เงินสมทบประกันสังคม 5% คุณมีสิทธิใช้ได้เท่าไหร่ อะไรบ้าง
ประกันสังคม ผู้ประกันตน ม.33 ถูกหักเงินสมทบประกันสังคม 5% สมทบกองทุนประกันสังคม สูงสุดไม่เกินเดือนละ 750 บาทเงินก้อนนี้แบ่งอย่างไร เอาไปทำอะไรบ้าง และผู้ประกันตนจะใช้สิทธิประโยน์จากเงินก้อนนี้อย่างไร?
ตามปกติเมื่อนายจ้างรับพนักงานเข้าทำงานประจำ จะต้องไปขึ้นทะเบียนลูกจ้างกับประกันสังคมภายใน 30 วัน หลังจากรับเข้าเป็นพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานรายวันหรือรายเดือน โดยนายจ้างและลูกจ้างมีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม 5% จากฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท และมีรัฐบาลสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง
โดยผู้ประกันตนลักษณะนี้จัดอยู่ในกลุ่มผู้ประกันตน ม.33 ซึ่งการนำส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม จะคำนวณจากฐานค่าจ้างต่ำสุดคือ 1,650 บาท เท่ากับว่าผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบ 83 บาท (1,650 x 5%) และมีฐานค่าจ้างสูงสุดที่นำมาคำนวณ คือ 15,000 บาท
เช่น เงินเดือน 18,000 บาท ต้องส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 5% เท่ากับว่าจะมีเงินส่งเข้าสมทบกองทุนประกันสังคม 750 บาท (15,000 x 5%) นั่นเอง
และหลังจากที่ผู้ประกันตน นายจ้างส่งเงินสมทบทุน 5% ไปแล้ว รวมถึงรัฐบาลสมทบเงินให้อีกส่วนหนึ่ง สิทธิประโยชน์ที่เราสามารถใช้ได้ จะถูกแบ่งไปอยู่ในส่วนไหนบ้าง และสามารถใช้ได้มากน้อยแค่ไหน สามารถอธิบายแบ่งตามสัดส่วน 5% ที่จ่ายไปได้ดังนี้
1.เจ็บป่วย 1.06%
สำหรับ 5% ที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไปนั้น ทางประกันสังคมจะแบ่งเงินสมทบไว้สำหรับดูแลในเรื่องการเจ็บป่วย ในอัตรา 1.06% (ผู้ประกันตน) และ 1.06% (นายจ้าง) โดยสามารถเข้ารับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมในกรณีเจ็บป่วยได้ เช่น
- บาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุที่ไม่ใช่จาการทำงาน รักษาฟรีที่โรงพยาบาลตามสิทธิและรับเงินทดแทนขาดรายได้ 50% ของค่าจ้างรายเดือน
- บาดเจ็บหรือเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน รักษาฟรีที่โรงพยาบาลในความตกลง และรับเงินทดแทนขาดรายได้ 70% ของค่าจ้างรายเดือน
2.คลอดบุตร 0.23%
สำหรับ 5% ที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไปนั้น ทางประกันสังคมจะแบ่งเงินสมทบไว้สำหรับดูแลในเรื่องการคลอดบุตร ในอัตรา 0.23% (ผู้ประกันตน) และ 0.23% (นายจ้าง) โดยสามารถเข้ารับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมในกรณีคลอดบุตรได้ดังนี้
- ค่าตรวจและฝากครรภ์ จำนวน 5 ครั้ง มูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท
- ค่าคลอดบุตรที่โรงพยาบาลใดก็ได้ เหมาจ่าย 15,000 บาท
- เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นเวลา 90 วัน (เบิกได้ไม่เกิน 2 ครั้ง)
3.ทุพพลภาพ 0.13%
สำหรับ 5% ที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไปนั้น ทางประกันสังคมจะแบ่งเงินสมทบไว้สำหรับดูแลในเรื่องทุพพลภาพ ในอัตรา 0.23% (ผู้ประกันตน) และ 0.23% (นายจ้าง) โดยสามารถเข้ารับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมในกรณีทุพพลภาพ ได้ดังนี้
- ความสูญเสียรุนแรงเกินร้อยละ 50 รับเงินทดแทนรายเดือนตลอดชีวิต อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง
- ความสูญเสียไม่รุนแรง ตั้งแต่ร้อยละ 35 - 49 รับเงินทดแทนรายเดือน อัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 เดือน
4.เสียชีวิต 0.08%
สำหรับ 5% ที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไปนั้น ทางประกันสังคมจะแบ่งเงินสมทบไว้สำหรับดูแลในเรื่องเสียชีวิต ในอัตรา 0.08% (ผู้ประกันตน) และ 0.08% (นายจ้าง) โดยสามารถเข้ารับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมในกรณีเสียชีวิต ได้ดังนี้
- ค่าทำศพ รับเงิน 50,000 บาท ทุกกรณี
- เงินสงเคราะห์การตาย จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน
- เงินสงเคราะห์การตาย จ่ายเงินสมทบ 120 เดือนขึ้นไป รับเงินในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน
5.สงเคราะห์บุตรและชราภาพ 3.00%
สำหรับ 5% ที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไปนั้น ทางประกันสังคมจะแบ่งเงินสมทบไว้สำหรับดูแลในเรื่องสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ในอัตรา 3.00% (ผู้ประกันตน) และ 3.00% (นายจ้าง) โดยสามารถเข้ารับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมในกรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ ได้ดังนี้
5.1 สงเคราะห์บุตร
หากผู้ประกันตนมีบุตรจะได้รับเงินสงเคราะห์บุตรเดือนละ 800 บาท/บุตร 1 คน ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี และกำลังจะปรับขึ้นเป็น 1,000 บาท/บุตร 1 คน ในปี’68 ได้สูงสุดคราวละไม่เกิน 3 คน ทั้งนี้ กรณีที่บิดาและมารดาเป็นผู้ประกันตนให้ใช้สิทธิได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
5.2 ชราภาพ
- กรณีรับเงินบำเหน็จ จ่ายเงินสมทบต่ำกว่า 12 เดือน จะได้รับเงินกรณีชราภาพในส่วนของผู้ประกันตนเพียงฝ่ายเดียว
- กรณีรับเงินบำเหน็จ จ่ายเงินสมทบตั้งแต่ 12 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเงินกรณีชราภาพในส่วนของผู้ประกันตน รวมกับเงินสมทบในส่วนของนายจ้าง และผลประโยชน์ตอบแทน
- กรณีรับเงินบำนาญ จ่ายเงินสมทบครบ 180 เดือน รับเงินบำนาญ 20% ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย (จ่ายเป็นรายเดือนตลอดชีวิต)
- กรณีรับเงินบำนาญ จ่ายเงินสมทบมากกว่า 180 เดือน ปรับเพิ่มอัตราเงินบำนาญชราภาพร้อยละ 1.5 / ระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบครบทุก 12 เดือน
6.ว่างงาน 0.50%
สำหรับ 5% ที่ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบไปนั้น ทางประกันสังคมจะแบ่งเงินสมทบไว้สำหรับดูแลในเรื่องว่างงาน ในอัตรา 3.00% (ผู้ประกันตน) และ 3.00% (นายจ้าง) โดยสามารถเข้ารับสิทธิประโยชน์จากประกันสังคมในกรณีว่างงาน ได้ดังนี้
- ลาออก / สิ้นสุดสัญญาจ้าง จะได้รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน
- ถูกเลิกจ้าง รับเงินทดแทนในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 180 วัน
สรุป : ผู้ประกันตน ม.33 สมทบเงิน 5% ได้สิทธิครบทุกด้าน
เมื่อมาถึงตรงนี้อาจพอทราบแล้วว่า ผู้ประกันตน ม.33 ที่ได้ส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม 5% ไปในแต่ละเดือน ประกันสังคมแบ่งไว้ดูแลผู้ประกันตนในส่วนไหน สัดส่วนเท่าไหร่บ้าง และผู้ประกันตนจะใช้สิทธิประโยน์นี้ได้อย่างไรบ้าง
ดังนั้น เมื่อคุณเข้าสู่การเป็นผู้ประกันตน ม.33 แล้ว อย่าลืมตรวจเช็กความคุ้มครองที่จะได้รับจากประกันสังคมีให้ละเอียด เพื่อไม่ให้เสียสิทธิที่พึงได้รับไปโดยไม่รู้ตัวว่าสามารถเบิกได้ ซึ่งสามาถตรวจสอบความคุ้มครองทั้งหมดได้ที่สำนักงานประกันสังคม
อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting