เราจะเห็นอะไรในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ 2.0

เราจะเห็นอะไรในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ 2.0

การกลับคืนสู่ทำเนียบขาวเป็นสมัยที่สองของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างทั้งความตื่นเต้นและความห่วงใยให้กับตลาดการเงินโลก

เห็นได้จากการตอบรับระยะสั้นของตลาดหุ้นต่อผลการเลือกตั้ง และความห่วงใยของนักวิเคราะห์เกี่ยวกับนโยบายและความเป็นไปได้ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ในฐานะผู้นำโลก

สิ่งที่ทุกคนอยากรู้คือ บทบาท และนโยบายของสหรัฐภายใต้โดนัลด์ ทรัมป์สมัยที่สองจะเป็นอย่างไร นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

มีแฟนคอลัมน์ถามผมว่าแปลกใจหรือไม่กับผลการเลือกตั้งสหรัฐที่ออกมา ซึ่งสำหรับผมมีทั้งแปลกใจและไม่แปลกใจ ที่ไม่แปลกใจคือโดนัลด์ ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เพราะผลโพลก่อนการเลือกตั้งชี้คะเเนนนิยมที่สูสีกันมากระหว่างทรัมป์กับ คามาลา แฮร์ริส แบบใครชนะก็ได้

แต่ที่แปลกใจคือผลที่ออกมาจริงที่ทรัมป์ชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นทุกสนาม ทั้งจํานวนคณะเลือกตั้ง (Electoral college) คะเเนนเสียงที่ประชาชนลงให้ (Popular vote) และชัยชนะของพรรครีพับลิกันในสภาสูงสหรัฐ

ทําให้ทรัมป์และพรรครีพับลิกันจะควบคุมการทํานโยบาย การออกกฎหมาย และการบริหารประเทศได้แบบเบ็ดเสร็จ เป็นชัยชนะที่ทรัมป์พูดเองว่า แสดงถึงอาณัตหรือใบสั่งการที่เข้มแข็งจากประชาชนอเมริกัน

คําถามคือทําไมทรัมป์ชนะแฮร์ริสได้อย่างผิดคาดขนาดนี้

ในความเห็นผม ผลเลือกตั้งคราวนี้ยืนยันหลายอย่างที่เราทราบกันดีเกี่ยวกับการเมืองสหรัฐ อย่างแรก เศรษฐกิจคือปัจจัยตัดสินผลการเลือกตั้งและคราวนี้ก็เช่นกัน

ผมเขียนเรื่องนี้ในคอลัมน์นี้เมื่อสามอาทิตย์ที่แล้วชี้ว่า แม้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐจะดูดี แต่ประชาชนส่วนใหญ่รู้สึกตรงข้าม คือรู้สึกว่าความเป็นอยู่แย่ลงจากค่าครองชีพที่แพงขึ้น เงินเฟ้อที่สูง และภาระผ่อนบ้านที่เพิ่มมากขึ้น เป็นช่องว่างระหว่างตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีกับความรู้สึกของประชาชนที่แย่ที่เทคะแนนเสียงไปให้ทรัมป์

อีกเรื่องที่ชัดคือ รัฐผันแปรหรือ swing states คือตัวตัดสินการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจริงๆ และคราวนี้ก็เช่นกัน

ในคราวแรกที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งปี 2016 ก็ชนะใน 6 จาก 7 รัฐผันแปร คราวที่แล้วปี 2020 ที่แพ้โจ ไบเดินก็แพ้ใน 6 จาก 7 รัฐผันแปร และคราวนี้ที่ชนะก็มาพร้อมชัยชนะในรัฐผันแปร อย่างน้อย 3 ใน 7 รัฐที่ประกาศผลแล้วคือ วิสคอนซิน เพนซิลเวเนีย และจอร์เจีย

ท้ายสุดคือการเลือกตั้งตอกย้ำว่า คําหาเสียงที่ง่ายชัดเจนจะได้ใจประชาชน ซึ่งคราวนี้ก็คือ Trump will fix it หรือทรัมป์จะแก้เอง

 ต่อคำถามว่า เราจะเห็นอะไรกับการกลับมาของทรัมป์ในรอบสองในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐในรอบสองนี้

ผมคิดว่า นโยบายต่างๆ ที่จะออกมาจากรัฐบาลสหรัฐหลังทรัมป์เข้ารับตําแหน่งประธานาธิบดีเดือนมกราคม จะเป็นพลวัตของการผสมผสามสามปัจจัยที่จะเขียนเส้นใต้ความเป็นตัวตนของนักการเมืองสหรัฐชื่อ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่หลุดออกจากอํานาจสี่ปีที่แล้ว และสามารถกลับมามีอํานาจได้อีกเพื่อทําในสิ่งที่ตั้งใจไว้ให้สำเร็จ

สามปัจจัยนี้ ได้แก่

หนึ่ง อุดมการณ์พรรครีพับลิกันที่มากับนักการเมืองพรรครีพับลิกัน นั่นคือ นโยบายที่ต้องการเห็นภาครัฐของประเทศเล็กลง เป็นนโยบายที่ธุรกิจระดับบนต้องการ

หมายถึงลดการแทรกแซงและลดบทบาทภาครัฐในระบบเศรษฐกิจ โดยลดการกํากับและควบคุมเศรษฐกิจโดยหน่วยงานรัฐ ลดภาษีเพื่อให้ธุรกิจนํากําไรไปลงทุน และเพิ่มการลงทุนของภาครัฐเพื่อสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจ

ในการหาเสียง ทรัมป์พูดถึงแผนที่จะลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 21 เปอร์เซนต์เป็น 15 เปอร์เซนต์ ยืนอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลดไปแล้วให้ถาวร ไม่เก็บภาษีเงินประกันสังคม รายได้จากทิปและค่าล่วงเวลา

ส่วนการใช้จ่ายเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีป้องกันประเทศระดับสูง สิ่งเหล่านี้จะดีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ก็จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศยิ่งเพิ่มมากขึ้นและเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นปัญหาได้

ปัจจัยที่สองคือ นโยบายหาเสียงของทรัมป์ที่จะทําให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่ ที่ทรัมป์เมื่อรับทราบผลเลือกตั้งก็ยํ้าชัดว่า สัญญาที่ให้ไว้คือสัญญาที่จะทํา

นโยบายเหล่านี้ก็เช่น ส่งกลับผู้อพยพที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ลดภาษีในประเทศและขึ้นภาษีสินค้านําเข้าร้อยละ 10-20 และร้อยละ 60 สําหรับสินค้าจากจีน ลดกฎเกณฑ์เรื่องภาวะโลกร้อน ไม่ควบคุมหรือ ban การทําแท้ง และยุติสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน

ซึ่งหลายเรื่องที่ทําได้เร็วรัฐบาลคงรีบผลักดันหลังเข้ารับตําแหน่งเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลง ส่วนที่เหลือคงทําตามมาเพื่อให้เห็นว่าสหรัฐกําลังกลับมายิ่งใหญ่

ปัจจัยที่สามคือสไตล์ของประธานาธิบดีทรัมป์เองในการทํางาน ที่ทรัมป์มีสไตล์หรือวิธีการทํางานของเขาเองที่จะผลักดันสิ่งที่เขาต้องการให้เกิดขึ้น เป็นสไตล์ที่มาจากพื้นฐานความเป็นนักธุรกิจของเขาที่ตัดสินใจแบบ deal-making หรือทําดีลเป็นกรณีๆ ไป

มองประโยชน์ที่จะได้ในแต่ละเรื่องในรูปเม็ดเงินและผลประโยชน์มากกว่าหลักการ ชอบที่จะตกลงแบบตัวต่อตัวแบบธุรกิจ คือประเทศต่อประเทศเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ มากกว่าตกลงแบบพหุภาคีที่มีหลายประเทศเข้าร่วมที่มักจะช้าและไม่ได้ผล

อันนี้เห็นชัดในสมัยแรกของประธานาธิบดีทรัมป์ที่อเมริกาถอนตัวออกจากหลายเวทีโลก เช่น การค้าภูมิภาค และโลกร้อน

อีกสไตล์ที่จะเห็นคือความพร้อมที่จะใช้มาตรการแบบสุดๆ โดยไม่เกรงกลัวใคร (Bold measures) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ซึ่งคราวนี้จะทําได้ง่ายขึ้น เพราะการบริหารประเทศและการตรวจสอบกลั่นกรองของสภาสูงอยู่กับพรรครีพับลิกัน

นี่คือสามปัจจัยที่จะเปลี่ยนพลวัตของการทํานโยบายและบทบาทของสหรัฐอเมริกาในเวทีโลกสี่ปีข้างหน้า ซึ่งขณะนี้มีสองเรื่องที่ตลาดการเงินวิเคราะห์กันมากและเป็นคําถามที่ผมเองก็ถูกถามว่าจะออกมาอย่างไร คือ ภูมิรัฐศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศ

ในความเห็นผมสองเรื่องนี้เกี่ยวกัน การขึ้นกําแพงภาษีเป็นผลจากภูมิรัฐศาสตร์ที่ทําให้เศรษฐกิจโลกแตกแยก เริ่มจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนในรูปสงครามการค้าตั้งแต่สมัยทรัมป์ 1.0 ปี 2018

ซึ่งภายใต้ทรัมป์ 2.0 จะยิ่งรุนแรงขึ้น คาดได้ว่าภายใต้ทรัมป์ 2.0 สหรัฐคงพยายามยุติหรือตีกรอบความขัดแย้งในยุโรปและตะวันออกกลางไม่ให้ลุกลาม เพื่อสหรัฐจะให้เวลาได้เต็มที่กับการสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในโลก

เพราะอเมริกาไม่ได้มองจีนว่าเป็นมิตร ทำให้ประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยจะถูกกดดันมากขึ้นให้ต้องเลือกข้าง นี่คือสิ่งที่ผมห่วงใยมากสุดกับการกลับมาของทรัมป์ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐรอบที่สอง.

เราจะเห็นอะไรในยุคประธานาธิบดีทรัมป์ 2.0

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]