’นักวิชาการ‘ถอดรหัสชัยชนะ ’ทรัมป์‘ เตือนไทยรับความผันผวน-เสริมแกร่ง ศก.
“เกรียงศักดิ์”ชี้ ปรากฏการณ์ “ทรัมป์” คัมแบ็ค ส่งผลกระทบไทยแน่ ทั้งเศรษฐกิจ-การค้า-ภูมิรัฐศาสตร์ แนะ รัฐบาลรักษาสมดุลเป็นกลางความสัมพันธ์ สหรัฐ-จีนให้ดี เร่งสร้างศก.ภายในประเทศให้ยั่งยืน ลดการพึ่งพาต่างชาติ
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประธานสถาบันการสร้างชาติ(NBI) และประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) ให้สัมภาษณ์ถึงผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยโดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะ ว่าการกลับมาของทรัมป์อาจนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายที่ส่งผลกระทบถึงไทย ทั้งด้านการค้า การลงทุน และความสัมพันธ์ภูมิรัฐศาสตร์ ไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือ โดยพิจารณาขยายความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าอื่น ๆ และรักษาความสัมพันธ์ที่สมดุลเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
โดยการกลับมาชนะการเลือกตั้งของโดนัลด์ ทรัมป์ สะท้อนถึงการเรียกร้องของประชาชนในสหรัฐฯ ต่อความต้องการด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ ความเป็นมหาอำนาจ ความปลอดภัย และความมั่นคงของชาติ
ผมวิเคราะห์ว่าการคว้าชัยชนะของทรัมป์ประกอบด้วย 3 ประการหลัก ดังนี้
ประการที่ 1 นโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการจ้างงานในประเทศ โดยทรัมป์มีนโยบายที่มุ่งเน้นการสร้างงานในประเทศอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญที่เน้นดึงฐานการผลิตกลับมาในประเทศ
ประการที่ 2 แนวทางที่เน้นความปลอดภัยและปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ การลดบทบาทในการช่วยเหลือประเทศอื่น รวมถึงการจำกัดการเข้าเมืองเพื่อควบคุมแรงงานต่างชาติ
ประการที่ 3 ฐานเสียงที่ภักดี ทรัมป์ยืนหยัดเข้าสู่เส้นทาง “American First” ทำให้กลุ่มผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกลุ่มนี้ยังคงให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
เขาระบุด้วยว่า ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับไทย หลังการกลับมาดำรงตำแหน่งของทรัมป์ อาจมีผลกระทบต่อไทยในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และภูมิรัฐศาสตร์ โดยไทยควรจับตาอย่างใกล้ชิด 4 ประการดังที่ผมได้บรรยายและเขียนบทความไว้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง โดยประการแรก การค้าและเศรษฐกิจ นโยบายการค้าของทรัมป์
อาจส่งผลให้มีการปรับเปลี่ยนการนำเข้าสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ กระทบต่อสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปยังสหรัฐฯ
ประการที่ 2 การลงทุนจากสหรัฐฯ ในไทย ทรัมป์อาจส่งเสริมให้บริษัทสหรัฐฯ ที่ลงทุนในต่างประเทศกลับมาลงทุนในประเทศ หากสหรัฐฯ ออกมาตรการจูงใจที่แข็งแรง ก็อาจทำให้บริษัทที่เคยมีฐานการผลิตในไทยย้ายกลับไปตั้งฐานที่สหรัฐฯ
ส่วนประการที่ 3 ภูมิรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์กับจีน ทรัมป์อาจพยายามลดบทบาทของสหรัฐฯ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีท่าทีต่อจีนที่แข็งกร้าวมากขึ้น อาจเพิ่มแรงกดดันให้ไทยต้องพิจารณาเรื่องการรักษาความเป็นกลางในความสัมพันธ์กับทั้งสองฝ่าย
และประการที่ 4 ไทยต้องพึ่งพาการลงทุนจากคู่ค้าอื่นในการพัฒนาเทคโนโลยีสะอาด ทรัมป์มุ่งเน้นไปที่นโยบายพลังงานที่มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือมองข้ามมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยจะสูญเสียโอกาสสำคัญในการได้รับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสะอาดจากสหรัฐฯ
ทั้งนี้ ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ข้อควรจับตาและการเตรียมตัวของไทย การชนะการเลือกตั้งของทรัมป์สร้างแรงกระเพื่อมในระดับโลก ไทยควรเตรียมความพร้อมและมีกลยุทธ์รองรับเพื่อรักษาความแข็งแกร่งในด้านเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 3 ประการ ประการที่ 1 การปรับตัวทางการค้าและการลงทุน ไทยควรมีแผนกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดส่งออก โดยพยายามขยายความร่วมมือทางการค้ากับภูมิภาคอื่น เช่น อาเซียน สหภาพยุโรป และตลาดใหม่ เพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ที่อาจเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น
ส่วนประการที่ 2 สร้างความยั่งยืนเศรษฐกิจภายใน ไทยควรเสริมสร้างการพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาเทคโนโลยีและการลงทุนจากต่างชาติ การเพิ่มการวิจัยและพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว
และประการที่ 3 การทูตที่สมดุลและการประสานความสัมพันธ์ไทยควรรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสหรัฐฯ และจีน พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพื่อเสริมสร้างบทบาททางการทูตที่เป็นกลางในภูมิภาคไทยควรส่งเสริมบทบาทการเป็น “สะพานเชื่อม” เพื่อสร้างความมั่นใจในการประสานผลประโยชน์ร่วมกันและลดความตึงเครียดในภูมิภาค