'ผู้ประกันตน รักษามะเร็งได้ทุกรพ.' ที่มีความตกลงประกันสังคม เริ่มปี68

'ผู้ประกันตน รักษามะเร็งได้ทุกรพ.' ที่มีความตกลงประกันสังคม เริ่มปี68

บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบ เริ่มปี 68  ผู้ประกันตน รักษามะเร็งได้ทุกรพ.ทั้งรัฐ-เอกชนที่ทำความตกลงกับประกันสังคม ไม่เฉพาะรพ.ตามสิทธิเท่านั้น -เพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานจาก 50 % เป็น 60 % ของค่าจ้างรายวัน

นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า การประชุมคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2567 มีมติเห็นชอบใน 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.) แนวทางการปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน สำหรับการว่างงานเพราะเหตถูกเลิกจ้าง ให้มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเป็น 60 % ของค่าจ้างรายวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ได้ 50 % ของค่าจ้างรายวัน

2.) การรักษาพยาบาล เรื่องรักษามะเร็งได้ทุกโรงพยาบาล โดยผู้ประกันตนสามารถไปรักษาที่รพ.แห่งก็ได้ที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคมแล้วประกันสังคมจะตามไปจ่าย ไม่ต้องรักษาเฉพาะแต่รพ.ประกันสังคมตามสิทธิเท่านั้น

และ3.) การันตีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่า Adjusted RW(AdjRW) มากกว่า 2  ให้กับรพ.ที่เป็นคู่สัญญาในอัตรา 12,000 บาทต่อAdjRW ตลอดปี ซึ่งรพ.ที่เป็นคู่สัญญาเดิมมีความพึงพอใจต่อมติ และเมื่อออกประกาศเรื่องนี้ ก็จะมีการเซ็นต์สัญญาการเป็นรพ.ประกันสังคมสำหรับปี 2568เช่นเดิม

“เมื่อมติบอร์ดประกันสังคมออกมาแล้ว ก็จะมีการออกประกาศ และจะเริ่มให้สิทธิประโยชน์เหล่านี้ตั้งแต่ 1 ม.ค.2568 เป็นต้นไป เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของของขวัญปีใหม่ที่จะให้กับผู้ประกันตน”นายบุญสงค์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรคมะเร็งทุกชนิดเป็นโรคที่อยู่ในความคุ้มครองของสิทธิประกันสังคม ส่วนการเพิ่มสิทธิประโยชน์เรื่องการให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาโรคมะเร็งได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้นเมื่อราวกลางปี 2567 ได้ผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการการแพทย์ประกันสังคมก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของบอร์ดประกันสังคมและให้ความเห็นชอบดังกล่าว 

ส่งผลให้ผู้ประกันตนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งสามารถเข้ารับบริการยังสถานพยาบาลที่ไหนก็ได้ตามที่ประสงค์ ทั้งสถานพยาบาลรัฐและเอกชนที่ทำความตกลงกับสำนักงานประกันสังคม ที่มีศักยภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นไปตามมาตรฐานที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด โดยสำนักงานประกันสังคมจะทำการคัดเลือกสถานพยาบาลที่มีศักยภาพทั้งด้านการให้เคมีบำบัด หรือรังสีรักษา เป็นต้น เพื่อรองรับการดูแลผู้ประกันตนให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้เตรียมระบบแอพลิเคชัน ซึ่งให้บริการครบวงจรในการติดตามการรักษาและส่งต่อข้อมูล ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปดูรายชื่อสถานพยาบาลและมีช่องทางในการสื่อสาร ส่งต่อข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลตามสิทธิกับสถานพยาบาลที่ผู้ประกันตนประสงค์จะไปรักษา เป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ พร้อมกันนี้จะมีการกำกับติดตาม ประเมินผลการเข้าถึงบริการ และรายงานผลต่อคณะกรรมการการแพทย์

ทั้งนี้ หากดำเนินการออกประกาศแล้วเสร็จ สำนักงานประกันสังคมจะทำการประชาสัมพันธ์เพื่อแจ้งแนวทางการเข้ารับบริการและรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการให้ผู้ประกันตนทราบผ่านทาง sso.go.th
 

สำหรับการการันตีการจ่ายค่ารักษาในอัตรา 12,000 บาทต่อAdjRW ตลอดปีนั้น เป็นผลสืบเนื่องมาจาก กรณีที่ รพ.เอกชน ที่เป็น คู่สัญญา ประกันสังคม มีการลงชื่อแล้ว 70 แห่ง จ่อถอนตัวออกจากประกันสังคม หากไม่มีการปรับอัตราค่าบริการ เนื่องจากบางส่วนไม่มีการปรับเพิ่มมา 5 ปี และบางรายการเงินลดในช่วงปลายปีนั้น โดยเฉพาะในส่วนค่ารักษาพยาบาลสำหรับโรคที่มีค่า Adjusted RW มากกว่า 2 ที่ปรับลดช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565-2566

    ต่อมาคณะกรรมการการแพทย์ ประกันสังคม ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการทบทวนหลักเกณฑ์ และอัตราการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่สถานพยาบาลคู่สัญญาในระบบประกันสังคม (เฉพาะกิจ)เพื่อมาดำเนินการหาแนวทางแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 90วัน มีนพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล อดีตเลขาธิการประกันสังคม เป็นประธานอนุกรรมการฯ และก่อนหน้านี้มีการประชุมหารือมาแล้ว 2 ครั้งก่อนจะมีการประชุมเป็นครั้งที่ 3 เพื่อให้ได้ข้อสรุปเมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2567และเสนอเข้าสู่บอร์ดประกันสังคมเมื่อวันที่ 11 ธ.ค.2567