‘ศุภวุฒิ’ ชี้ ‘ทรัมป์’มาโลกป่วน สะเทือนไทยทางตรง-ทางอ้อม เศรษฐกิจโต3%ยาก
เปิดมุมมอง “ศุภวุฒิ สายเชื้อ” จากการคว้าชัยของ “ทรัมป์” ชี้ความเสี่ยงโลกพุ่ง ระเบียบโลกป่วน เกิดสูญญากาศทั่วโลก จากนโยบายทรัมป์ ชี้กระทบไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ยากที่เศรษฐกิจไทยจะโตถึง3%ปีหน้า
การประกาศชัยชนะของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้าสู่ประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ครั้งนี้ ถือเป็นการประกาศชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่สำหรับทรัมป์ เพราะนอกจากครองเสียงข้างมาก ชนะได้เป็นประธานาธิบดีแล้ว
“พรรครีพับลิกัน” ยังสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาบนและและมีแนวโน้มว่าจะได้สภาล่าง (Republican Sweep) อีกด้วย จากการที่คนอเมริกันคาดหวังว่า “ทรัมป์”จะนำพา “อเมริกา”เข้าสู่ “ยุคทอง”อีกครั้ง!
ล่าสุด “กรุงเทพธุรกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทรกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ผ่านรายการ DEEP Talk
โดย “ศุภวุฒิ” ชี้ให้เห็นว่า ชัยชนะที่ได้มาของ “ทรัมป์”ครั้งนี้ ได้มาจากการคาดหวังของคน “อเมริกา” ที่คาดหวังว่า “ทรัมป์”ว่าจะนำพาสหรัฐเข้าสู่ยุค “เฟื่องฟู”ในระยะข้างหน้า ทำให้สหรัฐกลับมาเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ในสายตาโลกอีกครั้ง
เขามองว่า จุดสำคัญที่นำพาเขากลับมาชนะและนั่งในนำเนียบขาวอีกครั้ง หากย้อนดูในอดีต สมัยทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี สมัยนั้นเงินเฟ้อเฉลี่ยต่อปีอยู่เพียง 1.9% แตกต่างกับสมัย “โจ ไบเดน”เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 5% ทำให้คนสหรัฐฯอาจรู้สึกว่าของแพงมากขึ้น แม้รายได้จะเพิ่มขึ้นแต่ก็ไม่ทันกับการเติบโตของเงินเฟ้อที่พรวดขึ้นอย่างรวดเร็ว
ไม่เพียงเท่านั้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี อยู่ที่ 2-3% ขณะที่ไบเดน กระชากขึ้นไป 4% ทำให้คนอเมริกัน สินค้าก็แพง บ้านก็ซื้อไม่ได้ นำไปสู่การตั้งคำถามว่าสหรัฐกำลังเผชิญปัญหาหรือไม่?
เขามองว่า การชนะของ “ทรัมป์”ครั้งนี้ ถือเป็นชัยชนะที่ขาดลอย เทียบกับทรัมป์สมัยที่เป็นประธานาธิบดีสมัยแรกในปี 2016 ซึ่งครั้งนี้ทรัมป์ครองเสียงข้างมากสภาบนและอาจได้เสียงส่วนใหญ่จากสภาล่างด้วยเช่นกัน ดังนั้นเสียงทางการเมืองของทรัมป์จะสูงสุดไม่มีใครกล้าค้านความต้องการของทรัมป์
ดังนั้นในภาพใหญ่ทรัมป์จะมีบารมีสูงสุด ฉะนั้นการจะผลักดันนโยบายต่างๆขึ้นอยู่กับทรัมป์จะถ่วงดุลผลประโยชน์กลุ่มต่างๆอย่างไร
ทรัมป์มากระทบมากกว่าภาพเศรษฐกิจ
การมาของทรัมป์ครั้งนี้ ควรจะมองให้มากกว่า “ภาพเศรษฐกิจ”ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะครั้งนี้ไม่ใช่ส่งผลเฉพาะเศรษฐกิจด้านเดียว แต่จะเป็นการเปลี่ยน “ระเบียบโลก” เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีผลใหญ่โตมหาศาลมาก จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของอเมริกาครั้งยิ่งใหญ่
ทั้งในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์ ในเชิงของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ในเชิงของเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว
“หากดูท่าทีของทรัมป์ อาจไม่ได้สนับสนุน “นาโต”ชัดเจนนัก ท่าทีทรัมป์อาจนำไปสู่การถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสด้านความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับระบบพหุภาคีเลย ไม่ว่าจะเป็นดับเบิลยูทีโอ หรือยูเอ็น หรือเรื่องอื่นๆดังนั้นในภาพเศรษฐกิจโดยรวม เขาไม่ต้องการให้อเมริกาไปพึ่งโลก และไม่ต้องการให้โลกพึ่งอเมริกา สะท้อนภาพที่เขาพูดบ่อยๆว่า Make America Great Again สหรัฐอยู่ได้ ด้วยตัวเองค่อนข้างมาก และควรอยู่ด้วยตัวเองด้วย”
เหล่านี้อาจหมายถึงว่า หลังจากนี้ หากจะตั้งกำลังการผลิตสินค้าใด ก็ต้องหันมาผลิตในสหรัฐไม่เช่นนั้นอาจถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น คนต่างชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฏหมายในสหรัฐ ต่างชาติที่เข้ามาผิดกฏหมายก็ไล่ออกไป เพราะอเมริกาอยู่ได้ด้วยตัวเอง ทำให้กระทบทั้งระบบ
โดยเฉพาะกระทบต่อการค้าเสรีที่มีอยู่ในประเทศในโลกปัจจุบัน เช่นการส่งเสริม globalization หรือโลกาภิวัตน์ ที่มีความเชื่อมโยงกันกับของเศรษฐกิจทั่วโลก
หลักๆคือการเอา อเมริกาเป็นที่ตั้ง แตกต่างจากอเมริกาหลังสงครามโลกที่สอง ที่เน้นต้องมาจัดระเบียบโลกเพื่อให้โลกปลอดภัยปลอดภัยทั้งสำหรับโลกและสำหรับอเมริกา แต่ครั้งนี้ไม่ใช่
ดังนั้นครั้งนี้อาจนำไปสู่การเกิด “สูญญากาศ”เกิดสุญญากาศในระเบียบโลก ฉะนั้นจะนำมาสู่ความไม่แน่นอน เกิดความเสี่ยงของระเบียบโลกที่จะเพิ่มขึ้น
นัยทางเศรษฐกิจ การประกาศของทรัมป์คือไม่ต้องการเห็นอเมริกาขาดดุลการค้ามาก หากขาดดุลจะมีการขึ้นภาษีศุลกากรจนกว่าจะหายขาดดุล ดังนั้นบางประเทศ หรือที่ขาดดุลจากจีนทุนปีละหลายแสนล้านดอลลาร์ จึงอาจนำไปสู่การเก็บภาษีจีนเพิ่มขึ้นเป็น 60% ขณะที่ประเทศอื่นๆที่ขาดดุลน้อย หรือประเทศที่เป็นมิตรอาจเก็บภาษีที่ราว 10-20%
การเก็บภาษีการค้าระหว่างประเทศ สะท้อนว่า “อเมริกา”อาจไม่ได้ต้องการทำการค้าระหว่างประเทศมากนัก แม้ขณะนี้จะไม่รู้ว่ามูลค่าความเสียหายจากการค้าโลก จากผลกระทบในการขึ้นกำแพงภาษี แต่หากดูสินค้านำเข้าของสหรัฐทั้งหมดอยู่ที่ 3.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่ามหาศาล
ดังนั้นต้องจับตาว่าใครจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งสำคัญของสหรัฐ เช่นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือผู้แทนการค้าหรือยูเอสทีอาร์ ที่จะเห็นภาพแนวทางต่างได้ชัดเจนมากขึ้น
แต่หนึ่งอย่างที่ชัดเจนคือ “ทรัมป์”จะมีบารมีทางการเมืองสูงมาก ฉะนั้นจะเป็นคนสั่งการได้ตามอำเภอใจ
“เทรดวอร์”รอบนี้ หนักกว่ารอบที่ผ่านๆมาอย่างแน่นอน เพราะครั้งนี้จะมากกว่าสงครามการค้า เพราะทรัมป์จะไม่สนใจระเบียบโลกที่มีอยู่ปัจจุบัน จะถอนอเมริกาออกไปมากกว่าสมัยไบเดนชัดเจนมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น การออกจาก ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) นาโต้ หรือในภูมิภาค ที่อาจยกฐานทัพของอเมริกาในเกาหลีใต้ในญี่ปุ่น การค้าเป็นแค่ส่วน หนึ่งของภาพใหญ่ที่จะทำให้สามารถลดทอนบทบาทของอเมริกาในเวทีโลก ส่วนเรื่องของการค้า หากประเทศใดถูกขึ้นภาษีการค้าภาษีศุลกากร มักจะมีแรงกดดันให้ประเทศนั้นๆต้องตอบโต้
ฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในอนาคต คือจะเกิดสงคราม การค้าขึ้นแม้ว่าอีกฝ่าย หนึ่ง ไม่ได้อยากจะตอบโต้ แต่สถานการณ์ก็ต้องพาไป ฉะนั้นต้องมีการตอบโต้กัน ดังนั้นแง่ผลกระทบจะค่อนข้างรุนแรงมากกับกับเศรษฐกิจโลก ในด้านการค้า
อย่างไรก็ตาม หากจีนเลือกตอบโต้ จากการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐ 60% โดยการปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่า เขามองว่า สถานการณ์จะยิ่งแย่ แพราะไม่ได้เป็นประโยชน์กับจีน ยิ่งทำให้เกิดการด้อยค่าของสินค้าจีน
ดังนั้นจีนคงไม่ทำ และหากจีนทำเช่นกัน โดยการปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่า เหมือนอดีตช่วง 10ปีก่อน ที่จีนประสบกับเงินหยวนอ่อนค่า จนส่งผลกระทบทำให้คนขนเงินออกนอกประเทศ เพราะกลัวค่าเงินมันอ่อนลงไปอีก จากปัญหาที่คุมค่าเงินไม่ได้ ฉะนั้นไม่คิดว่าจีนจะใช้นโยบายนี้
ครั้งนี้ มองว่าคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเจรจาทางการค้าร่วมกัน ไม่ว่าประเทศใด เพราะอเมริกาเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ปัญหาที่ยากคือ สหรัฐไม่อยากเจรจามากนัก เพราะเชื่อว่าการลดทอนการค้ากับประเทศอื่นๆเป็นสิ่งที่ดีสำหรับอเมริกา ที่เป็นปัญหาใหญ่
ส่วนความกังวลว่า หากจีนขายสินค้าให้สหรัฐไม่ได้ อาจยิ่งเข้ามาแข่งส่งสินค้าเข้าไทย วันนี้ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่เล็ก หากเทียบกับส่วนเกินที่จีนส่งสินค้าไปขายสหรัฐ ปีก่อนจีนทำการค้ากับสหรัฐ 280,000 ดอลลาร์ ขณะที่ส่งมาไทยเพียง แล้วจีนส่งสินค้ามาไท 70,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งจีนก็มีความพยายามกระจายสินค้าส่วนเกินไปประเทศอื่นๆมากขึ้นดังนั้นไทย และทุกประเทศโดนหางเลขหมด
อีกด้าน ปัญหา 'Geopolitics' ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทันที เพราะท่าทีของทรัมป์ชัดเจน โดยหากดูด้านสงครามจะเจรจาสงครามยูเครนต่างๆให้จบภายในหนึ่งวัน แต่หากอเมริกาไม่ช่วย ยุโรปที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว รัฐบาลเยอรมันเพิ่งล้ม ที่กำลังถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือนม.ค.ปีหน้า และต้องยุบสภา ต้องมีรัฐบาลใหม่ ฉะนั้นเยอรมันซึ่งเป็นประเทศหลักเลยของของยุโรป
ขณะที่ฝรั่งเศสก็แพ้การเลือกตั้งระดับสส. ทำให้การปกครองประเทศทำได้ยาก ดังนั้นประเทศหลักในยุโรปอ่อนแอหมด การฟื้นตัวยังมีปัญหา และยังมีปัญหาในการดูแลสงครามระหว่างประเทศ ที่อาจต้องสื่อสารกับประชาชนในการเข้าไปช่วยยูเครน เพราะหากไม่ช่วยก็อาจถูกรัสเซียบุกยึดเข้าไป ทำให้ยุโรปรู้สึกตัวเองปลอดภัยน้อยลง ดังนั้นสถานการณ์ยุโรปวันนี้แย่ลง
ขณะที่ตะวันออกกลาง ทรัมป์พูดชัดเจนว่าสนับสนุนอิสราเอล ที่จะเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในตะวันออกกลางให้เพิ่มขึ้น
หรือสถานการณ์ในไต้หวัน เพราะคิดว่ามีค่ากับอเมริกา เพราะผลิตเซมิคอนดักเตอร์หรือชิพที่ดีที่สุดในโลก แต่ทรัมป์ไม่เชื่อแบบนี้ เพราะคิดว่าต้นเหตุมาจากไต้หวันที่ทำให้สหรัฐไม่สามารถผลิตเซมิคอนดักเตอร์ได้ ฉะนั้น จีโอโพลิติก ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหมดทั่วโลก ที่จะทำให้ความเสี่ยงของโลกเพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจไทยโต3%ปีหน้ายาก
สุดท้ายแล้ว หากโยงกับมาที่ประเทศไทยเศรษฐกิจไทยภายใต้การมาของทรัมป์มองว่า เศรษฐกิจจะเผชิญสถานการณ์ที่ยากขึ้นในการพยายามที่จะพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย เพราะต้องยอมรับความจริงว่า การที่ทรัมป์เข้ามาไม่ได้เป็นผลบวก
เพราะในทางตรงอาจมีการเก็บภาษีสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐเพิ่มขึ้น และสินค้าที่ไทยส่งออกไปสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย ราว 48,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นจีดีพีราว 5-6แสนล้านดอลลาร์(ขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน)
ดังนั้นการส่งออกไปสหรัฐประเทศเดียวคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 10% ของจีดีพีประเทศไทย
ผลกระทบนี้ถือว่าใหญ่มาก ที่เป็นผลกระทบโดยตรง ขณะที่ผลกระทบโดยอ้อมก็มีค่อนข้างมาก เพราะการค้าจะหดหายลงไป จากนโยบายของทรัมป์ เพราะอเมริกาเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำให้ไทยหรือประเทศอื่นๆ ส่งออกไปอเมริกายากขึ้น ทำให้ประเทศต่างๆมีกำลังซื้อสินค้าเราน้อยลง ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรืออียูที่จะถูกกระทบเช่นกัน
การขับเคลื่อน “ส่งออก”ของไทยปี 2568 ที่หวังว่าจะเติบโตได้ 3-4% อาจไปไม่ถึงหรือไม่ จากปีนี้ที่คาดว่าส่งออกจะเติบโตได้ราว 2.5-2.8% ส่วนจีโอลิติคอลริส ประเมินยาก แม้จะมองว่าจะเกิดสุญญากาศขึ้นในภูมิภาคนี้ ซึ่งมองว่าอาจกระทบไม่มาก เพราะไทยเอง มีความสัมพันธ์อันดีทั้งกับจีนและอเมริกา