื่องที่ต้องติดตามเพื่อประเมินจุดเปลี่ยนหรือ Turning point ของตลาดการเงินโลกปีนี้ว่าจะมีหรือไม่และอยู่ตรงไหนคือ 1.ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐและรายละเอียดเพื่อประเมินทิศทางอัตราเงินเฟ้อในอนาคต 2.แถลงการณ์หรือคําสัมภาษณ์ของประธานหรือกรรมการเฟดเพื่อประเมินความห่วงใยของเฟดต่อเงินเฟ้อและท่าทีในการปรับอัตราดอกเบี้ย 3.การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น เพื่อประเมินผลตอบรับของตลาดการเงินต่อการขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมาเยนเป็นสกุลเงินที่ทั่วโลกใช้กู้ยืมทั้งเพื่อลงทุนและเก็งกําไร คือเป็น funding currency จากที่อัตราดอกเบี้ยเงินเยนต่ำมาก ถ้าอัตราดอกเบี้ยเงินเยนสูงขึ้น ตลาดการเงินโลกก็จะปรับตัวมากเช่นกัน