ตั้ง AMC รับซื้อหนี้ ยุคนายกฯ“แพทองธาร”

ตั้ง AMC รับซื้อหนี้ ยุคนายกฯ“แพทองธาร”

คงจำกันได้ว่าประเทศไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 มีหนี้เสียจำนวนมากในระบบสถาบันการเงิน โดยเฉพาะหนี้ที่เกิดจากภาคธุรกิจและอสังหาริมทรัพย์

รัฐบาล "พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ" ได้จัดตั้ง บริษัทบริหารสินทรัพย์  (Asset Management Company - AMC) ขึ้นมาเแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ จนถึงวันที่ 6 พ.ย.2540 จากนั้นได้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากแรงกดดันจากปัญหาเศรษฐกิจ ต่อมา "ชวน หลีกภัย" ได้เข้ามาบริหารประเทศตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2540 โดยใช้กลไก AMC แยกหนี้เสียออกจากงบดุลของสถาบันการเงิน เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ และลดผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ขณะเดียวกันรัฐบาลได้จัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (TAMC) และสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง AMC ภาคเอกชน เพื่อรับซื้อหนี้เสียของภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน โดย AMC จะมีวิธีการบริหารจัดการหนี้เสีย เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ การขายทอดตลาดทรัพย์สิน หรือการฟ้องร้องดำเนินคดี ช่วยให้ระบบสถาบันการเงินฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การขายทรัพย์สินในราคาต่ำและการเอื้อประโยชน์นักลงทุนบางกลุ่มในขณะนั้นด้วยเช่นกัน

หลักการสำคัญของ AMC ในอดีตคือการเป็นตัวกลางในการรับซื้อและบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงิน เพื่อลดความเสี่ยงในระบบการเงิน ฟื้นฟูสถานะของสถาบันการเงิน และแปลงสินทรัพย์ด้อยคุณภาพให้กลับมามีมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่การรับซื้อหรือรับโอนหนี้มักจะทำในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าตามบัญชี (Discounted Price) เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงและต้นทุนในการจัดการ 

ขณะที่แนวคิดการซื้อหนี้ของรัฐบาล “แพทองธาร ชินวัตร” ปี 2568 เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ว่าต้องการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ในระดับสูง โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของประชาชนทั่วไป เช่น หนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เป็นหนี้เสียให้สามารถลดภาระหนี้และมีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อในอนาคต  โดยรัฐบาลอาจตั้ง AMC หรือใช้กลไกอื่น ๆ เพื่อรับซื้อหนี้เสียจากสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ หรือการลดภาระหนี้ เน้นช่วยเหลือหนี้รายย่อยของประชาชนเป็นหลัก

 แม้ว่าจุดประสงค์ AMC ต้องการให้ประชาชนที่เป็นหนี้เสียได้รับประโยชน์มากที่สุด แต่ในทางปฏิบัติ อาจมีผู้ได้รับประโยชน์อื่น ๆ ด้วย เช่น สถาบันการเงิน หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดและวิธีการดำเนินงานของโครงการ เช่น แหล่งเงินทุน กลไกการซื้อหนี้ และมาตรการป้องกันปัญหา Moral Hazard หากลูกหนี้บางรายตั้งใจไม่ชำระหนี้ เพราะหวังว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือ อาจทำให้เกิดปัญหา Moral Hazard และส่งผลเสียต่อระบบการเงินในระยะยาว รัฐบาลจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจโดยรวม